แบทเทอร์ วูแมน ซินโดรม อาการที่ “ผู้หญิง” ไม่อยากเป็น

อาการที่ "ผู้หญิง" ไม่อยากเป็น

แบทเทอร์ วูแมน ซินโดรม อาการที่ “ผู้หญิง” ไม่อยากเป็น

คดีความรุนแรงในครอบครัว ที่เป็นที่จับตาของสังคมไทย ได้จบลงแล้วสำหรับ “คดีลอบสังหารเอ็กซ์-จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม” นักยิงปืนทีมชาติไทย ด้วยการที่ศาลฎีกาสั่งลงโทษจำคุก 25 ปี น.ส.สุรางค์ ดวงจินดา มารดาของหมอนิ่ม พ.ญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ ที่ศาลสั่งยกฟ้อง

จากคดีดังกล่าว เป็นบทเรียนให้กับสังคมไทยได้เห็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่จบลงด้วยความเศร้าของทุกฝ่าย

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ก่อนเกิดเหตุร้ายได้มีความพยายามไกล่เกลี่ยให้ทั้งคู่กับมาคืนดีกันโดยการมอบดอกไม้ และทำเงื่อนไขข้อตกลง แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะอันที่จริง ถ้าต้องมีการเยียวยาและมีเจ้าหน้าที่ดูแลติดตามจนกว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะคลี่คลาย แต่กรณีนี้ ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้แล้ว จึงเป็นอุทธาหรณ์ให้ปัจจุบันและอนาคตที่จะทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก

  “กรณี ภรรยาฆ่าสามี เป็นคดีที่เรียกว่า Battered Woman Syndrome ซึ่งเป็นอาการของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายซ้ำ มีอาการที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึก หรือรับรู้ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ได้ คล้ายๆ โมโหสุดขีด หรือไม่ไหวแล้ว”

Advertisement

  “สำหรับเคสของเอ็กซ์ หมอนิ่มไม่ได้เป็นผู้กระทำก็จริง แต่ผู้กระทำเป็นแม่ของหมอ เพราะแม่ก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพราะเปรียบเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งแม่เคยเห็นลูกสาวถูกกระทำต่อหน้า อีกทั้งยังเคยกระทำต่อหน้าหลานๆ ด้วย”

“ในคำพิพากษาที่ศาลเขียนว่า แม่ได้รับรู้ที่ลูกสาวถูกทำร้าย และแม่อยู่ในการรับรู้และมีความทุกข์ทรมานแสนสาหัส โดยกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษ เพราะคุณแม่รับสารภาพตั้งแต่ต้น”

ทั้งนี้ กลุ่มอาการโรค Battered Woman Syndrome โดยในสหรัฐอเมริกา ได้ยอมรับว่า เป็นอาการโรค และไม่มีการลงโทษผู้หญิงที่ทำร้ายสามี หากตรวจพบว่า มีอาการนี้

“แต่หลัก Battered Woman Syndrome ยังไม่มีใช้ในกฎหมายไทย แม้จะมีในกฎหมายส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว แต่กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้ใช้”

เพื่อป้องกันไม่ให้ “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” สุเพ็ญศรี ย้ำว่า สิ่งสำคัญคือ การไกล่เกลี่ยหรือทำอะไร มันไม่ต้องให้รับกลับมาสมานแผล สมานฉันท์โดยทันที อย่ารีบทำข้อตกลง หรืออย่ารีบมอบดอกไม้ คนยังโมโหกันอยู่ โกรธแค้นกันอยู่ ต้องไปปรับให้อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรงหยุดเสียก่อน ต้องมีการทำเงื่อนไขให้อีกฝ่ายเห็นว่า ยินดีจะกลับไปเป็นคู่เหมือนเดิม ก็หลายคดี ไม่ใช่คดีนี้คดีเดียว ที่มีการกลับไปอยู่ด้วยกัน แล้วขาดการดูแลติดตาม มันเหมือนกับทำเงื่อนไขแล้ว ตกลงกันแล้วก็กลับไปอยู่ด้วยกันทันที

“บทเรียนในการดำเนินการไกล่เกลี่ย คดีความรุนแรงในครอบครัว ควรมีการดูแลติดตามจนครบเงื่อนไขของกฎหมาย และกำหนดระยะเวลา ก่อนที่จะปล่อยให้เค้าไปอยู่กันฉันสามีภรรยา หรือเป็นครอบครัว”

หัวใจสำคัญคือ “เจ้าหน้าที่” หน่วยงานที่ต้องดูแลให้เป็นไปตามเงื่อนไข

“ถ้าการดำเนินการเป็นไปตาม ม.10 ม.11 ม.12 เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของกรมกิจการสตรีฯ ต้องไปดูแลติดตาม เพราะกฎหมายเขียนว่าให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดกระบวนการดูแลติดตามการดำเนินการตาม  ม.10 ม.11 ม.12 ของกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว”

