เรื่องจริงผ้าอนามัย! ที่ผู้หญิงต้องแบกรับ จ่าย VAT หลักแสน ถึงเวลาหรือยัง #ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย

เรื่องจริงผ้าอนามัย! ที่ผู้หญิงต้องแบกรับ จ่าย VAT หลักแสน ถึงเวลาหรือยัง #ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย

  วิจารณ์เดือดบนโลกโซเชียล เมื่อราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสำอาง 

  ทำโลกออนไลน์วิจารณ์สนั่น หวั่นขึ้นภาษี ทั้งที่เป็นสินค้าจำเป็นของผู้หญิง แห่ติดแฮชแท็ก #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี พุ่งขึ้นอันดับ 1 ทวิตเตอร์ทันที 

  ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นว่า จริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ ผ้าอนามัยแบบสอดที่ไม่ควรเก็บภาษี ผ้าอนามัยชนิดอื่นก็เช่นเดียวกัน เพราะเป็นของจำเป็นสำหรับผู้หญิง ควรจะยกเลิกภาษีไปเลย เพื่อให้ผู้หญิงไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ 

  ความจริงที่หลายคนไม่รู้ ราคาของผ้าอนามัยที่ “แพง” สร้างผลกระทบให้ผู้หญิงหลายคน บางคนไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย จนตัดสินใจไม่ไปเรียนหนังสือ หรือไม่ร่วมกิจกรรมสังคม 

Advertisement

  ทั้งนี้ ที่ผ่านมา “กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)” ได้เข้ายื่นหนังสือถึง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร  

  ในหนังสือเรียกร้องอย่างท้าทาย คือ 1.ให้ยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม ในสินค้าจำพวกผ้าอนามัยทุกชนิด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ และคืนความเป็นธรรมให้สตรีทุกคนในประเทศไทย และ 2.ต้องมีการจัดหาผ้าอนามัยแจกในสถานศึกษา ระดับโรงเรียน เพราะเป็นวัยที่ยังไม่มีรายได้

Advertisement
  • ภาษีผ้าอนามัย ความเหลื่อมล้ำทางเพศ 

  ปภาณษิณ ปิ่นแก้ว หรือบุ๊ค หัวหน้ากลุ่มลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ มธ. เล่าว่า ผ้าอนามัยถือเป็นความเหลื่อมล้ำทางเพศอย่างหนึ่ง ลองคิดดูว่าเพศชายเกิดมาไม่มีประจำเดือน จึงไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องผ้าอนามัย ต่างจากเพศหญิงที่ต้องเสียเงินซื้อเป็นประจำ และยังเป็นสินค้าที่ถูกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7

ซึ่งหากนำมาคำนวณเบื้องต้น จะพบว่าผู้หญิงต้องเสียเงินเฉพาะในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม กับการซื้อผ้าอนามัย เป็นจำนวนเงินระหว่าง 6 หมื่นถึง 2 แสนบาทต่อคน ขณะที่ผู้ชายไม่ต้องเสียภาษีอะไร 

  “เวลาไปถามเรื่องนี้กับผู้ชายเทียบกับผู้หญิง จะเห็นความแตกต่างชัดเจน อย่างผู้ชายจะไม่รู้เรื่องอะไร แต่พอถามผู้หญิง ต่างอยากสะท้อนว่าผ้าอนามัยดีๆ ราคาแพงมาก”

  แต่ไม่ใช่กับนักศึกษาชายชั้นปีที่ 1 สาขาสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ.รายนี้ ภายหลังได้อ่านวิทยานิพนธ์ดีเด่นปี พ.ศ.2559 เรื่อง “หญิงชั่วในประวัติศาสตร์ไทย: การสร้างความเป็นหญิงโดยชนชั้นนำสยาม ช่วงต้นรัตนโกสินทร์-พ.ศ.2477” ผลงานของ วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล จากคณะศิลปศาสตร์ มธ. ได้ทำให้เขาเปิดโลกทัศน์อย่างมาก 

  กระทั่งในการเรียนรายวิชา TU100 หรือวิชาพลเมืองกับการลงมือแก้ปัญหา ที่มี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นผู้สอน ซึ่งนักศึกษาแต่ละคนจะต้องทำโครงงานเพื่อสังคม ระหว่างคิดว่าจะเลือกทำโครงงานอะไรอยู่นั้น ปภาณษิณได้ยินเสียงบ่นจากเพื่อนผู้หญิงถึงการจัดสวัสดิการนักศึกษาใน มธ.ที่มีถุงยางอนามัยแจกฟรีให้นักศึกษาชาย แต่ทำไมไม่มีผ้าอนามัยแจกฟรีให้นักศึกษาผู้หญิง เป็นไอเดียที่ได้จากความบังเอิญที่ยิ่งมีน้ำหนักขึ้นไปอีก กับการเริ่มพูดถึงผ้าอนามัยของผู้หญิงในการชุมนุมทางการเมือง   

  “ผมยกประเด็นนี้ขึ้นมาและทำเป็นโปรเจกต์มหาวิทยาลัย ปรากฏว่ามีเพื่อนๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกันเข้ามามากมาย จนเกิดการตั้งกลุ่มนี้ ก็ตั้งโจทย์ว่าจะแจกผ้าอนามัยได้อย่างไร ก็เริ่มด้วยการออกไปหาสปอนเซอร์มาสนับสนุน แล้วบอกตอนแจกว่าเป็นสปอนเซอร์ไหนบ้างที่สนับสนุน หรือไปวางให้หยิบฟรีในห้องน้ำหญิงบ้าง ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก”

