หลากมุมมอง สาวไลฟ์สดขายชั้นใน กระแทกความรู้สึกสังคม

หลากมุมมอง สาวไลฟ์สดขายชั้นใน กระแทกความรู้สึกสังคม

กล้าซื้อก็กล้าขาย มา!

แคปชั่นของสาวหน้าตาดีคนหนึ่งที่ออกมาไลฟ์ “ขายกางเกงในใช้แล้ว” กลายเป็นปรากฎการณ์ที่ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก

อ่าน : ออเดอร์ปัง! สาวไลฟ์สดขายกางเกงชั้นในมือ 2 (ไม่ซัก) ยอดจองเพียบ

ต่อกรณีดังกล่าว นับเป็นปรากฎการณ์ที่ท้าทายความคิดของคนในสังคม ที่ต้องบอกว่า “มองได้หลายมุม” ทั้งในมุมมองของนักสิทธิสตรีต่อประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ มุมของตัวบทกฎหมาย ไปจนถึงมุมมองของความเป็นห่วงต่อการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบกับเยาวชน ซึ่งสถานการณ์การละเมิดทางเพศในเด็กยุคปัจจุบันก็น่าเป็นห่วงไม่น้อย

Advertisement

ความเท่าเทียมทางเพศ

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า ส่วนตัวมองกรณีไลฟ์สดจำหน่วยกางเกงชั้นในใช้แล้ว เป็นเสรีภาพส่วนบุคคลที่ทำได้ เพราะไม่ได้ผิดกฎหมาย ส่วนกรณีที่สังคมอาจรู้สึกกระอักกระอ่วน รู้สึกไม่โอเคที่ผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมาขายอย่างนี้

ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่าอาจเพราะสังคมเราคาดหวังว่า ผู้หญิงควรมีความเรียบร้อยเรื่องเพศ ไม่แสดงออกโฉ่งฉ่าง กรณีนี้จึงเป็นการหลุดกรอบเพศที่สังคมมองผู้หญิงดี ยิ่งเรื่องกางเกงในด้วย คนไทยก็มีวัฒนธรรมที่สอนผู้หญิงอีกว่า กางเกงในเป็นของต่ำ ต้องซ่อน เวลาตากก็ต้องไว้ข้างล่าง ไม่ให้คนอื่นเห็น ฉะนั้นพอมีคนมาเปิดเผยในสื่อโซเชียลอย่างนี้ เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่กระแทกความรู้สึกพอสมควร เพราะกระแทกฐานความเชื่อของหลายคน

“เท่าที่ดูคนที่ขายก็พยายามเซฟตัวเองระดับหนึ่ง เช่น โชว์รูปของเท่านั้น ไม่โชว์รูปส่วนตัว อาจเพราะเขาก็ตระหนักตรงนี้ แต่แน่นอนว่าการเข้าสู่เพศพาณิชย์แบบนี้ อาจมีคนส่งข้อความไปคุกคาม และเป็นเป้าให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนเรื่องนี้ควรทำหรือไม่ควรทำนั้น หรือแนะนำคนที่คิดเลียนแบบอย่างไร ดิฉันคงไม่ก้าวล่วง ตราบใดที่ไม่ได้ผิดกฎหมาย” ดร.วราภรณ์วิเคราะห์ในเชิงการตลาด

Advertisement

ปัจจุบันคนไทยอยู่ในยุคทุนนิยม มีตลาดเพศพาณิชย์ที่มีผู้ชายเป็นผู้บริโภคหลัก เมื่อมีกำลังซื้อ ก็มีกำลังขาย การขายเชิงพาณิชย์บวกแฟนตาซีอย่างนี้ ก็เหมือนการซื้อขายเซ็กซ์ทอยอย่างหนึ่ง

“ที่น่าสนใจจากปรากฏการณ์อย่างนี้อีกอย่างคือ เราไม่ตั้งคำถามกับผู้ซื้อ เหมือนกรณีการซื้อบริการทางเพศ ที่ไม่ตั้งคำถามกับผู้ซื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายเลย เพราะลึกๆ เรามีความเชื่อว่าผู้ชายมีเสรีภาพทางเพศ สามารถตอบสนองความรู้สึกทางเพศได้ ไม่ใช่เรื่องผิด กลับกันหากเป็นผู้หญิงกับเรื่องเพศ มักจะถูกตั้งคำถามหนัก” ดร.วราภรณ์กล่าวอีกว่า

อย่างก่อนหน้านี้กับคนส่งของเปิดกล่องไปเจอเซ็กซ์ทอยที่มีผู้หญิงสั่ง แล้วทำเป็นเรื่องเล่นสนุก ทำให้ผู้หญิงอับอาย ฉะนั้นในกรณีนี้ก็ควรตั้งคำถามกับผู้ซื้อด้วย

วราภรณ์ แช่มสนิท

ผิดกฎหมายหรือไม่

หลายคนสงสัยว่ากรณีที่เกิดขึ้นเข้าข่ายอนาจารหรือเข้าข่ายผิดข้อกฎหมายหรือไม่ ซึ่ง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ให้คำแนะนำว่าสามารถพิจารณาได้ตามลำดับดังนี้