อย่างไรก็ตาม หากผู้หญิงไม่ต้องการไกล่เกลี่ย แต่ต้องการเลิกอย่างเดียว สุเพ็ญศรี ก็ย้ำว่า ถ้าจะเลิกก็ต้องเลิก ไม่ควรบังคับให้ไปอยู่ด้วยกัน เมื่อเลิกกันแล้ว จะมาทำดีต่อกัน กลับมาอยู่ด้วยกัน ก็ไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อมีความรุนแรง หลักสำคัญคือเจ้าหน้าที่สามารถแทรกแซงตามกฎหมาย  เจ้าหน้าที่สามารถแทรกแซง โดยเข้าไปดูแลช่วยเหลือ ระงับเหตุ และเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพ”

“สิ่งสำคัญ กรมกิจการสตรีฯ ต้องทำงานเชิงรุก ต้องลงทุนเพิ่ม ไม่ใช่มีแค่แอพพ์แฟมิลี่ไลน์ เข้าไปเขียนอย่างเดียวไม่พอ ต้องเปลี่ยนระบบเป็นฮอตไลน์ และอีกเรื่องเสนอว่า กรณีที่ผู้กระทำ -ผู้ถูกกระทำมีสถานะทางสังคมสูง จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ธรรมดามาทำเองไม่ได้ อาจจะต้องเป็นระดับหัวหน้าส่วนราชการ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามม.10 และอยู่ที่กรม อจจะต้องเป็นระดับผู้อำนวยการเข้ามาช่วยดูแลดำเนินการ”

“เรื่องความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่ให้ใครมาทำก็ได้ แต่ควรเป็นคนที่ได้รับการฝึกอบรมเรื่องความรุนแรงที่มีเหตุของมิติเพศสถานะหรือเพศสภาพ มันเป็นเรื่องของมิติปิตาธิปไตย ความรุนแรงที่มาจากเหตุแห่งเพศ สถานะเหนือ หรือบริบทที่ถูกอบรมมาคนละแบบอย่าง”

“อีกหน่วยงานที่ต้องให้ความสำคัญคือ “ตำรวจ” ที่เมื่อผู้ถูกกระทำไปแจ้งความ ตำรวจต้องรับเป็นคดี เพราะถ้าไม่รับก็อาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงซ้ำเพิ่มได้”

สุดท้าย สุเพ็ญศรี กล่าวว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดเพียงกรณีนี้กรณีเดียว ขณะนี้มีผู้หญิงหลายคน และอีกหลายครอบครัวต้องประสบกับเหตุการณ์นี้ และคนที่อดทนมากๆ เราพบว่า เป็นผู้หญิง

“ในเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเรา เราสามารถดูแลป้องกันได้ แต่หากเรายังอยู่ในจุดนั้น เราอาจจะดูแลป้องกันตัวเองไม่ได้ ให้เราออกมาจากจุดนั้น วิธีการก็คือ บางทีต้องหักดิบ ถ้าเราออกมาตั้งหลักก่อน ขณะนี้ ที่มูลนิธิฯ เราจะมีเครือข่ายผู้หญิงก้าวข้ามความรุนแรง ผู้หญิงกลุ่มนี้ บางคนเคยถูกเผาเกือบจะเสียชีวิต หรือผู้หญิงที่เคยถูกสามีทำร้าย ณ วันหนึ่งก็คิดว่า ตัวเรามีศักดิ์ศรี การอยู่แบบนี้ไม่ใช่การอยู่กันอย่างสามีภรรยา ไม่ใช่ครอบครัวแล้ว ถ้าเราอยู่ไป รังแต่อันตรายจะเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น เราต้องหยุด เราต้องเอากฎหมายมาใช้”

  “ที่สำคัญ เรามีสิทธิ และเราสามารถดำเนินคดีได้ ผู้หญิงทุกคนที่เคยถูกทำร้าย และก้าวข้ามความรุนแรง ทุกคนพูดว่า เราเกิดมา เรามีชีวิต เรามีศักดิ์ศรี คนที่ทำให้เราไม่มีชีวิตไม่ศักดิ์ศรี เราไม่ควรอยู่กับเค้าต่อไป”

  “ดั่งคำว่า ทิชา ณ นคร ที่บอกว่า ความเป็นสามีภรรยาไซร้ไม่นิรันดร์ ความเป็นพ่อแม่ไซร้คือนิรันดร์ พ่อและแม่ตัดยังไงก็ตัดไม่ได้ ไม่ว่ากฎธรรมชาติหรือกฎหมาย”

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image