ก็ทำไมวันนั้นไม่เคยบอก!! อย่าปล่อยให้ชีวิตคู่สายเกิน ‘หย่า’

ก็ทำไมวันนั้นไม่เคยบอก!! อย่าปล่อยให้ชีวิตคู่สายเกิน ‘หย่า’

ในช่วงที่ผ่านมานี้มีปรากฎการณ์แลกเปลี่ยนความคิดในสังคมเกี่ยวข้องกับประเด็นการใช้ชีวิตคู่มาอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินสอดในงานแต่ง ประตูด่านแรกจากความคาดหวังของครอบครัวและสังคมในการจะใช้ชีวิตคู่

รวมไปถึงเรื่องราวของคนดังที่ออกมาประกาศลดระดับความสัมพันธ์จากคู่รัก คู่แต่งงาน เป็นเพื่อนสนิทคนรู้ใจ ซึ่งหลายๆ คู่ไม่ได้มีการแทรกแซงของมือที่สาม แต่ให้เหตุผลของการเลิกราว่ามาจากความต่างทั้งในเรื่องของการใช้ชีวิต การงาน ไปจนถึงทัศนคติ

นับว่าเป็นปัจฉิมบทของการใช้ “ชีวิตคู่” ที่หลายคนก็คงจะสงสัยว่าแล้วกับเรื่องเหล่านี้มีคำอธิบายหรือไม่ การเดินทางของความสัมพันธ์สู่การใช้ชีวิตคู่มีปัจจัยอะไรมาข้องเกี่ยว

ในรายการ Well Being สุขภาพดี ชีวิตดีสร้างได้ เผยแพร่ทางมหิดล ชาแนล พอดแคสต์ ดำเนินรายการโดย อ.เต้ – ดร.ระพี บุญเปลื้อง และ หมอหลิว – นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้คุยถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจในหัวข้อ “ทำอย่างไรเมื่อชีวิตคู่มาถึงทางตัน”

Advertisement

เปลี่ยนบทชีวิตคู่ เป็นคนแปลกหน้า

หมอหลิว เผยว่า ก่อนที่จะมาเป็นคู่รักกัน หลายคู่มีรายละเอียดที่ต่างกัน อาทิ เจอกันได้ยังไง โดยที่ต่างคนต่างมีความเป็นตัวตน มีชุดประสบการณ์ความเชื่อที่แตกต่างและหลากหลาย และการที่คนสองคนตัดสินใจจะ “คุยกัน” เรียนรู้กัน มักจะเริ่มด้วยการแชร์ประสบการณ์ในด้านที่ดี หรือที่เรียกกันว่า “ช่วงโปรโมชั่น” พอหมดช่วงนี้ก็จะเผยถึงตัวตนในอีกหลายๆ ด้านด้วย

กระทั่งความสัมพันธ์เดินทางไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดความ “ไม่ชอบ” ทะเลาะกัน บางคู่เลิกตั้งแต่เป็นแฟน ตัดสินใจไม่ไปต่อ แต่หากได้ไปต่อ ว่ากันว่าจะต้องมองถึงการมีข้อผูกมัด (Commitment) สัญญากันว่าฉันจะมีเธอคนเดียว จุดนี้จึงเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของการแต่งงาน

ทั้งนี้ “การแต่งงาน” ไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคนมาอยู่ด้วยกัน แต่เป็นการที่ครอบครัว 2 ครอบครัวมาอยู่ร่วมกัน จากเดิมเป็นแฟนไม่ได้อยู่ด้วยตลอด 24 ชั่วโมง เชื่อว่าต่างฝ่ายต่างไม่ได้แสดงความเป็นตัวตนทั้งหมดออกมา ซึ่งจะมาแสดงออกตอนที่อยู่ด้วยกันเป็นสามีภรรยาแล้ว หรือในตอนที่มีข้อขัดแย้งระหว่างแม่สามีลูกสะใภ้อย่างที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็เริ่มทำให้เกิดความรู้สึกว่าเธอ/เขาไม่เป็นแบบที่เราคิด ใช่แฟนเราคนเดิมที่เคยคบหรือเปล่า ก่อนแต่งงานกันไม่เคยเห็นเป็นแบบนี้ เริ่มเห็นความไม่ชอบไม่ถูกใจ

