ตัวละคร ‘หญิง’ ในจอ อินสปายร์ในชีวิตจริง

ตัวละคร ‘หญิง’ ในจอ อินสปายร์ในชีวิตจริง

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า หนังสือเล่มเดิม ความรู้สึก มุมมอง หรือทัศนคติขณะที่อ่านตอนเป็นเด็ก เมื่อเวลาผ่านไปเป็นผู้ใหญ่ กลับมาอ่านอีกครั้งจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป เช่นเดียวกับการดูภาพยนตร์ ซีรีส์ ละคร ที่บางเรื่องเป็นเรื่องโปรดในดวงใจ วนกลับมาดูซ้ำๆ เพราะทุกครั้งที่ดูก็ราวกับได้เรียนรู้บางสิ่ง รับแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ

ในสตรีมมิ่ง “ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์” ก็มีคอนเทนต์ที่นำเสนอเรื่องราวของ “ผู้หญิง” ที่สร้างแรงบันดาลใจได้ครบทุกวัยและน่าสนใจ

โดยเริ่มที่ว้าวุ่นสไตล์วัยทีนไปกับ “เม็ก กริฟฟิน” ใน Family Guy ลูกสาวที่มักจะถูกบูลลี่และไม่ค่อยมีใครสนใจ แต่ตลอดช่วงเวลาที่เธอเติบโต เม็กก็เหมือนสาววัยรุ่นทั่วไปที่อยากทำให้ชีวิตเธอดีกว่านี้ มีความรักและหาแฟนดีๆ ให้ได้ซักคน เธอต่อสู้เพื่อก้าวข้ามการไม่ยอมรับในตัวตนของเธอทั้งจากคนในครอบครัวของเธอและคนรอบข้าง คล้ายกับชีวิตของหลายคนที่ต้องเจอกับบทพิสูจน์ ซึ่งบทเรียนที่เม็กได้รับอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคนก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าในแบบที่เลือกได้เหมือนกัน

เม็ก กริฟฟิน

ต่อด้วยเพื่อนหญิงพลังหญิง ฮีโร่ในจักรวาลมาร์เวล อย่าง “นาตาชา โรมานอฟ” ใน Black Widow ที่ในภาคแยกนี้เผยถึงอดีตและที่มาก่อนเข้าร่วมทีมอเวนเจอร์ส นาตาชา คือสมาชิกหญิงในทีมที่เข้มแข็ง และมีความสามารถไม่น้อยไปกว่าฮีโร่ชาย แม้จะไม่ได้มีความสามารถพิเศษอลังการ ทว่า “อาวุธ” ของสาวแกร่งคนนี้จะใช้อยู่ที่จิตใจหรือไม่ สลัดเธอให้ออกจากตัวละครหญิงที่ถูกจับไปโยงว่าแอบกิ๊กกับตัวละครชายใดหรือไม่ แต่เป็นเพราะเธอมีความสามารถ เช่นเดียวกับสังคมในยุคปัจจุบันที่ในระดับบริหารสัดส่วนผู้หญิงก็ยังน้อยกว่าชาย

Advertisement
นาตาชา โรมานอฟ

หรือจะเรียนรู้ที่จะเก่งและแกร่งในวัย 40+ แบบ “โอลิเวีย โป๊บ” ใน Scandal ด้วยหน้าที่การงานด้านการสื่อสารและการต้องจัดการกับวิกฤตด้านการสื่อสาร ผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างโอลิเวียกลับรับมือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสายได้อย่างชาญฉลาด คือความสนุกของการติดตามเรื่องราวของเธอ โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับแวดวงการเมืองในวอชิงตัน ดี.ซี. ต้องอาศัยความเฉียบและความเด็ดขาดในแบบฉบับของผู้หญิงคนนี้เท่านั้นถึงจะเอาตัวรอดไปได้ ชิงไหว ชิงพริบ

โอลิเวีย โป๊บ

ต่อด้วยคาแร็กเตอร์ในตำนาน ที่เป็นแรงบันดาลใจและต้นแบบชีวิตของเวิร์กกิ้ง วูแมน หลายๆ คน จำกัดความได้ว่า “เติบใหญ่ให้เก่งและน่าเกรงขาม” แบบ “มิแรนดา พรีสลีย์” ใน The Devil Wears Prada บรรณาธิการนิตยสาร Runway ผู้ทรงอิทธิพลในโลกแฟชั่น

ซึ่ง ลอว์เรน ไวส์เบอร์เกอร์ ผู้แต่งนิยายต้นฉบับเคยทำงานเป็นผู้ช่วยแอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก สหรัฐ ถอดแบบมาจากอดีตเจ้านาย แต่นักแสดงผู้มารับบทมิแรนดาในหนังอย่าง “เมอริล สตรีพ” เลือกตีความตัวละครนี้ในแบบของเธอเอง จนทำให้มิแรนดาเป็นตัวละครที่ทั้งน่าเกรงขาม ดูเหมือนเย็นชาไร้หัวใจ และโฟกัสกับงานเป็นหลักจนดูเหมือนไม่แคร์ใคร

ทว่าเธอก็เป็นคนที่มีหัวใจเหมือนกัน นอกเหนือจากเรื่องราวที่น่าติดตามและแฟชั่นการแต่งกายสุดโดดเด่น แรงบันดาลใจที่สาวๆ น่าจะได้จากการสังเกตตัวละครมิแรนดา คงจะเป็นเรื่องของการบาลานซ์หน้าที่การงานกับชีวิตส่วนตัวให้พอเหมาะ เพราะแม้เส้นทางอาชีพของเธอจะรุ่งโรจน์และทรงอิทธิพล แต่หากเรื่องส่วนตัวกลับล้มเหลวไม่เป็นท่า และต้องหย่ากับสามี มันจะมีประโยชน์อะไร

มิแรนดา พรีสลีย์

ปิดท้ายที่ผู้หญิงสายสตรองในวัย 60+ อย่าง ป้าเฟิร์น จาก Nomadland บทบาทสุดเข้มข้นที่ทำให้ ฟรานเซส แมคดอร์มานด์ คว้ารางวัลออสการ์นำหญิงเป็นครั้งที่ 3 แถมตัวภาพยนตร์ยังชนะออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาแล้วด้วย กับเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่ออกเดินทางรอนแรมไปทั่วอเมริกาและอาศัยรถแวนของเธอเป็นบ้าน เพราะเธอได้สูญเสียทั้งงานที่เคยทำและสามีที่เคยอยู่ร่วมกันไปก่อน

รถแวนของเธอจึงไม่ใช่เพียงสมบัติติดตัวชิ้นใหญ่แต่เป็นที่ที่เลือกวางหัวใจไว้ตรงนั้น และให้มันพาเธอไปในทุกที่ที่เธอต้องการ ในระหว่างที่รับจ๊อบเล็กจ๊อบน้อยไปด้วยระหว่างการเดินทางเพื่อยังชีพ และอาจจะเป็นเพราะการเดินทางทั้งหมดนี้เองที่พาให้เธอได้พบเจอประสบการณ์แห่งความทรงจำกับเพื่อนๆ ระหว่างทาง เป็นบันทึกความทรงจำที่ยิ่งใหญ่และเป็นการผจญภัยที่น้อยคนจะได้พบในวัยที่หลายคนมองว่าต้องเกษียณและหยุดทำงานแล้ว

ป้าเฟิร์นคือบทพิสูจน์ว่า ชีวิตนั้นเป็นของเรา และเราเป็นผู้กำหนดชีวิตในแบบที่เราต้องการได้เสมอ

ป้าเฟิร์น
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image