บทเรียนมากกว่า 10 ปี เมื่อผู้หญิงต้องสู้! ศึกการเมืองท้องถิ่น

บทเรียนมากกว่า 10 ปี เมื่อผู้หญิงต้องสู้! ศึกการเมืองท้องถิ่น

นับเป็น “การเลือกตั้ง” ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในรอบ 7-8 ปีของประเทศไทย ส่งผลให้สนามการเมืองท้องถิ่นอย่างการเลือกตั้งองค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วย “สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบล” และ “นายกองค์การบริหารส่วนตำบล” ที่ กกต.กำหนดเปิดรับสมัครในวันที่ 11-15 ตุลาคมที่ผ่านมา และหย่อนบัตรกันในวันที่ 28 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ได้รับความสนใจและจับตามองอย่าง “ใส่ใจ” จากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งและผู้ที่มีสิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

ที่สำคัญรูปแบบการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็เปลี่ยนไปไม่น้อย ทั้งกฎหมายการเลือกตั้งที่เข้มงวดมากขึ้น มากไปกว่านั้น ในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เรื่อง “สัดส่วนของผู้สมัครรับเลือกตั้งหญิง” ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ เพราะสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทผู้นำและการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัยเส้นทางการเมืองสำหรับผู้หญิงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา โดย เรืองรวี พิชัยกุล จึงได้จัดงานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “วาระผู้หญิงต้องสู้…เลือกตั้งอบต.” ในรายการ เจนเดอร์ ทอล์ก (Gender Talk) ชวนมาพูดคุยกับอดีตนายก อบต.หญิง และอดีตสมาชิก อบต.หญิง ผู้นำหญิงทั้ง 3 คนที่คว่ำหวอดอยู่ในสนามการเมืองท้องถิ่นมามากกว่า 25 ปี!

ถอดบทเรียนการต่อสู้ การทำงานเพื่อชุมชน ประสบการณ์และแนวคิดทางการเมืองได้อย่างน่าสนใจ

Advertisement

การเมืองไม่ใช่เรื่องสนุก
แต่ทำไมถึงอยากอยู่ในการเมือง

เรืองระวี – ศิริพร – สมศรี – ณัฐนันท์ (จากซ้ายไปขวา)

เริ่มที่หญิงแกร่งคนแรก สมศรี ผิวดี อดีตสมาชิก อบต.คลองประสงค์ อ.เมือง จ.กระบี่ นักการเมืองผู้หญิงในตำบลเล็กๆ บนเกาะเล็กๆ ที่มี 4 หมู่บ้าน ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบต.ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2548-ปัจจุบัน ผ่านมาแล้ว 3 สมัย เรียกว่า ส.อบต.สมศรี โลดแล่นอยู่บนสนามการเมืองมาแล้วถึง 16 ปี จากผู้หญิงติดบ้านที่มีภาระครอบครัวต้องดูแลแม่ซึ่งป่วยติดเตียง อาศัยอาชีพแม่ค้าขายของจิปาถะในหมู่บ้าน ขับเรือและวิ่งเรือรับจ้างเป็นอาชีพเสริม สู่สังเวียนการเมืองที่ครั้งหนึ่งมีคนถามเธอว่า “ทำไมถึงชอบเล่นการเมือง”

สมศรีตอบว่า บางทีอาจจะเริ่มต้นจากการ “ชอบอ่านหนังสือพิมพ์” มักจะเลือกอ่านส่วนของข่าวการเมือง แต่ก็ยังไม่คิดว่าจะลงเล่นจริงจัง กระทั่งวันที่พาทีมกีฬาแข่งขันพายเรือหญิงยื่นขอความสนับสนุนด้านอุปกรณ์จาก อบต.แต่ไม่มีการตอบรับ ประกอบกับเป็นคนที่คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านทำให้มองเห็นปัญหาของชุมชนที่ไม่ได้รับการแก้ไข เป็นตัวจุดประกายสู่การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก อบต.

“พอเริ่มสมัครก็ได้รับคำดูถูกทันที ‘ผู้หญิงหรือจะสู้ผู้ชายได้’ ตรงนี้คือจุดเปลี่ยนเลยนะที่ทำให้ฮึดสู้มากๆ ทีมผู้ช่วยหาเสียงของสมศรีเป็นผู้หญิงล้วน ลงสมัครครั้งแรกก็ได้รับเลือกเลย จนถึงตอนนี้ผ่านมา 3 สมัยก็ได้ผลคะแนนเป็นอันดับหนึ่งและได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 50% ของชาวบ้านทั้งหมดทุกครั้ง” สมศรีกล่าว และเผยรูปแบบการทำงานในแบบฉบับของเธอว่า ถือคติ “ใช้ให้ทำอะไร ทำอย่างเดียว ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้”

