พลิก (ทุก) มิติ ‘ตำรวจหญิง’ เพศสภาพเป็นเหตุให้ ‘ไม่ก้าวหน้า’

พลิก (ทุก) มิติ ‘ตำรวจหญิง’ เพศสภาพเป็นเหตุให้ ‘ไม่ก้าวหน้า’

ช่วงที่ผ่านมา ข่าวคราวของ “วงการสีกากี” ดูจะมีหลายเรื่องหลายราวให้เห็นเป็นประเด็นที่ต้องจับตา หนึ่งในนั้นคือ ประเด็น “ตำรวจหญิง” ที่เป็นกระแสให้พูดถึงในโลกโซเชียล

สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม นำโดย เรืองรวี พิชัยกุล และสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง จัดเสวนา Gender Talk ตอนพิเศษ “พลิก (ทุก) ภาพ…ตำรวจหญิง” เชิญ “ตำรวจหญิง” มาร่วมพูดคุยถึงบทบาทหน้าที่ของพวกเธอในอาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

ในการเสวนาสะท้อนให้เห็นว่า “ตำรวจผู้หญิง” ยังได้รับโอกาส “น้อยกว่า” ตำรวจชาย ในการเติบโตในสายอาชีพนี้

ด้วยเหตุแห่งเพศ เพียงเพราะเธอเป็น “ผู้หญิง”

Advertisement

เรืองรวี พิชัยกุล ได้เกริ่นก่อนเข้าสู่เนื้อหาว่า ในจำนวนตำรวจกว่า 2 แสนนายทั่วประเทศ มีตำรวจหญิงประมาณ 3% ซึ่งตำรวจหญิงที่มาร่วมพูดคุยในครั้งนี้ มีหลายบทบาทหน้าที่ ทั้ง พนักพนักงานสอบสวน บุคลากรทางการแพทย์ นิติวิทยาศาสตร์ สังคมสงเคราะห์

เรืองระวี – สุเพ็ญศรี

ภารกิจตำรวจหญิง

พ.ต.อ.หญิงจรีย์วรรณ พุทธานุรักษ์ ผู้กำกับการ(สอบสวน) ศูนย์พิทักษ์เด็ก ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 เผยว่า จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา อยู่โรงพัก 10 กว่าปี ก็ทำงานเหมือนตำรวจชาย ได้ไปตรวจที่เกิดเหตุ ตรวจตราตอนกลางคืน ตรวจผับ ก็บู๊พอสมควรเหมือนกัน

“สำหรับตัวเอง ทำงานด้านเด็ก ผู้หญิง และการค้ามนุษย์เป็นหลัก เจอเคสหลากหลาย ส่วนใหญ่เรื่องค้าประเวณี การทำความเข้าใจกับผู้เสียหายเป็นเรื่องสำคัญ โดยเราให้ผู้เสียหายเป็นจุดศูนย์กลาง”

Advertisement

“ถามว่า ยากไหมในการทำงาน ก็ยากและใช้เวลาพอสมควร โดยเรามีทีมซัพพอร์ตที่ช่วยกันทำงานเยอะ ต้องทำเคสคอนเฟอเรนซ์หลายๆ รอบ ถามว่า ความเป็นผู้หญิงไม่ได้เจาะจงว่าจะทำงานได้ดีกว่าผู้ชาย แต่บางครั้งการที่ผู้หญิงไปคุยกับเขา เราถูกวางบทบาทเป็นแม่ ตำรวจหญิงเราก็ถูกวางบทบาทเป็น แม่ พี่สาว น้องสาวที่เข้าไปดูแล เราก็ใช้โอกาสตรงนี้ไปสร้างความมั่นใจว่า กระบวนการในขบวนการยุติธรรม มันสามารถเป็นไปได้ ให้เขาเชื่อใจเราได้ ว่าขบวนการยุติธรรมตรงนี้ ต้องเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสียหายเป็นส่วนใหญ่ ในทางจิตวิทยา ในการที่เราเป็น ผู้หญิงก็มีส่วนสำคัญ ในการที่เขาไว้วางใจและให้ข้อมูล รู้สึกมั่นใจขบวนการ และให้ความร่วมมือกับเรา”