Advertisement

อีกหนึ่งความสัมพันธ์เมื่อมาใช้ชีวิตร่วมกันคือ “การมีลูก” ซึ่งหลายคู่ทุ่มเทให้ลูกมาก ถ้าพูดกันตามที่เห็นในสังคม ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายที่อยู่กับลูกมากกว่า เข้มข้นกับบทบาทของการเป็นแม่ ซึ่งในบางครั้งก็ลืมไปว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ 24 ชั่วโมง เพราะการที่คงบทบาทนั้นไว้ตลอดจะส่งผลให้เหนื่อย ประกอบกับความคาดหวังในตัวเองที่ต้องการเลี้ยงลูกออกมาให้ดี เป็นเด็กดี คุณค่าเหล่านี้ถูกใส่ในตัวของผู้หญิงที่มีบทบาทเป็นแม่

ประกอบกับความคาดหวังจากสังคมว่าแม่จะต้องเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี จะดีไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับผู้เป็นแม่ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้คู่รักหลงลืมที่จะมองกันแล้วดูว่า “ความเป็นสามีภรรยายังเหลืออยู่ไหม” หรือ “เราเป็นพ่อแม่กันอย่างเดียว”

จุดนี้เองที่ทำให้บทบาทสามีภรรยาเริ่มไม่สมดุล

หมอหลิว – นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข

เรื่องเล็ก ที่จริงไม่เล็ก

หมอหลิว บอกอีกว่า เหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการหย่าร้าง คือ “การไม่สื่อสารกัน” เช่นกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ปล่อยไว้แล้วไม่คุยกัน เพราะจริงๆ แล้วเรื่องที่่ว่าเล็กมันคือการสะท้อนถึงประสบการณ์ แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กแต่หากมาชนกันก็ใหญ่ขึ้นได้ เก็บสะสมไว้ แล้ววันหนึ่งทนไม่ไหวก็ระเบิดขึ้นมา ประกอบกับอีกหลายๆ ปัจจัยพื้นฐานที่แตกต่างซึ่งมีผลต่อคู่รักนำไปสู่การหย่าร้าง อาทิ ฐานะ ระดับการศึกษา ศาสนา และทัศนคติ
ด้วยเหตุนี้จะดีกว่าไหมถ้าจะทดลอง “อยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน”

กับเรื่องนี้ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ให้ความเห็นว่า การอยู่ก่อนแต่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ก็ต้องเผชิญกับความคิดและความเชื่อในสังคมไทย อาจจะต้องกลับไปที่คุยกันก่อนกับครอบครัวทั้งสองฝ่ายว่ารับได้ไหมถ้าจะอยู่ด้วยกันแบบนี้ แต่ถ้าตัดสินใจแล้วว่าจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน ก็จะทำให้เห็นมุมมองมากขึ้น มีอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เรารับกันได้/รับไม่ได้ ซึ่งถ้าหากพบว่ามีความต่างกันเยอะไป อาจจะชวนมานั่งคุยว่าอะไรที่เธอปรับได้ฉันปรับได้

“เวลาที่บอกว่าเรายอมกันครึ่งทาง แปลว่าต้องมีคนเสีย ฉะนั้นอาจจะยอมให้กันแค่บางเรื่อง บางเรื่องที่เราให้คุณค่าและความสำคัญ เพราะเราไม่มีทางจะบังคับใครให้มาคิดเหมือนเราได้ทั้งหมด” หมอหลิวกล่าว

ก่อนจะไปสู่การหย่าร้าง สัญญาณรำคาญ เสียงทะเลาะเริ่มมา อุณหภูมิชีวิตคู่พุ่งสูง จะประคับประคองอย่างไร
นพ.สมบูรณ์ แนะนำว่า อย่างแรกคือ “ยอมรับว่าชีวิตคู่ของเรามีปัญหา” ด้วยการสื่อสารและพูดคุยกันว่าช่วงนี้เป็นเหมือนกันไหมว่าเราไม่โอเคกันทั้งคู่ ยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน และทบทวนว่ามีเรื่องอะไรเข้ามาที่ทำให้เราชอบและไม่ชอบ มีอะไรหายไปไหม หรือจริงๆ ไม่เคยมีอยู่ตั้งแต่แรก

