ผู้หญิงอยากทำแท้งมากขึ้น ในวันที่ กม.เปิด แต่ทำไมทำไม่ได้

ภาพประกอบ

ผู้หญิงอยากทำแท้งมากขึ้น ในวันที่ กม.เปิด แต่ทำไมทำไม่ได้

เป็นเวลากว่า 7 เดือนที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 หรือกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ฉบับแก้ไขใหม่ ได้ถูกบังคับใช้

ภายในระบุถึงการเปิดให้ผู้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถยืนยันยุติการตั้งครรภ์ได้เป็นครั้งแรก ส่วนผู้หญิงอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถยืนยันยุติการตั้งครรภ์ได้แต่มีเงื่อนไข ได้แก่ การตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อสุขภาพผู้หญิง การตั้งครรภ์จากคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ทารกมีความเสี่ยงทุพลภาพอย่างร้ายแรงหากคลอด ตลอดจนผ่านการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขแล้ว (สธ.)แล้ว ก็เป็นครั้งแรกเช่นกัน

ส่วนการกระทำนอกนั้นจากนั้น ถือว่ายังผิดกฎหมายอาญาอยู่

ในทางปฏิบัตินั้นผลลัพธ์เป็นอย่างไร ถูกนำมาพูดคุยในงานเสวนาออนไลน์ ‘ทำแท้งทอล์ค’ จัดโดย กลุ่มทำทาง ร่วมกับ องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

Advertisement

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวว่า หลังจากกฎหมายนี้บังคับใช้ พบปัญหาว่ามีผู้หญิงถูกปฏิเสธบริการยุติการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเมื่อไปขอรับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐ ด้วยเหตุผล เช่น ที่นี่ไม่รับทำ ไม่รู้เรื่องกฎหมาย ไม่มีอุปกรณ์และบุคลากรที่ทำงานด้านนี้ เป็นต้น โดยข้อมูลของสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร.1663 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมถึง 20 มิถุนายน 2564 พบผู้หญิงตั้งครรภ์ถูกปฏิเสธ จำนวน 61 ราย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบปัญหาผู้หญิงถูกละเมิด อย่างกรณีแท้งไม่ครบ หรือกรณีผู้หญิงทำแท้งแล้วไปอัลตราซาวด์ แต่ยังพบชิ้นส่วนอยู่ กรณีแบบนี้โรงพยาบาลไม่ทำให้ โดยอ้างว่าที่นี่ไม่ทำ หรือบางคนไปขอรับบริการฝังยาคุมกำเนิดที่โรงพยาบาลรัฐ แต่ก็ไม่ให้บริการอะไรเลย จนผู้หญิงต้องตัดสินใจออกมาเอง

“จริงๆ สธ.ต้องมีแอคชั่นมากกว่านี้ โดยเฉพาะเมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว ทำอย่างไรจะจัดเตรียมบริการยุติการตั้งครรภ์ที่เหมาะสม อย่างในโรงพยาบาลของรัฐ หากยังไม่สามารถทำได้ครบทุกแห่ง ก็ควรมีหน่วยบริการนำร่องให้โรงพยาบาลอื่นๆ เห็นว่า ทำได้จริง เนื่องจากตั้งแต่กฎหมายแก้ไขใหม่บังคับใช้มา สธ.ก็ยังไม่ได้ทำอะไรเลย”

Advertisement

“นอกจากนี้ เมื่อมีกฎหมายแล้ว สธ.ก็ควรประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ว่าปัจจุบันมีกฎหมายแล้วนะ จะมีระบบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายอยู่ที่โรงพยาบาลของรัฐ อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ไปรับบริการได้เลย มีที่ไหนบ้าง ควรจะมีรายชื่อขึ้นมาให้ แต่ สธ.ก็ยังไม่ประชาสัมพันธ์เรื่องนี้เลย”

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม
ยุติการตั้งครรภ์

รศ.ดร.กฤตยาตั้งข้อสังเกตว่าการที่ สธ.ไม่ขยับเรื่องนี้เลย อาจเพราะมีความคิดว่ามีเครือข่ายอาสา RSA ก็น่าจะพอแล้ว แต่เจ้าตัวไม่มองอย่างนั้น เนื่องจากเครือข่ายอาสา RSA ไม่ควรนำมารวมกับบริการทั่วไป เนื่องจากปัจจุบันเครือข่ายอาสา RSA มีหน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์ ประกอบด้วยโรงพยาบาลและคลินิกจำนวน 97 แห่งทั่วประเทศ ในส่วนนี้ทั้งหมดให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ขณะที่บริการยุติการตั้งครรภ์อายุครรภ์ระหว่าง 12-20 สัปดาห์ มี 26 แห่ง และอายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ มีเพียง 4 แห่ง

และกลายเป็นว่า สธ.ไม่ได้จัดเตรียมงบประมาณให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่กฎหมายใหม่กำหนดไว้ด้วย เช่น ต้องมีสายด่วน, ต้องมีศูนย์บริการให้คำปรึกษาทางเลือก, ข้อเสนออย่างน้อยใน 1 จังหวัด ต้องมีสถานบริการของรัฐ ที่สามารถให้บริการยุติการตั้งครรภ์, จัดให้มีระบบติดตามและประเมินผลหลังให้บริการเป็นประจำทุกปี

รศ.ดร.กฤตยา มองอีกว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมเข้าถึงบริการยากมาก สันนิฐานได้ว่าจำนวนผู้หญิงท้องไม่พร้อมและต้องการยุติการตั้งครรภ์จะมีมากขึ้น เนื่องจากใครๆ ก็ไม่อยากท้องช่วงนี้ ตรงนี้มีงานวิจัยออกมาแล้วว่า ไม่ว่าจะมีฐานะทางสังคมรวยหรือยากจน ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากท้องช่วงนี้ แม้จะมีข้อเท็จจริงว่าคนมีเซ็กซ์มากขึ้นก็ตาม

“ตรงนี้ สธ.และรัฐบาลยังไม่ทำอะไร ทั้งที่เราเสนอไปตั้งแต่ระบาดระลอกแรก ว่าควรมีเทเลเมดิซีน รัฐก็บอกว่าจะทำๆ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ทำ โดยเฉพาะ สธ.ที่ควรต้องออกร่างประกาศกระทรวง สธ.ตามกฎหมายแก้ไขใหม่ มาตรา 305(5) แต่ถึงตอนนี้ก็ยังเป็นร่างอยู่เลย”

รศ.ดร.กฤตยายังมีข้อเรียกร้องไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) ทำอย่างไรที่จะให้สิทธิสุขภาพในการตรวจอายุครรภ์ โดยไม่ต้องฝากครรภ์ เนื่องจากมีผู้หญิงไม่แน่ใจว่าท้องหรือไม่ หากไปโรงพยาบาลของรัฐเพื่อขออัลตราซาวด์ เขาไม่ทำให้ เพราะไม่ฝากครรภ์ และหากฝากครรภ์ ก็ไม่ใช่ว่าจะอัลตราซาวด์ให้ทันที เพราะอัลตราซาวด์ส่วนใหญ่ทำในอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ไปแล้ว

เพราะไม่มีใครอยากท้องแล้วไปทำแท้ง

ยุติการตั้งครรภ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image