Advertisement

ต่อด้วย ณัฐนันท์ หูไธสง หรือ นายกมด อดีตนายก อบต.หนองแวง อ.บ้านใหม่ชัยพจน์ จ.บุรีรัมย์ ที่ลงเล่นการเมืองมาอย่างยาวนานตั้งแต่ พ.ศ.2540 (อายุ 28 ปี) จนถึงปัจจุบันอายุ 53 ปี เรียกว่าคว่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเมืองมานานถึง 25 ปี โดยนายกมดเผยถึงสิ่งที่ทำให้ทำงานตรงนี้ได้นานว่าเป็นเพราะ “ใจรัก”

“ดิฉันเรียนจบวิทยาลัยครู เอกภาษาไทย เป็นครูอยู่ 2 ปี ก่อนกลับมาอยู่บ้านขายหวยเพราะพ่อแม่ไม่มีคนอยู่ด้วย จนหมู่บ้านจะยกระดับจากสภาตำบลเป็น อบต. พ่อก็บอกว่าลองไปเป็น อบต.ดูไหม เพราะในหมู่บ้านตอนนั้นก็มีดิฉันที่เรียนจบปริญญาตรี ขึ้นสังเวียนครั้งแรก เป็น “เด็กผู้หญิง” คนเดียวในจังหวัดที่ลงสมัคร อบต.ในขณะนั้น แถมยังอายุน้อยที่สุด ต้องเรียกสมาชิก อบต.คนอื่นๆ ว่า “พ่อ” เพราะทุกคนอายุประมาณ 58-60 ขึ้นหมด

การทำงานของนายกมดในสมัยแรกจึงเป็นการเรียนรู้ อันไหนที่ผู้ใหญ่แนะนำดิฉันก็ต้องทำให้ได้ ถามว่าเป็นครูกับนักการเมือง มันคนละแบบกันเลยนะ ครูก็ต้องอยู่ในระเบียบ จะไม่หวือหวาเหมือนนักการเมือง” นายกมดเล่าย้อนกลับไปด้วยรอยยิ้ม

ทว่าเรื่องราวก็ไม่ได้ราบรื่นอยู่เสมอ เพราะนายกมดก็เป็น “นักสู้” ในคราบน้ำตามาก่อน

“2 ปีแรก ด้วยความที่ดิฉันเป็นเด็ก แล้วครอบครัวก็ประกอบอาชีพชาวนาธรรมดา เจอมาหมดทั้งผู้รับเหมาเอาปืนมาวางบ้าง ดิฉันร้องไห้ตลอด จัดงานกีฬา เด็กก็ตีกันฆ่ากัน ไม่มีตำรวจมาช่วยดู ร้องไห้อีก จนนายอำเภอถามว่า “เธอจะเป็นนายก อบต.ได้ไหมเนี่ย?” ดิฉันก็บอกว่าขอเวลาอีก 2 อาทิตย์ แล้วดิฉันจะทำให้ดีที่สุดแล้วก็จะเป็นผู้หญิงที่แกร่งที่สุดให้ได้ จากนั้นเริ่มหางบประมาณมาพัฒนาตำบลตัวเอง พูดได้เลยว่า 2 ปีแรกดิฉันทำอะไรไม่ได้เลย แต่ 2 ปีหลังรู้สึกว่าเก่งขึ้น”

“สมัยนั้นนายก อบต. เงินเดือน 1,500 บาท ไม่มีรถยนต์หลวงก็ต้องใช้รถตัวเองจนพังจนพรุน ผ่านมา 4 สมัยไม่ใช่ไม่มีคู่แข่งแต่ก็ชนะมาได้เพราะเริ่มเข้าตาชาวบ้าน สองมือคอยกราบคอยพูด งานสำคัญของชาวบ้านดิฉันไปร่วมงานตลอด โดยเฉพาะงานศพที่ไปทุกงาน ต้องมีพวงหรีดไป ไปสวดอภิธรรม ต้องไปเผา พร้อมกับช่วยจัดงานทุกอย่าง จบที่อบต. ซึ่งหลายคนก็ถามว่าไม่เหนื่อยหรือต้องไปตลอด ไม่เสียดายชีวิตส่วนตัวหรือ บอกเลยว่า ไม่เป็นไรเลย ไม่เบื่อหรือเหนื่อย เพราะเหมือนอุทิศชีวิตให้ตรงนี้แล้ว คือชอบและต้องทำให้ดีที่สุด” นายกฯอบต.หญิงกล่าว

อีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้ กับ ศิริพร ปัญญาเสน อดีตนายกอบต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง ที่ลงเล่นการเมืองท้องถิ่นตั้งแต่ พ.ศ.2537 เริ่มจากเป็นกรรมการหมู่บ้านตั้งแต่อายุ 19 ปี เป็นสารวัตรกำนัน 4 ปีกว่า เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอีก 6 ปีกว่า จากนั้นจึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกอบต.ตั้งแต่ปี 2539 – 2540 ก่อนนั่งบทบาทของกรรมการบริหารและดำรงตำแหน่งนายกอบต.มาจนถึงปี 2555 และพักร้อนไป 9 ปี