พ.ต.อ.หญิงจรีย์วรรณ พุทธานุรักษ์

พ.ต.อ.หญิงปวีณา เอกฉัตร ผู้กำกับการ(สอบสวน) กองบังคับการตำรวจนครบาล 8 เสริมว่า อีกหนึ่งภารกิจที่บังคับไว้ใน ป วิอาญา ที่บัญญัติว่า กรณีผู้เสียหายเป็นผู้หญิงหรือเด็ก ให้ตำรวจหญิง เป็นคนดูแล เว้นแต่ถ้าไม่ร้องขอ อาจเป็นตำรวจชายก็ได้ แต่ก็เป็นภารกิจพิเศษของตำรวจผู้หญิงที่เป็นพนักงานสอบสวน เพราะกฎหมายออกมาคุ้มครองผู้หญิงที่มีความผิดเกี่ยวกับเพศ

“เนื่องจากเป็นคดีละเอียดอ่อน ผู้กระทำเป็นเพศตรงข้าม ถ้าคนที่สอบปากคำ เป็นเพศเดียวกับผู้กระทำ จะทำให้ผู้เสียหายรู้สึกไม่ไว้วางใจ และไม่อบอุ่นใจที่จะเล่าสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด ตรงนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความคุ้มครองผู้หญิงที่มีคดีเกี่ยวกับเพศ หรือเรื่องการคุ้มครอง แม้ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นตำรวจผู้หญิง แต่กฎหมายออกมาว่า การค้นตัวผู้หญิงให้ตำรวจหญิงเป็นผู้ค้น ซึ่งการค้นตัวต้องมีทักษะพอสมควร เพราะต้องรู้ว่า มีจุดไหนในร่างกายที่น่าซุกซ่อนสิ่งที่ต้องสงสัย”

ขณะที่การค้นตัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ต.อ.หญิงปวีณา ระบุว่า ต้องใช้ “เจนเดอร์ เลนส์” ในการทำงาน โดยดูที่ว่ามีการแปลงเพศหรือยัง ถ้าแปลงเพศแล้ว ไม่ควรให้ตำรวจชายมาค้น แม้คำนำหน้านามจะเป็นผู้ชายก็ตาม

ซึ่ง “เจนเดอร์ เลนส์” เป็นประเด็นสำคัญ ที่ พ.ต.อ.หญิงปวีณา เรียกร้องให้เพิ่มประเด็นนี้เข้าไปในทุกหลักสูตรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องมีการสอนเรื่องเพศเพื่อให้ตำรวจทุกคนไม่ว่าหญิงชายมีความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ เพราะการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนมุมมองได้

พ.ต.อ.หญิงปวีณา เอกฉัตร

พ.ต.อ.หญิงศิริประภา รัตตัญญู นวท. (สบ4) กลุ่มงานตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เล่าว่า ภารกิจของเราจะเกี่ยวข้องกับวัตถุพยานมากกว่าตัวบุคคล เช่น กรณีข่มขืนแล้วฆ่า เราจะเข้าไปเก็บวัตถุพยานโดยรอบนอกตัวศพ ส่วนตัวศพจะเป็นหน้าที่ของแพทย์นิติเวช นอกจากตรวจสอบคดีชีวิตแล้ว ก็ยังตรวจสอบคดีเกี่ยวกับทรัพย์ เพลิงไหม้ ระเบิด ด้วย

“ประสบการณ์ที่ผ่านมาก็เข้าพื้นที่ระเบิดที่มีความเสี่ยงเหมือนกัย ทั้งตรวจระเบิดที่หาดใหญ่ หลายจุดพร้อมกันเมื่อปี 2546 จนถึงเคาน์ดาวน์ปี 2550 ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเก็บวัตถุพยานเพื่อนำไปดูรูปแบบการประกอบ และวัตถุพยานที่สามารถเชื่อมโยงไปตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง”

“ถามว่ากลัวไหม กลัวเหมือนกัน แค่พอทำหลายๆ เคส มันเลยจุดที่กลัวแล้ว การทำงานลักษณะนี้ก็ต้องมีสติมากขึ้น”

ที่กล่าวมา เป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของภารกิจตำรวจหญิงที่พวกเธอมีหน้าที่ไม่แพ้ตำรวจชาย ซึ่งก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความรู้ความสามารถ ที่นำไปสู่ความไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง “หัวหน้าโรงพัก”

พ.ต.อ.หญิงศิริประภา รัตตัญญู

รักษาการ “หัวหน้าโรงพัก”

