ปิดคดี “เอ็กซ์-หมอนิ่ม” ต้นเหตุความรุนแรงในครอบครัว “เรื่องเศร้า” ที่สังคมไทยต้องเปลี่ยน

ปิดคดี “เอ็กซ์-หมอนิ่ม” ต้นเหตุความรุนแรงในครอบครัว “เรื่องเศร้า” ที่สังคมไทยต้องเปลี่ยน

ปิดคดีความรุนแรงในครอบครัว ที่นำมาสู่โศกนาฎกรรมของทุกฝ่าย สำหรับ “คดีสังหารเอ็กซ์-จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม” นักยิงปืนทีมชาติไทย ซึ่งเป็นระยะเวลา 8 ปี ในการพิจารณาคดีจากศาลชั้นต้น สู่ศาลอุทธรณ์ และสุดท้าย “ศาลฎีกา”

บทสรุปของคดีดังจบลงด้วย ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ “ยกฟ้อง” พญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ หรือหมอนิ่ม ขณะที่พฤติการณ์การกระทำผิดของ น.ส.สุรางค์ ดวงจินดา แม่ของหมอนิ่ม

ศาลฎีกาเห็นว่าเกิดจากการที่เอ็กซ์กระทำต่อหมอนิ่มครั้งแล้วครั้งเล่า และบางครั้งยังกระทำต่อหน้าหลานเล็กๆ อันเนื่องมาจากปัญหาการควบคุมอารมณ์ของผู้ตาย โดยก่อนเกิดเหตุมีความไม่แน่นอนว่าผู้ตายซึ่งเป็นนักกีฬายิงปืน  มีอาวุธปืนอาจใช้อาวุธปืนกระทำต่อหมอนิ่ม และครอบครัวในขณะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ก็เป็นได้ เพราะก่อนเกิดเหตุเพียง 2 เดือนก็ยังใช้อาวุธปืนยิงไปทางคนรับใช้และบุตรคนเล็กจนเอ็กซ์ถูกจับและถูกควบคุมตัวที่เรือนจำ

และเพิ่งได้รับการประกันตัวมาไม่นาน การกระทำความผิดของแม่หมอนิ่ม ที่ขณะเกิดเหตุเป็นหญิงมีอายุถึง 72 ปีและบัดนี้มีอายุเกือบ 80 ปีแล้ว และไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเข้าลักษณะของผู้กระทำความผิดที่ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส

Advertisement

  จึงมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้แม่หมอนิ่มจากประหารชีวิต เป็นลงโทษจำคุก 25 ปี

จากกรณีดังกล่าว เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นถึงต้นเหตุของปัญหาที่มาจาก “ความรุนแรงในครอบครัว” ที่ในสังคม กรณีเช่นนี้ มิได้มีเพียงครอบครัวของเอ็กซ์กับหมอนิ่ม หากเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ที่ปัญหายิ่งทวีความรุนแรง

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เห็นใจมาก เพราะเคสนี้มาจากความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาที่สะสมมานานมาก มีการพยายามแก้ปัญหา ก็แก้ไม่ได้ สิ่งสำคัญคือสังคมไทยยังมองเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องเลวร้ายมาก ทั้งๆ ที่ต่างประเทศผู้หญิงที่ฆ่าสามี เขาก็ยังงดเว้นการดำเนินคดี เพราะเป็นปัญหาเรื่องการถูกทารุรกรรม การใช้ความรุนแรง สังคมไทยก็ยังมีทัศนคติแบบนี้อยู่

Advertisement

“อยากให้สังคมเข้าใจว่า แม่ต้องทนเห็นลูกในการถูกกระทำผ่านอารมณ์โกรธของฝ่ายชาย จริงๆ มันน่ากลัว ทั้งทำร้ายร่างกาย ช็อตไฟฟ้า คนเป็นแม่ใครจะทนได้ ตรงนี้ สังคมไทยต้องเรียนรู้ว่า ถ้าเกิดแบบนี้ ต้องเห็นใจผู้หญิง หรือคนในครอบครัวผู้หญิงมากกว่าจะไปมองว่าเขาเป็นคนไม่ดี ต้องเปลี่ยนวิธีคิด”

หรือแม้แต่กระบวนการยุติธรรม จะเด็จ ก็ระบุว่า ต้องเปลี่ยนหลายอยาก ต้องมีความเข้าใจเรื่องแบบนี้มากขึ้น ถึงเวลาต้องแก้กฎหมายหลายๆ ตัว เพราะเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ จากสถิติของมูลนิธิฯ มีกรณีสามีฆ่าภรรยา หรือภรรยาฆ่าสามี เยอะมาก สิ่งที่ห่วงคือ สามีไม่ได้ฆ่าแค่ภรรยาตัวเอง แต่ยังฆ่าคนในครอบครัวมากขึ้นด้วย

  “ช่วง 2-3 ปีเห็นชัดว่า การฆ่ายกครัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่า ปัญหาการใช้อำนาจของผู้ชายครอบคลุมไปถึงคนในครอบครัวมากขึ้น สาเหตุที่ฆ่า ก็ยังวนเวียนเรื่องเดิมๆ ความหึงหวง ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ปัญหาไม่ลดลง ความคิดชายเป็นใหญ่ยังอยู่ในผู้ชายไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งยังมีอำนาจอยู่ เพราะการฆ่าในครอบครัว สถิติไม่ลด มันเพิ่มขึ้นตลอด เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว” 

