‘หนี้สินรุมเร้า’ อย่าเพิ่งหมดหวัง ทุกปัญหามี “ทางออก” เสมอ

หนี้สิน

‘หนี้สินรุมเร้า’ อย่าเพิ่งหมดหวัง ทุกปัญหามี “ทางออก” เสมอ

ทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดไม่มากก็น้อย ในภาวะที่หลายคนรายได้ลดลง ทำงานไม่ได้ ตกงาน หากมีเงินเก็บ ก็สามารถใช้แก้ขัดไปพลางก่อน หากไม่มีก็ยังพอไปหยิบยืมกู้มา

ทว่าด้วยโรคอุบัติใหม่กลับยาวนานกว่าทุกวิกฤตที่ผ่านมา ทำให้เงินเก็บหมด กู้เพิ่มไม่ได้เพราะเต็มเพดาน เป็นภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง ตกอยู่ในสถานการณ์ ‘หนี้สินรุมเร้า’ ก่อนจะเลือกตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ลองเข้ามาขอคำปรึกษากับ สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ปัญหาก็จะค่อยๆ คลี่คลายเหมือนหลายๆ คนที่เคยหนัก แต่ก็ผ่านมาได้

นางสุทธินี เมธีประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยฯ เล่าว่า สมาคมรับให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับคนทุกคน ไม่เพียงผู้หญิง หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ประสบปัญหาครอบครัว ตลอดจนประสบปัญหาหนี้สิน สามารถเข้ามาขอคำปรึกษาได้ โดยสำหรับปัญหาหนี้สินถือเป็นเรื่องที่คนเข้ามาขอคำปรึกษามากเป็นลำดับที่ 2 รองจากเรื่องปัญหาครอบครัว แต่มีแนวโน้มจะแซงขึ้นเป็นลำดับที่ 1 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด

นายกสมาคมฯ อธิบายปัญหาหนี้สินที่เข้ามาขอคำปรึกษาแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.หนี้สินที่ตั้งใจ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับกรณีหนี้สินจากการลงทุน เช่น เอาหลักทรัพย์ไปค้ำประกันเพื่อการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ เป็นต้น รองลงมาเป็นหนี้สินจากการอุปโภคบริโภค เช่น การผ่อนรถยนต์ ผ่อนบ้าน ผ่อนแอร์ เป็นต้น อยากได้อยากมีจนรายจ่ายมากกว่ารายรับ นอกนั้น เป็นหนี้สินจากการกู้เรียน หนี้สินจากการกู้ยืมเพื่อมาดูแลครอบครัว

Advertisement

และ 2.หนี้สินที่ไม่ตั้งใจ มีตั้งแต่หนี้สินที่เกิดจากการไปค้ำประกันให้คนอื่น เช่น ค้ำประกันเพื่อนเข้าทำงานแล้วเพื่อนไปโกงบริษัท ค้ำประกันให้คนอื่นกู้เงินธนาคารแล้วผิดนัดชำระ รวมถึงหนี้ที่ไม่ถูกกฎหมาย เช่น หนี้จากการพนัน หนี้ยาเสพติด หนี้หวย ตลอดจนหนี้จากความประมาท เช่น ขับรถยนต์ไปชนเขาแล้วต้องชดใช้ แต่รถยนต์เราไม่มีประกัน

  “แต่ละคนที่เข้ามามีมูลค่าหนี้แตกต่างกัน อย่างชาวบ้านทั่วไปมีหนี้สินมูลค่าหลักพันบาทจนถึงหลักหมื่นบาท แต่บางคนก็มีหนี้สินเป็นหลักแสน เพราะไปกู้มาลงทุนแล้วธุรกิจไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งเคสส่วนใหญ่ที่เข้ามา คืออยู่ในขั้นการผิดนัดชำระหนี้ จนเจ้าหนี้ต้องทวงถาม และเตรียมส่งฟ้องแล้ว บางเคสก็ถึงขั้นศาลสั่งบังคับคดี หรือเตรียมยึดทรัพย์แล้ว แต่เราก็ช่วยเต็มที่ทุกเคส”

นางสุทธินี เมธีประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยฯ
‘หนี้สินรุมเร้า’ อย่าเพิ่งหมดหวัง ทุกปัญหามี “ทางออก” เสมอ

นางสุทธินี เล่าอีกว่า จริงๆ มีหนี้ก็ต้องชำระ แต่เราจะช่วยในแง่ว่าเป็นตัวกลางช่วยเจรจา สมมุติเคสหนึ่งเข้ามา เริ่มแรกจะดูมูลหนี้และสอบถามลูกหนี้ว่าสามารถชำระได้ไหม แล้วเรียกเจ้าหนี้มาพูดคุย ก็มีตั้งแต่การขอแปลงหนี้ใหม่ หรือขอขยายเวลา หาหลักประกันใหม่ ขณะเดียวกันหากพบว่าเจ้าหนี้กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่ากฎหมายกำหนด คือ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ประกาศเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 ให้ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 3 ต่อปี และหากผิดนัดชำระหนี้เพิ่มร้อยละ 2 รวมไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปีหรือไม่