พ.ต.อ.หญิงปวีณา เอกฉัตร คือหนึ่งผู้ได้รับโอกาส ระบุว่า เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว มีโอกาสไปรักษาการหัวหน้าสถานี ที่ สน.ตลาดพลู เวลา 39 วัน เป็นประสบการณ์ที่ดี ได้เห็นงานภาพรวมทั้งหมดในการบริหารโรงพัก ผู้ใต้บังคับบัญชาให้ความร่วมมือดีไหม โดยส่วนใหญ่ ตำรวจจะมีระเบียบวินัย ทุกคนรับทราบว่า เราลงไปในฐานะอะไร ทุกคนก็ให้ความร่วมมือดี ให้ความเคารพ

“ก็ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าสถานีตำรวจ แม้ระยะเวลา 39 วัน ไม่นาน ดูภาพรวมทั้งหมด จากที่เราดูเฉพาะเรื่องของการสอบสวน เราก็ดูการป้องกันปราบปราม ดูการออกตรวจของสน. ดูการสืบสวนหาข่าว การเข้าจุดวางจุดยังไง การอำนวยการจราจร ในภาวะการจราจรเร่งด่วน ต้องวางจุดยังไงบ้าง ในเรื่องของงานธุรการ ต้องดูว่า มีการเบิกจ่ายในเรื่องการตรวจจับต่างๆ ดูสำนวนการสอบสวนต่างๆ คือเราก็ต้องมาดูการบริหารจัดการภาพรวมทั้งหมด เพื่อให้งานเดินไปได้”

“จากการปฎิบัติงานในหน้าที่นี้ ก็มองว่า ไม่ได้เป็นข้อจำกัดในเรื่องของเพศ ที่ผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าสถานีไม่ได้”

“ช่วงระยะเวลานั้น ก็ทำงานไปด้วยความรู้สึกว่าเป็นความท้าทายอีกครั้งหนึ่งในชีวิตราชการของเรา ต้องพิสูจน์ให้ผู้บังคับบัญชาเห็นว่า เราทำได้ เพราะจะเป็นการเปิดมุมมองออกไปให้เห็นว่าผู้หญิงไม่ได้เป็นแค่พนักงานสอบสวน หรือว่าหัวหน้างานสอบสวนเท่านั้น ยังสามารถเป็นรักษาการ หรือ เป็นหัวหน้าสถานีได้ด้วย”

“ระหว่างที่ทำ ไม่ได้มีข้อบกพร่องอะไร ไม่มีคำตำหนิอะไร และเมื่อครบกำหนดแล้วก็กลับคืนเหมือนเดิม”

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.หญิงปวีณา ก็ยังคาดหวังว่า ในวันข้างหน้า น้องๆ รุ่นหลังต่อไป น่าจะได้เป็นตัวจริง จริงๆ กันสักทีหนึ่ง

อีกหนึ่งคนที่ได้รับโอกาส พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว วรรณฉวี อดีตผู้กำกับการ(สอบสวน) กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 เล่าว่า ช่วงปี 2558 มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่รักษาการหัวหน้าสถานี ร่วมๆ 1 เดือน ซึ่งช่วงนั้นยังไม่มีกระแสผู้หญิงเป็นหัวหน้าโรงพัก ก็ขอบคุณผู้บังคับการที่มองเห็น โดยไม่ได้มองที่เพศ

“การปฏิบัติงานตลอด 1 ดือน ไม่มีปัญหาอะไร แต่น่าน้อยใจ ตอนนั้นได้รับพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะมาขัดตาทัพให้ตำรวจผู้ชายได้ แต่หลังจากนั้น พอมีการเสนอให้มีหัวหน้าโรงพักเป็นผู้หญิง ก็กลับบอกว่า ยังไม่เหมาะสม ไม่ถึงเวลา แต่ถ้ามีการขัดตาทัพบอกว่า ได้..ใช้ได้”

“ตรงนี้อาจจะมีข้อจำกัดในวัฒนธรรมบ้านเรา ที่ก็ต้องทำความเข้าใจ แต่ก็อยากฝากความหวังว่า ควรจะมีช่องทางให้ผู้หญิงเติบโตก้าวหน้า เมื่อเป็นหัวหน้าโรงพักบอกว่า ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่เหมาะสม มันมีปัญหาเรื่องความมั่นคงอะไรอยู่ แต่ก็ให้ผู้หญิงทำงานทำทุกเรื่อง”