“ไม่เพียงนักศึกษาหญิง ยังมีอาจารย์หญิงที่ชื่นชม เพราะบางครั้งอาจไม่ได้เตรียมผ้าอนามัยมา แต่เพียงเปิดเข้าไปในห้องน้ำแล้วมีให้หยิบฟรีก็อุ่นใจ ก็ทำจนผ่านไปสักระยะเราก็เริ่มมองถึงความยั่งยืน และคิดว่าผ้าอนามัยควรยกเลิกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้แล้ว เพื่อให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเข้าถึงผ้าอนามัย อันจะมีผลต่อสุขภาวะที่ดี และสุขภาพร่างกายในอนาคต”

  • แอคชั่น ตปท.สร้างความเท่าเทียมทางเพศ

  ผ้าอนามัยไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เรื่องส่วนบุคคลอีกแล้ว ปภาณษิณยกตัวอย่างนานาประเทศที่เริ่มใส่ใจดูแลเรื่องผ้าอนามัย ด้วยบันได 2 ขั้นคือ ขั้นแรก ยกเลิกการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผ้าอนามัย มีผลทำให้ผ้าอนามัยราคาถูกลง เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา(บางรัฐ) อินเดีย

และขั้นที่สอง จัดสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีจากรัฐบาล ปัจจุบันมีเพียงประเทศเดียวในโลกคือ สก๊อตแลนด์ นอกจากนี้มี เยอรมนี ที่แม้ไม่ได้มีมาตรการทางภาษี แต่ใช้แนวทางเพิ่มยอดการผลิตแต่ละครั้งให้เยอะ เพื่อให้มีราคาถูกและคนเข้าถึงง่าย

  “อย่างสก๊อตแลนด์ ตอนแรกยกเลิกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มก่อน จากนั้นก็มากำหนดเป็นสวัสดิการของรัฐในเวลาไม่นาน ทำเป็นรูปแบบผ้าอนามัยมาตรฐาน แจกวัยเรียน วัยทำงาน หรือหากไม่ชอบ จะซื้อเองก็ได้ ส่วนสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการเรียกร้องจนประกาศยกเลิกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผ้าอนามัยไปเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา พบว่าสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชนในช่วงโควิด-19 ระบาดได้”

  ตัดภาพมาที่ประเทศไทยมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กับข้อเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งปภาณษิณยอมรับว่า การออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ เขาและเพื่อนๆ เผชิญแรงเสียดทานและคำพูดถากถางไม่น้อย

  ปภาณษิณ เล่าว่า ตอนเอาโปสเตอร์เรียกร้องการยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัยไปม็อบ เพื่อให้ร่วมลงชื่อสนับสนุนและได้มา 3 หมื่นกว่ารายชื่อ ที่ได้เสนอให้ กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรีฯ นั้น พบว่ามีทั้งคนเห็นด้วย คนที่งงๆ โดยเฉพาะผู้ชายที่ไม่เคยจ่ายผ้าอนามัย

แต่ที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงด้วยกันเอง อย่างมีผู้หญิงอายุมากบางคนมาบอกว่า ตอนนี้ฉันหมดประจำเดือนแล้ว ฉันยังจ่ายได้เลย บางคนก็หนักเลยเห็นว่าเราเอาเรื่องนี้ไปเรียกร้องในม็อบ เรียกร้องกับฝ่ายค้าน จนถูกมองว่าเป็นเรื่องเรียกร้องที่สร้างผลกระทบกับสถาบันฯ ไปอีก

ทั้งที่จริงๆ เราออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคม และในโลกยุคใหม่ ไม่เพียงผ้าอนามัย ยังรวมถึงผ้าอ้อมเด็ก ผ้าอ้อมผู้สูงอายุ ก็ล้วนเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย มันไม่ดีตรงไหน

  • ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยประโยชน์มากกว่าที่คิด

  สำรวจราคาผ้าอนามัยท้องตลาด มีราคาต่ำสุด 5 บาทต่อชิ้น และแพงสุดเป็นพันบาทต่อชิ้น มีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ผ้าอนามัยทั่วไป ผ้าอนามัยแบบกางเกง ผ้าอนามัยแบบถ้วย มีทั้งใช้แล้วทิ้งและซักใช้ซ้ำได้ ซึ่งมาตรฐานระบุให้ใช้ 4 ชั่วโมงต่อ 1 แผ่น แต่เพราะเรื่องนี้ไม่ค่อยนำมาพูดกัน ซึ่งข้อมูลที่ปภาณษิณได้รับคือ “เราใช้เกินมาตรฐานไปมาก” อย่างเด็กคนคนหนึ่งใช้วันละ 2 แผ่น บางคนใช้วันละ 1 แผ่น มีอยู่จริงๆ!!  

  “อยากให้รัฐบาลเริ่มทำ เชื่อว่าจะมีประเทศในอาเซียนจะทำตามแน่ๆ เพราะประโยชน์ไม่เพียงช่วยลดค่าใช้จ่ายได้แล้ว ยังสามารถนำเงินส่วนนี้ไปซื้อหนังสือดีๆ อ่าน นำมาส่งลูกเรียนได้ ในระยะยาวการมีสุขอนามัยที่ดี จะลดการเป็นโรคต่างๆ สามารถลดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของประเทศได้” ปภาณษิณ กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image