ขบคิด ‘กฎหมายทำแท้ง’ เมื่อความจริง ไม่เป็นอย่างที่คิดไว้

ภาพประกอบ ยุติการตั้งครรภ์

ขบคิด ‘กฎหมายทำแท้ง’ เมื่อความจริง ไม่เป็นอย่างที่คิดไว้

กว่าจะมี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 หรือ “กฎหมายว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่” ต้องรอมาหลายสิบปี

ทั้งต้องฝ่าด่านทัศนคติที่มองว่า หากยกการทำแท้งให้ถูกกฎหมาย เดี๋ยวก็มีผู้หญิงแห่ไปทำแท้งหรอก และอีกสารพัดอคติต่อการทำแท้ง กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเสียงชนะแบบเฉียดฉิว 5 ต่อ 4 เสียง ให้กฎหมายทำแท้งเก่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ จนมีกฎหมายใหม่ ซึ่งปัจจุบันบังคับใช้มาหลายเดือนแล้ว

เนื่องใน “วันยุติการตั้งครรภ์สากล” เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม จึงร่วมกับภาคเครือข่าย จัดเสวนาขึ้นในหัวข้อ “ยุติการตั้งครรภ์คือบริการสุขภาพที่จำเป็น #ให้แท้งไม่ปลอดภัยจบที่รุ่นเรา”

เริ่มที่ สุไลพร ชลวิไล นักวิชาการกลุ่มทำทาง มองว่า เดิมก่อนจะมีกฎหมายใหม่ มีคนมองว่าไปทำเรื่องนี้ให้ถูกกฎหมายแล้ว ระวังจะมีคนแห่ไปทำแท้งมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วตั้งแต่กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่บังคับใช้ ก็ไม่เห็นว่าสถานการณ์การทำแท้งจะมากขึ้นกว่าในอดีตแต่อย่างใด กลับกันสิ่งที่ไม่ควรเกิดกลับเกิดขึ้นอีกคือ ข่าวแม่ทิ้งซากทารกตามที่สาธารณะยังเกิดขึ้นอยู่ เนื่องจากไม่มีความพร้อมเลี้ยงเด็ก ทั้งที่กฎหมายเปิดให้ผู้หญิงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ทำแท้งได้

Advertisement

ส่วนหนึ่งเธอเชื่อว่าที่ผู้หญิงไม่รู้ ถูกตีตรา และเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย เพราะกฎหมายใหม่ยังคงเอาผิดทางอาญากับผู้หญิงที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขอยู่ เธอรู้สึกเสียดายว่า ผู้ที่ร่วมออกกฎหมายนี้ ได้รับรู้สถานการณ์จริงแค่ไหน แล้วทำไมไม่ฟังคนทำงานจริง

  “ตั้งแต่มีกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ ปรากฏว่าไม่ได้ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนเลย จะด้วยคนไม่รู้ สถานบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยปัจจุบันก็ยังไม่เพียงพอ” สุไลพร กล่าว

ภาพประกอบ ยุติการตั้งครรภ์
สุไลพร ชลวิไล นักวิชาการกลุ่มทำทาง

ถัดมาที่บุคลากรด่านหน้า พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ แพทย์อาสาเครือข่ายแพทย์อาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ หรือเครือข่าย RSA เล่าว่า ส่วนตัวได้พบปัญหาจากกฎหมายทำแท้งใหม่คือ ตัวแพทย์ผู้ให้บริการเอง อย่างสูตินรีแพทย์หลายคนกลัวภาระงานมากขึ้น อีกหลายคนมีอคติไม่ดีต่อการทำแท้ง โดยเฉพาะกุมารแพทย์ จนทำให้แพทย์บางคนไปยื่นเรื่องกับศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ ไม่คำนึงสิทธิตัวอ่อน เหล่านี้ทำให้การจัดบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยในโรงพยาบาลเป็นไปได้ยาก

Advertisement

พญ.ศรีสมัย เล่าอีกว่า โรงพยาบาลที่ดิฉันทำงานอยู่ เคยจะเปิดรับทำแท้งอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ตามที่กฎหมายกำหนด ปรากฏว่าถูกแรงกดดันสารพัด อย่างคำพูดที่ว่าเปิดทำแท้งอย่างนี้จะทำให้โรงพยาบาลเสียภาพพจน์ บ้างก็บอกว่าหากจะทำต้องผ่านคณะกรรมการตามขั้นตอน เพื่อประเมินเป็นรายบุคคล หากเป็นการทำแท้งจากคดีทางเพศ ต้องมีใบแจ้งความจากสถานีตำรวจทุกราย จนต้องยกเลิกแนวคิดดังกล่าวไป

  “แทนที่มีกฎหมายทำแท้งแล้วจะทำให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการที่ปลอดภัยง่ายขึ้น กลายเป็นว่าแพทย์เองตั้งเงื่อนไขจนทำให้บริการเข้าถึงได้ยากขึ้น เนื่องจากอคติต่อการทำแท้ง บางคนก็กลัวบาปติดตัว อย่างคลินิกสูติฯ อื่นในอำเภอเดียวกัน เวลามีผู้หญิงไปอัลตร้าซาวน์ และปรึกษาเรื่องทำแท้ง กลายเป็นว่าหมอคนนั้นแนะนำให้เธอไปหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเอง แทนที่จะแนะนำมาหาดิฉัน ทำให้คนไข้เสี่ยงถูกมิจฉาชีพหลอก อย่างบางคนโอนเงินไปแล้วถูกบล็อก เปลี่ยนเว็บไซต์โอนเงินใหม่ก็ถูกบล็อกเสียเงินไปหลายพันบาท บางคนได้รับยามา ปรากฏว่าเป็นยาพาราฯ” พญ.ศรีสมัย

พญ.ศรีสมัยเป็นห่วงผู้หญิงท้องไม่พร้อมช่วงโควิด เพราะปัจจุบันสถานพยาบาลที่ให้บริการทำแท้งอย่างปลอดภัยก็มีน้อยอยู่แล้ว หลายแห่งยังต้องปิดชั่วคราวเพราะโรคระบาดอีก ยิ่งอายุครรภ์มากๆ สถานพยาบาลยิ่งหายากขึ้นไปอีก

สอดคล้องกับสถานการณ์ที่สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 พบคือ ผู้หญิงอยากทำแท้งมากขึ้นในช่วงโควิด!

นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และหัวหน้าสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 เล่าว่า จากข้อมูลผู้ที่โทรเข้ามาขอรับคำปรึกษาพบว่า มีผู้หญิงตัดสินใจทำแท้งมากขึ้นถึงร้อยละ 30 ซึ่งน่าสนใจว่ามีผู้หญิงที่ตั้งใจท้อง ฝากครรภ์ไว้แล้ว มีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ตัดสินใจทำแท้งมากขึ้น เพราะสถานการณ์โรคระบาดทำให้พวกเธอรู้สึกว่าไม่พร้อมอีกแล้ว

  “จริงๆ ภาวะตั้งครรภ์ไม่พร้อมเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลาจนกว่าจะคลอด ซึ่งพวกเธอรู้ตัวเองดีว่าพร้อมหรือไม่พร้อม ฉะนั้นไม่ควรไปตัดสินใจแทน แต่สิ่งที่ทำได้คือ ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ที่เป็นมิตรและเอื้อต่อผู้หญิงให้ทั่วถึงและครอบคลุม” นายสมวงศ์กล่าว

ภาพประกอบ ยุติการตั้งครรภ์
พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ แพทย์อาสาเครือข่ายแพทย์อาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ หรือเครือข่าย RSA
นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และหัวหน้าสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663

ด้าน นพ.พรเพชร ปัญจปิยะกุล กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยว่า คาดว่า สธ.จะออกประกาศมาตรา 305 (5) ที่ว่าด้วยเรื่องการทำแท้งอายุครรภ์ระหว่าง 12-20 สัปดาห์ ได้ประมาณต้นเดือนตุลาคมนี้ เพื่อสามารถเป็นแนวปฏิบัติในการให้บริการได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม สธ.ไม่ได้ตั้งงบประมาณสนับสนุนเรื่องนี้ไว้ในปีงบประมาณ 2565 เบื้องต้นอาจดึงงบส่วนอื่นบางส่วนมาใช้ก่อน แล้วตั้งงบสนับสนุนไว้ในปีงบ 2566 ต่อไป

  “สธ.พร้อมรับข้อกังวลต่างๆ นำไปปรับระบบให้สามารถขับเคลื่อนได้ต่อไป ซึ่งคาดว่าปี 2565 น่าจะมีความพร้อมได้ เช่นเดียวกับการปรับทัศนคติแพทย์ เพื่อสามารถให้บริการได้ตามกฎหมายใหม่ ก็จะอยู่ในกระบวนงานปี 2565 ต่อไป” นพ.พรเพชร กล่าว

ปิดท้ายด้วย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม มองว่า ขณะนี้มีหลายประเทศก้าวหน้าเรื่องยุติการตั้งครรภ์ เช่น อาร์เจนติน่า เกาหลีใต้ เอกวาเดอร์ ออสเตรเลียในบางรัฐ ภาพรวมเป็นความก้าวหน้าที่เพิ่มเรื่อยๆ และผลศึกษาเปรียบเทียบพบอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้หญิง ในประเทศที่เข้มงวดเรื่องทำแท้งมีมากกว่าประเทศเปิดทำแท้งถูกกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะเปิดให้ผู้หญิงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ทำแท้งได้ แต่กฎหมายก็ยังมีการเอาผิดกับผู้หญิงทำแท้ง ซึ่งเราไม่เห็นด้วย

รศ.ดร.กฤตยาอยากให้มีสถานพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ประกาศให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยอย่างน้อย 1 แห่งต่อ 1 จังหวัด ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ สธ.ต้องผลักดันและสนับสนุนงบประมาณ และภายหลังมีกฎหมายใหม่แล้วผู้หญิงไม่ควรถูกปฏิเสธเหมือนในอดีต หากทำไม่ได้ต้องมีระบบประสานส่งต่ออย่างรวดเร็ว ชัดเจนไปเลยว่าต้องภายใน 24 หรือ 48 ชั่วโมง ที่สำคัญเป็นบริการคำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

  “กรณีที่พญ.ศรีสมัยเล่า ส่วนตัวมองว่าไม่ควรมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณายุติการตั้งครรภ์ในโรงพยาบาล เพราะจะทำให้ช้าและเป็นอุปสรรค ฉะนั้นหากยังมีเรื่องนี้อยู่ เราคงต้องฟ้องศาลปกครอง เพราะกฎหมายไม่ได้ให้ทำอะไรเรื่องนี้” รศ.ดร.กฤตยากล่าวและทิ้งท้ายว่า

งานปีหน้าคงต้องทำงานกับทัศนคติให้สังคม หันมาเห็นชีวิตของผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมเป็นสำคัญ ซึ่งต้องทำเชิงภาพกว้าง ระบบ และลงเป็นรายบุคคลต่อไป เนื่องจากพบว่าในหลายประเทศที่เปลี่ยนแปลงกฎหมายแล้ว เช่น สหรัฐฯ พบเสียงคัดค้านและอยากแก้กฎหมายกลับ

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม
นพ.พรเพชร ปัญจปิยะกุล กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แฟ้มภาพ
นพ.พรเพชร ปัญจปิยะกุล กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แฟ้มภาพ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image