“ดิฉันขอโยงมาถึงเรื่องงานเด็กสตรี ถ้าคุณให้ผู้หญิงโตได้ในงานด้านนี้ เรามีตำรวจหญิงหลายคนที่มีความสามารถเป็น หัวหน้ากองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี ที่สามารถนำพาองค์กรตำรวจไปยืนอยู่แถวหน้าในเรื่องเด็กและสตรีได้”

พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว วรรณฉวี

พ.ต.อ.หญิงชุติมา พันธุ นักสังคมสงเคราะห์ (สบ.5) รพ.ตำรวจ ขอกล่าวแย้งคำว่า จากเหตุผลที่ว่า ผู้หญิงไม่เหมาะเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจ เพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงนั้น

“เราไม่ค่อยเห็นหัวหน้าโรงพักเอาปืนไปยิงกับใคร สิ่งที่หัวหน้าโรงพักต้องมีคือคุณสมบัติที่ผู้หญิงก็มี คือการบริหารงานจัดการ ถ้าผู้หญิงจะเติบโตไม่ได้ ไม่ความใช้ข้ออ้างเรื่องสถานการณ์ของความมั่นคง เพราะส่วนมากเขาใช้สมองและเทคโนโลยีในการบริหารจัดการในเรื่องของความทันสมัย สมัยใหม่ ที่ผ่านมา ตำแหน่งสูงสุดของผู้หญิง คือ พล.ต.ท ก็มั่นใจว่า ต่อไปผู้หญิงต้องได้เติบโตไปมากกว่านี้”

“ถ้าเราไม่ติดกับมายาคติว่า เรื่องนี้ ผู้หญิงไปไม่ได้ จริงๆ ผู้หญิงไปได้ทะลุ”

พ.ต.อ.หญิงชุติมา พันธุ

ขอโอกาสให้ “ตำรวจหญิง”

พ.ต.อ.หญิงอมรรัตน์ สุทธิเกิด ผู้กำกับการสอบสวน กลุ่มงานตรวจสอบสำนวนคดี ตำรวจภูธรภาค 8 กล่าวว่า ฝากถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็มองว่าผู้หญิงคงไม่มีโอกาสได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่ชาติ เพราะมีตำแหน่งน้อย และผู้ชายกว่าจะได้เป็นก็น้อยคนมากนัก

“ในฐานะที่ตัวเองเป็นตำรวจหญิงเล็กๆ ในองค์กร ก็อยากให้ผู้หญิงมีโอกาสได้เป็น ใกล้ๆ ก่อน คือ เป็นหัวหน้าสถานีตำรวจ อยากให้มีผู้หญิงลงแข่งขัน ไม่ใช่ไปตัดสิทธิที่ว่า คุณเป็นผู้หญิงก็ขาดคุณสมบัติแล้ว แต่อยากให้มองที่ความรู้ความสามารถ โดยไม่มองเพศสภาพว่าเป็นเพศใด แต่ให้มองเหมือนผู้ชายว่า คุณมีความสามารถเป็นได้ไหม คุณมีศักยภาพพอไหมที่จะเป็น ไม่ใช่เอาความเป็นเพศมาตัด”

“ปัจจุบัน เราเห็นนายพลผู้หญิง แต่เป็นในสายการพยาบาล สายพิสูจน์หลักฐาน แต่ก็อยากให้มีในสายอื่นๆ เพราะตำรวจหญิงมีสายภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือสายอำนวยการ การเงินการงบประมาณ งานธุรการ ผู้หญิงมีความรู้ความชำนาญเยอะมาก อยากขอโอกาสให้ผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถมากพอ และขออย่างเดียวว่า อย่าตัดโอกาสผู้หญิงเพราะขาดคุณสมบัติ เพราะความเป็นเพศหญิง”

ปิดท้าย สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง กล่าวว่า เราจะเห็นว่า หน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหลายหน่วยงาน ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่มีความสามารถ ได้มีความก้าวหน้า แต่ก็ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่มีการกีดกันเลือกปฏิบัติเรื่องเหตุแห่งเพศ อันนี้ชัดเจน

“จากประสบการทำงานกว่า 40 ปี ผู้หญิงกับเด็กมีเกินครึ่งหนึ่งของประเทศ แต่ความสามารถในการที่จะมีอำนาจสั่งการเปลี่ยนแปลง พวกเรายังรั้งบ๋วย ในประเทศอาเซียน”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image