“สื่อสารทั้งในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่จะนำไปทะเลาะกันว่า ‘ก็ทำไมแกไม่เคยบอก'” หมอหลิวกล่าวย้ำ

สัญญาณ 3 ระยะหย่าร้าง ส่งผลต่อลูก

การเดินทางในด้านความสัมพันธ์ของคู่รักที่เดินมาสุดทางแล้ว และไปต่อไม่ได้จริงๆ จนนำไปสู่การ ‘หย่าร้าง’ นั้น ในทางวิชาการสามารถแบ่งการหย่าร้างออกเป็น 3 ระยะ คือ

1.ระยะก่อนหย่า ปัญหาเริ่มมา สะสม ขัดแย้งรุนแรง พูดไม่ดีใส่กัน ทะเลาะรุนแรง 2.ระยะแยกกัน ตัดสินใจแยกกันอยู่

ซึ่งในระยะที่ 1 และ 2 อาจจะส่งผลต่อผู้เป็นลูก ให้มีพฤติกรรมแสดงท่าทีที่ดูเด็กกว่าวัย อาทิ จู่ๆ ก็งอแงร้องไห้ เรียกร้องมากขึ้น ลงไปนอนดิ้นกับพื้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กไม่ได้ตั้งใจจะทำ แต่เป็นสัญชาตญาณจากภายในที่ออกมาเมื่อเขารู้สึกว่าเขาอยู่ในความขัดแย้งนี้ไม่ได้ และไม่ชอบด้วยที่คู่ขัดแย้งคือพ่อกับแม่ ซึ่งรวมไปถึงเด็กบางคนก็ “ทำตัวดีขึ้น” เพื่อลดความขัดแย้งของครอบครัว

ต่อที่ 3.ระยะหลังหย่า สื่อสารและพูดคุยกันแล้วว่าความสัมพันธ์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อความสัมพันธ์แบบสามีภรรยาหายไปแล้ว เหลือแค่ความสัมพันธ์พ่อ-แม่ มีข้อตกลงชัดเจนในการเลี้ยงดู ในกรณีที่ตกลงกันได้ด้วยดี การหย่าร้างนี้ก็ไม่ได้ส่งผลเสียต่อเด็กมากนัก แต่ถ้าจบกันได้ไม่ดี มีการต่อว่าตำหนิอีกฝ่าย แบ่งเป็นคนละพวกชัดเจน อาจจะส่งผลให้เด็กเกิดอารมณ์เชิงลบมากๆ มีเด็กจำนวนหนึ่งถึงขั้นมีอาการของโรคซึมเศร้า เครียด หรือแม้กระทั่งชินชาต่อผู้หญิงและผู้ชายที่เป็นพ่อและแม่ของเขา

ทั้งนี้ เมื่อชีวิตคู่มาถึงทางตัน ก็จะมีทั้งฝ่ายที่บอกว่า “เลิกๆ กันไปเหอะ” กับอีกฝ่ายที่เอาน้ำเย็นเข้าลูบ “ทนๆ ไปก่อนนะ” แล้วก็ไปต่อ อยากชวนคิดว่าวิธีการที่จะอยู่หรือจะไป ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นสำคัญ

ดร.ระพี กล่าวทิ้งท้ายว่า เพราะชีวิตคู่นั้นเริ่มต้นจากอารมณ์ และการหย่าร้างก็จบลงด้วยอารมณ์ จึงเป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะวางอารมณ์แล้วคุยกันด้วยเหตุและผล แต่ถ้าเรามองลูกของเราเป็นหลักว่าชีวิตของเขายังคงต้องดำเนินต่อไปโดยได้รับผลกระทบจากสิ่งนี้ให้น้อยที่สุด อาจจะเป็นจุดร่วมในการหาทางออกระหว่างสามีภรรยาและลูกที่อยู่ในสมการด้วย

อ.เต้ – ดร.ระพี บุญเปลื้อง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image