เอ็กซ์-จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม

ไม่ใช่เพียงทัศนคติ “ชายเป็นใหญ่” ที่ก่อให้เกิดปัญหา เรื่องนี้ยังสะท้อนถึงการ “บังคับใช้กฎหมาย” ของ “ตำรวจ” เพราะตำรวจหลายคนมองเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ผู้หญิงไปแจ้งความแล้ว แต่กลับไม่มีอะไรดีขึ้น

  “ตำรวจบางคนมองว่า เดี๋ยวก็กลับมาคืนดีกัน ซึ่งวาทกรรมแบบนี้ มันยังมีในสังคมไทยอยู่ พอกฎหมายไม่ทำงาน ผู้หญิงจะไปหวังพึ่งใครได้  เมื่อป้องกันตัวเองไม่ไหว ก็นำมาสู่การทำร้ายสามี”

อีกปมปัญหาเป็นเรื่องทัศนคติของคนให้สังคม ที่ยังมองว่า “เป็นเรื่องที่ไม่อยากยุ่ง เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องที่ต้องแก้ปัญหาเอง”

“ถ้าฉันไปยุ่ง เดี๋ยวฉันจะเป็นหมา เพราะคุณกลับไปคืนดีกัน อันนี้เป็นการสะท้อนปัญหา ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่มาก” จะเด็จย้ำ ก่อนบอกเคสหมอนิ่มสะท้อนกลไกทั้งหมดของ กระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีกลไกช่วยเหลือผู้หญิง

จากกรณีดังกล่าว จะเด็จ ย้ำว่า สังคมต้องเรียนรู้ว่า 1.ต้องเชื่อว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นเรื่องประนีประนอมไม่ได้ ไกล่เกลี่ยไม่ได้ ถ้าวันหนึ่งผู้หญิงเลือกที่จะไม่อยู่กับผู้ชายคนนี้แล้ว สังคมต้องเข้าใจ เลิกกันไป ลูกจะอยู่อย่างไร ความคิดแบบนี้ต้องเลิก ก่อนที่ปัญหาจะบานปลายเหมือนกรณีของเอ็กซ์

“ชีวิตครอบครัว เราต้องเปลี่ยน ถ้าคนอยู่ด้วยกันไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องมีพ่อแม่ลูก ความคิดครอบครัวแบบนี้ ต้องเลิกได้แล้ว ควรจะยกเลิกไป”

“2.กระบวนการยุติธรรม เราต้องแก้กฎหมาย ทำยังไงให้เอื้อกับผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรง ถ้าวันหนึ่งผู้หญิงลุกขึ้นมาทำร้ายผู้ชาย จากเงื่อนไขที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว ก็ต้องดเว้นการดำเนินคดี เหมือนหลายๆ ประเทศ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ต้องแก้แบบนี้ให้ได้”

“เราต้องเรียนรู้ว่า ถ้าเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น คนในสังคมต้องช่วยกันชี้เป้า ช่วยกันหาทางออก บอกเจ้าหน้าที่รัฐ อย่าให้สะสม ถ้าสะสม คุณจะรู้สึกยังไง ถ้าวันหนึ่งคนข้างบ้านฆ่ากัน ดังนั้นจะมองเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ได้ การที่ผู้หญิงกลับไปคืนดีกับผู้ชาย วาทกรรม เราเป็นหมา หรือการตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ออกจากความขัดแย้ง คุณพูดอย่างนี้ไม่ได้ เพราะผู้หญิงอาจไม่มีงานทำ หรืออาจยังมีความรู้สึกห่วงลูกอยู่ วาทกรรมแบบนี้ เราต้องเปลี่ยน เราต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาหาทางออกได้มากขึ้น” 

หมอนิ่ม และแม่

“อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ การปฏิรูปตำรวจ ต้องเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยเฉพาะเรื่องประเด็นผู้หญิง ต้องมีการอบรมตำรวจ ต้องพูดถึงตำรวจให้มากขึ้น ในแง่ที่ว่า เวลาเจอปัญหาความรุนแรงในครอบครัว คุณต้องรับแจ้งความและทำให้ไม่เกิดการกระทำซ้ำมากที่สุด การปฏิรูปตำรวจเรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะถ้าทำแบบนี้ได้ จะทำให้ช่วยลดปัญหาความรุนแรงได้ เพราะตำรวจจะช่วยปรามไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำ”

จะเด็จ แนะผู้หญิงที่อาจจะเจอสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวว่า ต้องหาหน่วยงานช่วยเหลือ และอย่าปล่อยให้ความรุนแรงเกิดขึ้นครั้งที่ 2

ไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องเศร้ากับครอบครัวของตัวเอง สิ่งที่ทำได้ จะเด็จแนะนำว่าครอบครัวต้องเคารพกัน ทุกคนความเป็นมนุย์เท่ากัน ทุกคนต้องเท่ากัน ไม่ว่าครอบครัวแบบไหนไม่ควรทำร้ายกัน

“และขอฝากไปที่ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อยากให้ยึดผู้หญิงเป็ยศูนย์กลางในการแก้กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่เอาครอบครัวเป็นศูนย์กลาง”

  “ความคิดของรัฐต้องเปลี่ยน ถ้าผู้หญิงบอกเลิก คือ จบ อย่าไปโน้มน้าว ยิ่งโน้มน้าว ยิ่งนำไปสู่การฆ่า กลายเป็นเรื่องเศร้าที่ไม่มีใครอยากให้เกิด” จะเด็จทิ้งท้าย

จะเด็จ เชาวน์วิไล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image