สกู๊ปหน้า 1 : ถอดบทเรียน ‘หนึ่ง-จักรวาล’

สกู๊ปหน้า 1 : ถอดบทเรียน ‘หนึ่ง-จักรวาล’

กรณี ‘หนึ่ง-จักรวาล เสาธงยุติธรรม’ นักดนตรีและโปรดิวเซอร์เพลงชื่อดัง โพสต์แสดงความรักลูกสาววัย 9 ขวบ มีการล้วงเสื้อไปจับพุง รวมถึงก้นลูกสาว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ บางคนมองว่าไม่เหมาะสม ส่วนบางคนก็มองเป็นเรื่องปกติ เพราะครอบครัวตัวเองก็ทำนั้น แม้ภายหลังเจ้าตัวจะออกมาขอโทษและลบคลิปแล้ว แต่ถือเป็นโอกาสให้สังคมไทยเรียนรู้

นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และอดีตนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สังคมไทยตระหนักมากขึ้น ถึงการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว ว่าการแสดงออกความรักแค่ไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม

อย่างกรณีนี้หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงและกังวลว่าจะมีเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศ หลักทางด้านจิตวิทยาครอบครัว การนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศได้ จะมีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ

Advertisement

1.ระบบของพ่อแม่ไม่ทำงาน หมายความว่า แม่ไม่มีบทบาทในการดูแลลูก อย่างกรณีที่เป็นข่าวเป็นลักษณะของครอบครัวที่ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ภาพที่เผยแพร่ออกมาส่วนใหญ่แล้วแม่เป็นผู้ถ่ายรูปหรือวิดีโอเอง แสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อ แม่ ลูก

2.การล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนใหญ่จะเก็บเป็นความลับ หรือระบบปิด ไม่มีการเปิดเผยสู่ภายนอก แต่กรณีดังกล่าวแสดงออกอย่างเปิดเผยบริสุทธิ์ใจ ในการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ตัวผู้กระทำเองมีการยอมรับอย่างเปิดใจกว้าง ในการเรียนรู้และปรับปรุงเรื่องแสดงออกกับลูก ฉะนั้นถือว่าไม่เข้าข่ายการล่วงละเมิด

“ต้องแยกให้ออกระหว่างการล่วงละเมิดทางเพศในครอบครัว กับการปฏิบัติไม่เหมาะสม อย่างเรื่องละเมิดเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ส่วนเรื่องปฏิบัติไม่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ปรับตัวได้ 2 เรื่องนี้จึงเอามารวมกันไม่ได้ แต่กลายเป็นว่าขณะนี้โซเชียลนำ
2 เรื่องนี้มาปนกันไปหมด และมองว่าครอบครัวนี้ล่วงละเมิด ฉะนั้นต้องพึงระวังและเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ ก็จะสามารถช่วยเหลือครอบครัวที่มีปัญหาจริงๆ ได้”

Advertisement

ส่วนการแสดงออกเรื่องความรักในครอบครัวอย่างเหมาะสมต้องเป็นอย่างไร นายแพทย์ยงยุทธแนะนำว่า ขึ้นอยู่กับวัยของเด็ก ในทางการแพทย์มองว่า 3 ขวบขึ้นไป สามารถเรียนรู้เรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกายได้แล้ว เพราะการกระทำเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กอายุน้อยๆ เด็กและครอบครัวสามารถเรียนรู้ได้ผ่านหนังสือภาพ หนังสือนิทาน การสอน ในครอบครัว ตลอดจนการสอนในโรงเรียน ควรต้องสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล อย่างไรก็ตาม การแสดงความรักในครอบครัวเป็นเรื่องที่ดี หลักทางด้านจิตวิทยาครอบครัว การแสดงความรักความใกล้ชิดสามารถแสดงออกได้ทางคำพูดและท่าทางรวมทั้งการสัมผัสการโอบกอด

เรื่องที่ทุกครอบครัวต้องเรียนรู้คือการแสดงความรักต้องเหมาะสมกับวัย เนื่องจากทั้งเด็กและวัยรุ่น ต้องเรียนรู้ที่จะปกป้องตนเอง เรียนรู้จากโรงเรียน จากพ่อแม่ หรือจากสื่อที่เกี่ยวข้องในเรื่องอวัยวะที่เป็นส่วนตัว ไม่ควรละเมิด เช่น หน้าอก อวัยวะเพศ ก้น หากใครทำกับเด็กด้วยพฤติกรรมเหล่านี้ นั่นแสดงว่าเป็นการแสดงออกที่ไม่ดี

