เพราะชีวิตคู่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อถึงวันที่ต้อง ‘หย่าร้าง’ ทำอย่างไร

หย่าร้าง

เพราะชีวิตคู่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อถึงวันที่ต้อง ‘หย่าร้าง’ ทำอย่างไร

หลากหลายเส้นทางความรัก มีบางคู่ดำเนินไปไม่ถึงจุดหมายดั่งใจฝัน เมื่อถึงวันที่ชีวิตคู่ถึงจุดสิ้นสุด การเปลี่ยนสถานะ ‘สมรส’ เป็น ‘หย่าร้าง’ จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง เพื่อจะเริ่มต้นชีวิตใหม่

นับเป็นปัญหาครอบครัวที่มีการขอคำปรึกษามากเป็นลำดับที่ 2 ในบริการของเว็บไซต์ www.เพื่อนครอบครัว.com ดำเนินโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้บริการปรึกษาปัญหาทุกด้านเกี่ยวกับผู้หญิงและครอบครัว ตลอด 24 ชั่วโมง

นางสุทธินี เมธีประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายฯ เล่าว่า การหย่าร้างเป็นประเด็นที่ผู้หญิงเข้ามาขอคำปรึกษากับสมาคมสูงเป็นลำดับต้นๆ ในช่วงสถานการณ์ปกติมีถึงร้อยกว่าเรื่องต่อเดือน แต่ในช่วงนี้ลดลงเหลือ 40-50 เรื่องต่อเดือน อาจด้วยความไม่สะดวกในช่วงโควิด-19 ระบาด

  “ที่มาปรึกษาประเด็นการหย่าร้างส่วนใหญ่ เพราะผู้หญิงประสบปัญหาว่า สามีไปอุปการะหญิงอื่น หรือไปมีเมียน้อย มีกิ๊ก แล้วไม่เลี้ยงดู ไม่ส่งเสียครอบครัว จริงๆ พวกเธอพอรู้กฎหมายหย่าร้าง แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง เราจึงให้คำปรึกษาและช่วยดำเนินการให้ ทั้งการเรียกฝ่ายชายมาไกล่เกลี่ยให้เลิกพฤติกรรม เช่น ให้เลิกกับหญิงชู้ ให้เลิกทุบตีภรรยา ไปจนถึงการฟ้องหย่า”

Advertisement
หย่าร้าง
นางสุทธินี เมธีประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายฯ

นายกสมาคมฯ อธิบายการหย่าร้างในกฎหมาย มี 2 แนวทางด้วยกัน คือ 1.การหย่าโดยความยินยอม เป็นการหย่าโดยความสมัครใจของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้ถูกบังคับ และการหย่านั้นจะต้องแสดงเจตนาต่อหน้านายทะเบียน เพื่อจดทะเบียนหย่า ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอใดก็ได้

  “ส่วนใหญ่การหย่าที่ทั้ง 2 ฝ่ายสมัครใจ จะเกิดขึ้นกับคู่ที่ฝ่ายหญิงมีรายได้มั่นคง สามารถเลี้ยงดูแลตัวเองและบุตรได้ ไม่ต้องพึ่งพิงฝ่ายชาย อาจด้วยเหตุผลที่จับได้ว่าผู้ชายไปมีกิ๊ก พาผู้หญิงอื่นเข้าบ้าน เธอจึงไม่ทนและขอหย่า”

แต่ก่อนจรดปากกาเซ็นในใบอย่า นายกฯแนะนำว่า หากคู่สมรสมีบุตรและสินสมรส ก็ควรตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน ทั้งกรณีการขออำนาจเลี้ยงดูบุตร ซึ่งมีทางเลือกตั้งแต่การขออำนาจดูแลทั้ง 2 ฝ่ายเท่ากัน เช่น กำหนดว่าบุตรไปอยู่บ้านบิดากี่วัน มารดากี่วันในจำนวนเท่ากัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขออำนาจการเลี้ยงดูบุตรเพียงผู้เดียว แล้วเรียกร้องค่าเลี้ยงดูบุตรกับอีกฝ่าย หรืออาจไม่เรียกร้องเลย เพราะสามารถดูแลบุตรเองได้ก็มี

Advertisement

ส่วนการจัดการสินสมรส ก็แล้วแต่จะพูดคุยตกลงกัน อย่างเคยมีกรณีบางฝ่ายไม่รับสินสมรสเลย เช่น บ้านที่ร่วมผ่อนกันมาแต่ยังผ่อนไม่หมด ก็ให้ผู้รับสินสมรสไปผ่อนต่อ เพื่ออีกฝ่ายไม่ต้องรับผิดชอบหนี้สินตรงนี้ต่อก็มี