1.ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278 ระบุว่า ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใดฯ จะเห็นได้ว่า การกระทำอนาจารต้องกระทำอนาจารแก่บุคคลอื่นไม่ใช่กระทำอนาจารต่อตนเอง ซึ่งในกรณีนี้ผู้ไลฟ์บรรลุนิติภาวะแล้ว และเป็นการยินยอมจำหน่ายด้วยตนเอง

2.ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 388 ระบุว่า ผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่นฯ ซึ่งในที่นี้ผู้ไลฟ์ไม่ได้แก้ผ้าโชว์หรือเปลือย

3.พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์มาตรา 14 อนุมาตรา 4 ว่าด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ สังเกตว่าจะต้องเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนเข้าถึงได้ ถ้าเป็นการส่งคลิปแบบตัวต่อตัวจะไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

และในส่วนของคำว่า “ลามก” ไม่มีกฎหมายนิยามศัพท์ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้ความหมายทั่วไปที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรม ซึ่งในฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ระบุความหมายไว้ว่า หยาบช้าต่ำทราม, หยาบโลน, อันเป็นที่น่ารังเกียจของคนดีมีศีลธรรม เช่น หนังสือลามก พูดลามก และทำลามก เป็นต้น

ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าในกรณีนี้ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายหากพิจารณาตามมาตราข้างต้น ด้วยผู้ไลฟ์มิได้กระทำการอนาจารกับผู้อื่น และบรรลุนิติภาวะแล้ว เป็นการยินยอมจำหน่ายด้วยตนเอง ประกอบกับไม่ได้แก้ผ้าโชว์ หรือเปลือยต่อหน้าธารกำนัล ตลอดจนคลิปไลฟ์ที่เผยแพร่ไม่มีความหมายตามพจนานุกรมของคำว่า “ลามก”

ต่างคนต่างมุมมอง
ห่วงเด็กถูกละเมิดอายุน้อยลง

วีรวรรณ มอสบี้ ผู้ก่อตั้งโครงการฮัก กล่าวว่า ส่วนตัวเพิ่งเคยได้ยินกรณีนี้ ส่วนตัวมองว่าสามารถมองได้ในหลายมุม ทั้งในมุมของการแพทย์ที่อธิบายถึงผู้ที่มีความรู้สึกทางเพศกับสิ่งกระตุ้นที่ผิดไปจากธรรมชาติ (Paraphilia) หรือในมุมของผู้ปกครองที่อาจจะมีความกังวลว่าจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้

ส่วนในประเด็นการคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ จากที่โครงการฮักได้รับแจ้งเหตุและให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ที่เป็นผู้เสียหายถูกละเมิดในกรณีต่างๆ พบว่าการคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์นับเป็นอีกหนึ่งกรณีที่มีเด็กๆ เข้ามาปรึกษาจำนวนมาก ด้วยความที่ในประเทศไทยยังไม่มีคำนิยามทางกฎหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับ การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ฉะนั้นในการดำเนินการทางกฎหมายจึงต้องพิจารณาหลายเรื่อง

“มีเด็กถูกหลอกจากโลกออนไลน์ ให้ถอดเสื้อผ้าช่วยตัวเองเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการใช้โซเชียลมีเดียในการรณรงค์ให้เด็กระวังตัวมากขึ้นด้วย เพื่อให้เด็กเข้าถึงและรู้ทันกลยุทธ์ของคนร้ายที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กวัยรุ่นมาแจ้งเหตุน้อยลง แต่กลายเป็นว่าผู้เสียหายเป็นเด็กอายุประมาณ 9-10 ปี มาแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่เขาเรียนรู้จากการดูและการกระทำ ส่วนหนึ่งจึงต้องเข้าถึงทางผู้ปกครองและสอบถามเด็กว่าสมัยนี้ใช้โซเชียลช่องทางไหนเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ กันต่อไป เพราะเป็นกลุ่มอายุที่น่าเป็นห่วงมาก”

อ่าน : จะทำยังไง เมื่อคลิปหลุด อุทาหรณ์ ‘โลกออนไลน์’

ทั้งนี้ ในกรณีที่ว่าโพสต์ภาพเซ็กซี่แล้วเป็นเหตุให้ถูกคุกคามหรือไม?

“ในมุมของผู้โพสต์ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่กระทำได้ ทว่าเมื่อเข้าสู่โลกออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือการควบคุมความคิดเห็น หรือมุมมองของคน ทำได้ยาก เมื่อคำนิยามทางกฎหมายเรื่องการคุกคามทางเพศยังไม่ชัดเจน ส่วนหนึ่งเพราะเป็นการกระทำใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจนมาก่อน จึงกล่าวได้ว่ามีหลากหลายความคิด ทั้งคนที่คิดว่าก็เป็นสิทธิของเขาจะโพสต์อะไรก็ได้ บางคนก็รับไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะมองจากมุมไหน”

“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็อยากจะให้เป็นข้อมูลสำหรับคนที่จะทำว่า เมื่อท่านทำแล้ว สิ่งที่ท่านทำจะคงอยู่ในอินเทอร์เน็ตตลอดไป ท่านต้องพิจารณาถึงผลดีผลเสียที่เกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาวให้ดีก่อนที่จะทำ” วีรวรรณทิ้งท้าย

บุ๋ม – วีรวรรณ มอสบี้
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image