“จริงๆ ยังมีเรื่องการสื่อสารที่ดีในครอบครัว ที่ครอบครัวต้องเรียนรู้ เช่น การไม่ตะโกนใส่ลูก การรับฟังลูกด้วยการสบตา หยักหน้า การพูดคุยกับลูกด้วยวิธีแลกเปลี่ยนความรู้สึก ไม่ใช่การสั่ง เหล่านี้เป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว” นายแพทย์ยงยุทธกล่าว

ขณะที่ น.ส.วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมองเป็นเรื่องการขาดทักษะ คือไม่รู้เรื่องขอบเขตการปฏิบัติต่อลูก ไม่ทราบเรื่องไม่ควรทำ การเลี้ยงลูกส่วนหนึ่งต้องเข้าใจพัฒนาการเด็กด้วย จริงอยู่ว่าการสัมผัสสำคัญในการดูแลเด็ก แต่ทำได้ในเด็กเล็กเท่านั้น เช่น โอบกอด โดยเฉพาะเด็กวัย 1-2 ขวบการสัมผัสเป็นสิ่งจำเป็น แต่พอเริ่มโตแล้ว เด็กควรมีอิสรภาพและต้องรู้จักพึ่งพาตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมสู่สังคมภายนอก

“อยากฝากถึงทุกคนเวลาคนถ่ายรูปลูกลงเฟซบุ๊ก หรือสื่อโซเชียล ให้คนทั่วไปเห็นนี่เป็นการทิ้งร่องรอยอย่างหนึ่ง หากบันทึก เรื่องดี มันก็ดี แต่บางคนอาจเก็บรูปภาพตลก เช่น นุ่งน้อยห่มน้อย หากนึกถึงการเคารพสิทธิเด็ก ต้องคิดว่าเด็กไม่ใช่สมบัติของเราหรือของใคร แต่คือตัวตนและสิทธิของเขา ฉะนั้นเราต้องเคารพ ลองคิดว่าตอนนี้ที่เราเลี้ยงดูเด็ก เขาไม่ได้มีส่วนร่วมตัดสินใจกับการโพสต์ แต่พอเขาเติบโตขึ้นมา เขาอาจไม่พอใจกับโพสต์ในอดีตก็ได้ ฉะนั้นต้องระวัง ด้วยการเริ่มต้น ไม่บันทึกรูปไม่บังควร หรือสมมุติเหตุการณ์ง่ายๆ เรากำลังยืนรอรับของช่วยโควิด-19 แล้วมีคนมาถ่ายภาพเรากำลังยืนรอท่ามกลางคนมากมาย เราจะโอเคไหม เขาขออนุญาตเราหรือยัง ฉะนั้นสังคมไทยควรเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน”

เชื่อว่าการป้องกันสำคัญกว่าการตามแก้ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก จึงทำโครงการตัวฉันเป็นของฉัน เผยแพร่สื่อการเรียนรู้สร้างทักษะให้เด็กระวังภัยที่จะเข้ามา ในเว็บไซต์ www.feelingyesnothailand.com ตั้งแต่การเรียนรู้ร่างกายของฉัน การดูแลตัวเอง ของสงวน อีกทั้งนำบทเรียนเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงและละเมิดทางเพศ มาเป็นเคสตัวอย่างหาจุดเริ่มต้นก่อนถูกกระทำ เพื่อเตือนให้เด็กได้ประเมินสถานการณ์ เช่น แม่ใช้ให้เอาของไปให้คนข้างบ้าน ผู้ใหญ่มาถามทางแล้วชวนเด็กไปด้วย เป็นต้น หากเด็กวิเคราะห์เองแล้วว่าไม่ปลอดภัย ก็ให้รู้จักปฏิเสธและบอกผู้ใหญ่ให้รับทราบ ขณะที่เร็วๆ นี้ เตรียมเปิดตัวบอร์ดเกมรวมพลังเด็กพิทักษ์ความปลอดภัย เป็นบอร์ดเกมเพื่อความปลอดภัย จำลองสถานการณ์ให้เด็กได้เรียนรู้และคิด

“ตอนนี้ภัยออนไลน์ร้ายแรงมาก นับวันคนไม่ดีพยายามจะเข้าถึงเด็กด้วยวิธีเลียบๆ เคียงๆ แรกๆ อาจไม่ทำอะไร เพื่อสร้างความไว้วางใจ ก่อนนำไปสู่การล่วงละเมิด บางคนถ่ายคลิปวิดีโอแบล๊กเมล์ แล้วชวนเด็กไปมีเพศสัมพันธ์ด้วย เด็กหลายคนตกเป็นเหยื่อ บางคนเคสหาประโยชน์จากเด็กได้แล้ว ก็ชวนคนอื่นมาหาประโยชน์ด้วยเหมือนการค้ามนุษย์ ฉะนั้นอยากให้พ่อแม่เข้าไปดาวน์โหลดชุดความรู้นี้ เริ่มต้นสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กตั้งแต่ในบ้าน” น.ส.วาสนากล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image