‘ครอบครัวไทย’ เดินตามรอยญี่ปุ่น โจทย์รัฐ “วางแผนระยะยาว”

ภาพประกอบ ครอบครัวไทย

‘ครอบครัวไทย’ เดินตามรอยญี่ปุ่น โจทย์รัฐ “วางแผนระยะยาว”

เพราะสถาบันครอบครัวเป็นเสาหลักสำคัญหนึ่งของสังคม ทุกปีจึงมีการรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนระดับนโยบายเป็นที่มาของงานประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ซึ่งปีนี้จัดภายใต้แนวคิด “ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่”  ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบออนไลน์ โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

  ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ประธานกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว ฉายภาพสถานการณ์ครอบครัวไทยในปัจจุบันว่า จากข้อมูลสถานการณ์ความเข้มแข็งของครอบครัวไทย ปี 2563 พบแนวโน้มลักษณะครอบครัวไทยอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยว คือครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวไม่มากขึ้น ส่วนครอบครัวขยายที่มีคนหลายรุ่นอยู่ในครอบครัวเดียวกันลดลง ที่น่าสนใจคือ ครอบครัวตัดสินใจไม่มีบุตรสูงขึ้น เช่นเดียวกับครอบครัวที่ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง

  “จากสถานการณ์ดังกล่าวประเทศไทยกำลังเดินรอยตามญี่ปุ่นในด้านประชากรศาสตร์ หรือเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย ที่มีคนเกิดน้อย คนทำงานน้อย แต่มีผู้สูงอายุมาก ฉะนั้นถึงเวลาที่ภาครัฐต้องวางแผนเรื่องนี้ยาวๆ และตอนนี้ครอบครัวไทยยังกำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ความเครียด เจ็บป่วย และสูญเสีย ได้สร้างผลกระทบทางกายและจิตใจ โดยเฉพาะการล็อกดาวน์ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเด็กและผู้หญิง ส่วนหนึ่งคือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่มีบาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ตลอด” ศ.นพ.รณชัย กล่าวและว่า

ที่น่าห่วงอีกคือ ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ปัจจุบันมีมูลค่าถึง 14 ล้านล้านบาท อาจทำให้ครอบครัวคิดสั้นฆ่าตัวตาย จึงเสนอใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสให้ทุกฝ่ายมาร่วมเฝ้าระวังครอบครัว ช่วยแก้ปัญหาและสร้างความมั่นคงให้ประเทศ

Advertisement
ครอบครัว ภาพประกอบ
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้ครอบครัวไทยเผชิญผลกระทบจากโควิดจนเกิดภาวะอ่อนล้า การจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ต้องอาศัยความใกล้ชิดของครอบครัวเป็นพลังใจสำคัญ ซึ่งเป็นที่มาของกระบวนการที่กรมได้ส่งเสริมเรื่องวัคซีนใจ ในการดูแลจิตใจซึ่งกันและกันและส่งต่อความช่วยเหลือสู่ผู้อื่น ผ่านกลไกวัคซีนใจในชุนชนเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตก้าวพ้นปัญหาอุปสรรคต่างๆ ไปให้ได้

ส่วน นางพัชรี อาระยะกุล ปลัด พม. กล่าวว่า ขณะนี้ พม.พยายามช่วยเหลือดูแลรายครัวเรือนใน 5 มิติ ได้แก่ 1.รายได้ ส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสม และมีอาชีพเสริม 2.สุขภาพ เผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้อง ทั้งเรื่องการดูแลตัวเองจากโควิดและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน เป็นต้น 3.การศึกษา ต้องได้รับอย่างทั่วถึง และรู้เท่าทันภัยออนไลน์ 4.สภาพความเป็นอยู่ ต้องมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและปลอดภัย และ 5.เข้าถึงบริการของรัฐ หากมีคุณสมบัติก็จะช่วยประสานให้ได้เข้าถึง 44 สวัสดิการของรัฐ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยผู้สูงอายุ เป็นต้น

  “เราจะนำ 5 มิตินี้ ขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น และชุมชน ช่วยครัวเรือนเปราะบาง ให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพชีวิตและเข็มแข็งต่อไป” นางพัชรีกล่าวทิ้งท้าย

Advertisement

ครอบครัวหน่วยเล็กๆ ที่สำคัญในการสร้างประเทศ

นางพัชรี อาระยะกุล
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image