Advertisement

  “แต่ละเคสก็ช่วยแตกต่างกันไป บางเคสเคยผ่อนดอกเบี้ยร้อยละ 10 เราก็เจรจาขอลดเหลือผ่อนร้อยละ 3 ตามกฎหมายใหม่ได้ บางเคสผ่อนดอกเบี้ยมาตลอด เงินต้นไม่ลด ปรากฏว่าวันนึงมีเงินก้อนแล้วอยากจะโปะลดเงินต้น เราก็ช่วยเจรจาให้ว่าขอลดดอกเบี้ยได้ไหม ตอนนี้มีกฎหมายใหม่แล้วนะ หากคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด คุณมีโอกาสติดคุกได้นะ”

  “หรืออีกเคสที่สามีปิดบังภรรยามาตลอดว่าไม่มีหนี้สิน จนเรื่องมาโป๊ะแตกเมื่อศาลเตรียมสั่งบังคับคดี พบว่าจากหนี้ที่เคยกู้ยืมมา 5 พัน เพิ่มเป็น 5 หมื่น ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายเก่าที่เรียกได้ เราก็ต่อสู้ให้ ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ นำสืบใหม่ สุดท้ายลูกหนี้สามารถชำระหนี้ 5 พันแล้วจบไป ถือเป็นคดีหนี้ที่ฉ้อฉนที่เราภูมิใจมาก”

ส่วนหนี้นอกระบบทางสมาคมก็รับช่วยเหลือ เริ่มต้นที่การเรียกมาเจรจาเช่นกัน

“บางทีพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง เราท้าให้เจ้าหนี้นอกระบบไปฟ้องศาลเลย เพราะกฎหมายการทวงหนี้ก็แรงอยู่ ไม่ว่ากรณียึดทรัพย์ต้องเป็นคำสั่งศาลเท่านั้น เจ้าหนี้นอกระบบจะมายึดเองไม่ได้ การทวงหนี้ก็มีขอบเขตที่ทำได้ และทำไม่ได้ เช่น ทวงวันจันทร์ถึงศุกร์ ต้องทวงระหว่างเวลา 08.00-20.00 น. ได้ 1 ครั้งต่อวัน และต้องทวงกับเจ้าของเท่านั้น จะมาด่าประจาน โพสต์ลงเฟซบุ๊ก ข่มขู่ ใช้ความรุนแรงกับลูกหนี้แบบสมัยก่อน ทำไม่ได้ ถือว่าผิดกฎหมาย โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท”

“จริงๆ คนทวงหนี้ได้สมัยนี้ ต้องจดเป็นบริษัทนิติบุคคล เวลาจะไปทวงต้องติดบัตรแสดงตัวว่ามาจากไหน อ่านรายละเอียดในเอกสารให้ลูกหนี้ฟังว่าติดหนี้เท่าไหร่ ยังไง ซึ่งโดยรวมถือว่ากฎหมายคุ้มครองลูกหนี้พอสมควร อาจจะด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่รัฐบาลเห็นว่าหลายกิจการต้องหยุด คนไม่สามารถชำระหนี้ได้”

นายกสมาคมตั้งข้อสังเกตกับการกู้เงินนอกระบบว่า มักตั้งอัตราดอกเบี้ยอัตราเดียวตลอด แตกต่างจากสถาบันการเงินทั่วไป สมมุติยืมเงินมา 1 หมื่นบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี หรือคิดเป็นเงิน 300 บาท จะเฉลี่ยต่อเดือนจ่ายดอกเบี้ย 25 บาท สมมุติผ่อนคืนเดือนละ 1,000 บาท เดือนแรกจะต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย 1,025 บาท เดือนต่อไปจะจ่ายเงินต้น 1,000 บาท และอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงตามเงินต้นที่ลดแบบขั้นบันได ฉะนั้นไม่ควรก่อหนี้นอกระบบ

  “หากจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพ ให้หาแหล่งทุนที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น ผู้หญิงอยากประกอบอาชีพติดต่อขอทุนประกอบอาชีพกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ผู้พิการอยากประกอบอาชีพติดต่อกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผู้สูงอายุติดต่อกองทุนผู้สูงอายุ เป็นต้น แต่ช่วงนี้ก็ควรระมัดระวังในการลงทุนด้วย”

“ส่วนคนทั่วไปที่มีหนี้สินจากการอยากได้อยากมีเหมือนคนอื่นๆ อยากให้พิจารณาถึงความจำเป็นก่อน จะเห็นได้ต้องเริ่มต้นจากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายครัวเรือน เพื่อจะบริหารการเงินของตัวเอง อีกทั้งสร้างวินัยการออมเงิน ใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะประคองชีวิตอยู่รอดในวิกฤตนี้ได้”

นางสุทธินีแนะนำทิ้งท้ายว่า ก็อยากให้ลูกหนี้ทุกคนอย่าโทษตัวเอง อย่าคิดอย่างโดดเดี่ยว และอายที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะหลายสมองช่วยกันคิด อาจหาทางช่วยกันได้ ฉะนั้นสามารถมาขอคำปรึกษาและช่วยเหลือได้ที่สมาคมฯ หรือโทร.0-2241-0737 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ “เพื่อนครอบครัว.com” ของกรมสค. ที่สมาคมส่งทนายไปช่วยให้คำปรึกษากฎหมาย ไม่มีค่าใช้จ่าย

‘หนี้สินรุมเร้า’ อย่าเพิ่งหมดหวัง ทุกปัญหามี “ทางออก” เสมอ
‘หนี้สินรุมเร้า’ อย่าเพิ่งหมดหวัง ทุกปัญหามี “ทางออก” เสมอ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image