หนุนก้อย ‘ยกเลิกสินสอด’ ชี้ด้อยอำนาจผู้หญิง ฟาด ‘ผู้ชายให้ทำแกงส้ม’ เป็นรักภายใต้ระบบทุนนิยม

แฟ้มภาพ - goyyog

หนุนก้อย ‘ยกเลิกสินสอด’ ชี้ด้อยอำนาจผู้หญิง ฟาด ‘ผู้ชายให้ทำแกงส้ม’ เป็นรักภายใต้ระบบทุนนิยม

จากกรณีที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในโลกออนไลน์ต่อประเด็นที่ว่า “ผู้ชายควรเป็นฝ่ายให้สินสอดกับผู้หญิงหรือไม่” ในหลากหลายแง่มุม กระทั่งนักแสดงสาว ก้อย – อรัชพร โภคินภากร ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวในอินสตาแกรมสตอรี่ว่า ‘ส่วนตัวคิดว่าควรยกเลิกระบบสินสอดค่ะ แนวคิดการวัดค่าผู้หญิงด้วยเงินจะได้หมดไปสักที น่ารำคาญค่ะ’

อ่านข่าว : เถียงกันจังเรื่องสินสอด ก้อย อรัชพร บอกน่ารำคาญ เผยยกเลิกก็ดี การวัดค่าผู้หญิงด้วยเงินจะได้หมดไป

ภาพจาก @goyyog

น.ส.ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กรโปรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ความคิดเห็นของน้องก้อยก็มีเหตุผล (Valid) ควรต้องฟัง เพราะในที่นี้น้องก้อยมองในมุมที่ผู้ชายบอกว่า “เสียเป็นแสนก็ต้องมีสกิลเล็กๆ น้อยๆ เช่น ทำแกงส้มได้…” ซึ่งดิฉันมองว่าข้อเสนอที่บอกให้ยกเลิกระบบสินสอดน่าสนใจ แต่ว่าจะยกเลิกได้จริงไหม ผู้หญิงอาจจะต้องมีความมั่นคงทางด้านการเงิน มีความมั่นคงทางด้านสถานภาพทางด้านสังคม และครอบครัวไม่ได้กดดันให้แต่งงานและเรียกสินสอด ซึ่งต้องเข้าใจว่าสถานภาพแบบนี้ไม่ได้เกิดกับผู้หญิงทุกคน เพราะยังมีผู้หญิงอีกมากมายที่ถูกกดดันเรื่องสินสอด

สิ่งที่ควรทำคือการตั้งคำถามกับครอบครัว ว่า ทำไมถึงคาดหวังสินสอดกับลูกผู้หญิง เป็นเรื่องความอยู่รอดไหม หรือมีความกังวลว่าลูกสาวจะไปอยู่กับผู้ชายคนนี้จะดูแลลูกสาวเราได้ไหม เป็นต้น แต่หากมองว่าสินสอดคือการตอบแทนเหมือนที่ผู้ชายในโพสต์บอก ดิฉันคิดว่าการยกเลิกระบบสินสอดก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะการคิดแบบนี้สะท้อนว่าผู้ชายมองสินสอดเป็นตัวกำหนดว่าเขาจะมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เป็นความรักภายใต้ระบบทุนนิยมที่ชัดเจนมาก

Advertisement

ทั้งนี้ เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของใครคนหนึ่งทั้งหมด เพราะเป็นการให้คุณค่าบวกกับอารมณ์ ผ่านต้นทุน เศรษฐศาสตร์ระหว่างคู่รัก เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางสถานภาพทางสังคม ในมุมหนึ่งอาจจะมองได้ว่าผู้หญิงถูกกดดันในเรื่องสินสอด เพราะต้องไปบอกฝ่ายชายว่าต้องการสินสอด ในขณะเดียวกันฝ่ายชายก็ถูกกดดันเช่นเดียวกัน หากเขายังไม่มีกำลังมากพอ เขาจะรู้สึกว่าเขาต้องหาสินสอดมาเพื่อจะแต่งงานกับผู้หญิง หากรักจริงรักมาก กลายเป็นถูกกดดันทั้งสองฝ่าย

ฉะนั้นประเด็นนี้จึงต้องถามกลับไปที่ครอบครัวของทั้งสองฝั่งว่าทำไมต้องคุยเรื่องสินสอด ทำไมไม่สามารถทำงานแล้วได้ค่าตอบแทนที่ทำให้เราอยู่ได้ ค่าจ้างขั้นต่ำ ระดับงาน เงินและสวัสดิการที่รัฐควรจะลงทุนให้เรา หากเรามีต้นทุนเหล่านี้จากรัฐ สิ่งที่มากดดันทั้งจากสังคมและครอบครัวจะน้อยลง จะไม่ต้องมาตีค่าความรักเป็นเรื่องสินสอด เพราะมีกำลังมากพอในการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

อย่างไรก็ตาม ไม่อยากใช้คำว่า “ด้อยค่า” ผู้หญิงในประเด็นการมอบสินสอดเพราะจะทำให้เหมือนกับว่าผู้หญิงไม่มีค่า ดิฉันมองว่าไม่เพียงแค่เรื่องสินสอดที่สังคมและครอบครัวคาดหวังต่อคู่รักว่าจะต้องมีวิถีชีวิตแบบนี้ แต่เรื่้องที่ใหญ่กว่าคือ หากผู้หญิงไม่มีอำนาจหรือส่วนร่วมในการตัดสินใจได้ว่าจะแต่งงานแบบไหน สิ่งนี้นับเป็นการ “ด้อยอำนาจ” ในการตัดสินใจของผู้หญิงอย่างแท้จริง

Advertisement
ปรานม สมวงศ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image