ข้อตกลงจะถูกบันทึกในเงื่อนไขการหย่าร้าง ซึ่งหากผ่านไปวันหนึ่งฝ่ายใดผิดเงื่อนไขนี้ สามารถฟ้องร้องเพื่อขอให้สั่งบังคับตามเงื่อนไขได้

  “จริงๆ บางคู่ก็สมัครใจจดทะเบียนหย่า แต่ยังรักและอยู่ด้วยกัน อาจด้วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปทำธุรกิจแล้วเจ๊ง ถูกยึดทรัพย์ อีกฝ่ายก็จะไม่ต้องรับผิดชอบ แต่ก็จะเสียสิทธิในการเป็นคู่สมรสไปด้วย โดยเฉพาะหากเกิดปัญหา เช่น สามีมีเมียน้อย มีกิ๊ก จะไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงชู้ได้ และไม่สามารถเรียกร้องค่าเลี้ยงดูบุตรได้” 

นางสุทธินี กล่าวอีกว่า  2.การหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือฟ้องหย่า เป็นการหย่าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมหย่า หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการใช้ชีวิตคู่ 10 ประการ ตามมาตรา 1516 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี หรือมีชู้, สามีหรือภริยาทำผิดทัณฑ์บนที่ตกลงไว้ อย่างผิดข้อตกลงเลิกกินเหล้า ไม่เลิกยาเสพติด ไม่เลิกการพนัน ผิดข้อตกลงไม่ทำร้ายทุบตีภรรยา, สามีหรือภริยาที่ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล ฯลฯ

นอกจากศาลจะพิจารณาพฤติกรรมไม่เหมาะสม 10 ประการแล้ว ศาลยังพิจารณาเรื่องการอุปการะเลี้ยงบุตร โดยจะพิจารณาจากความสามารถทางการเงินทั้ง 2 ฝ่าย หรือในกรณีที่บุตรเริ่มมีวุฒิภาวะแล้ว จะยึดผลประโยชน์ของบุตรเป็นหลัก โดยจะสอบถามบุตรว่าประสงค์อยู่กับใคร ทั้งนี้แม้ศาลจะให้อำนาจปกครองบุตรกับฝ่ายหนึ่งแล้ว แต่อีกฝ่ายก็ยังมีสิทธิติดต่อบุตรได้ตามสมควร

ส่วนสินสมรสนั้น ศาลจะพิจารณาให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ส่วนแบ่งเท่ากัน ทั้งสินสมรสและหนี้สิน

หย่าร้าง

“จริงๆ ก็มีผู้หญิงบางส่วนที่ไม่อยากอย่ากับสามี ทั้งที่สามีไปอยู่กับผู้หญิงอื่นนานแล้ว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในคู่ที่สามีเป็นข้าราชการ แล้วภรรยาอยากรักษาสิทธิและสวัสดิการคู่สมรสไว้ เพื่อตัวเองและบุตร เช่น ค่าเล่าเรียนฟรี ค่ารักษาพยาบาลฟรี บางคนก็รอจนลูกเรียนจบมีงานทำแล้วอย่า บางคนก็รอให้ตายกันไปข้างหนึ่ง เพื่อจะรอใช้สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส”

นางสุทธินี กล่าวทิ้งท้ายว่า แต่ก็มีบางคู่ที่ทำให้ทนายอาสาเราแทบอยากจะเลิกทำคดีครอบครัวไปเลย อย่างกรณีภรรยาที่ยืนยันจะเลิกกับสามี โดยไม่ยอมเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยสักครั้งเลย จนเรื่องเข้าสู่ศาล มีการสืบพยาน ปรากฏว่าเป็นคำกล่าวลอยๆ ว่าสามีมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ส่วนสามีก็มาง้อและยอมคืนดี ก่อนให้การกับศาลว่าไม่ประสงค์หย่าแล้ว ทนายคนนั้นโดนผู้พากษาตำหนิหนักมาก ฉะนั้นก่อนหย่าร้าง ผู้หญิงก็ต้องตัดสินใจแน่แน่ว และมีหลักฐานว่าอีกฝ่ายมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมด้วย

อย่างไรก็ดี ไม่เพียงเรื่องการหย่าร้าง หากเป็นเรื่องที่ผู้หญิงและครอบครัวไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถมาขอคำปรึกษาและช่วยเหลือได้ที่สมาคมฯ หรือโทร.0-2241-0737 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ “เพื่อนครอบครัว.com” ของกรมสค. ที่สมาคมส่งทนายไปช่วยให้คำปรึกษากฎหมาย ไม่มีค่าใช้จ่าย

หย่าร้าง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image