อดีตนายกอบต.พิชัย เล่าถึงเหตุผลที่ทำไมถึงอยากอยู่ในการเมือง ว่าเป็นเพราะตัวเองเป็นคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ จบป.6 ก็อยู่ในชุมชน พออยู่ในชุมชนที่เห็นปัญหามาโดยตลอด บางครั้งกระบวนการหรือการแก้ปัญหาของผู้มีอำนาจแก้ไม่ตรงจุดเท่าไหร่

สุดท้ายจึงพยายามที่จะพาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา “การเป็นอบต.ของดิฉัน ซึมซับมาจากครอบครัวและชุมชน การมาจากครอบครัวที่ยากจน ทำให้มองเห็นว่าถ้ามีโอกาสมาเป็นอบต. มีกฏหมาย มีระเบียบมารองรับ ก็คือมีทรัพยากรมาช่วยปลดปล่อยปัญหาให้ประชาชน แล้วทำไมจะไม่ทำ” ศิริพรกล่าว

คนละหมัด คนละมุม
ความต่าง อบต.หญิง-ชาย

ดังที่กล่าวไปข้างต้นถึงสัดส่วนของ “ผู้นำทางการเมืองหญิง” ที่น้อยกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญ แล้วในด้านการทำงาน “นักการเมืองหญิง” แตกต่างจาก “นักการเมืองชาย” อย่างไร?

สมศรี มองว่า ผู้หญิงส่วนมากชนะการเลือกตั้งเพราะมีผลงานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ หลายๆ งานไม่ว่าจะเป็นงานอาสา หรืองานอบรม ผู้บริหารชายมักไม่ได้เข้าร่วมแต่ผู้หญิงเข้าร่วมหมด ทำให้ได้เปรียบในการได้รับความรู้และเข้าถึงชุมชนทำให้ได้รับความเชื่อใจจากชุมชนมากกว่า

ขณะที่ นายกฯมด สะท้อนว่า ตามที่ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกอบต.มา 4 สมัย พบว่าผู้หญิงก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น จากจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่ในด้านการทำงานส่วนตัวจะไม่ดื่ม ไม่เล่นการพนัน และทำความเข้าใจถึงปัญหาของชุมชน ซึ่งในที่นี้คือ “รายได้” ที่ชุมชนมีทรัพยากรแต่ไม่รู้จะแปรเป็นรายได้ได้อย่างไร เมื่อจับปัญหาได้ถูกจุดก็จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด ถามว่าผู้ชายทำไหม ทำ แต่อาจจะไม่ได้ใส่ใจแบบที่ดิฉันทำ ซึ่งนอกจากสอนอาชีพแล้วต้องหาตลาดให้ด้วย สอนเรื่องการทำตลาดออนไลน์ด้วย ฉะนั้นเชื่อว่าภาพติดตัวของนักการเมืองหญิงคือใส่ใจเรื่องอาหาร ความเป็นอยู่ มองว่าตำบลที่รับผิดชอบก็เหมือนบ้านที่ใหญ่ขึ้น

ด้าน ศิริพร ระบุว่า การทำงานระหว่างผู้หญิงและผู้ชายที่แตกต่างกัน สิ่งแรกคือ “แผนพัฒนาของตำบล” ผู้ชายก็จะบริหารที่ปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น น้ำไฟฟ้าถนนต่างๆ แต่ผู้หญิงจะเข้ามาบริหารเรื่องของ “คน” มากขึ้น ผู้สูงอายุแต่ละปีจะดูแลอย่างไร เด็กเยาวชนที่ติดยา เป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวจะช่วยเหลืออย่างไร กีฬาปีละครั้งจะช่วยได้ไหม จะทำยังไงให้เด็กๆ รวมตัวกันแล้วสามัคคี คิดดีทำดี เป็นต้น

ส่วนตัวจะลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่อเนื่อง เรียกว่า “ร้อนเจอเรา หนาวเจอเรา ฝนตกฟ้าร้อง น้ำท่วมไฟไหม้ นายกฯ ต้องไป” ในเรื่องนี้ นักการเมืองหญิง ก็โดนปรามาสว่า “ทำไม่ได้ “ ทว่าการมีนักการเมืองท้องถิ่นและผู้บริหารที่เป็นผู้หญิง สามารถจัดกระบวนการมีส่วนร่วมได้ดีกว่าแน่นอน เพราะผู้หญิงมีความละเอียดอ่อน มีมุมที่เป็นนักประชาสัมพันธ์ เป็นนักประสานงาน นักจัดกระบวนการ และเป็นนักบริหาร สิ่งเหล่านี้อยู่ในตัวผู้หญิงทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบมาใช้ในเวลาไหน

อย่างไรก็ตาม ศิริพร ทิ้งท้ายว่า ความเป็นหญิงก็เรียกได้ว่าเป็นได้ทั้งโอกาสและเสียโอกาส เพราะว่ากันตามตรงในบริบทของต่างจังหวัดยังค่อนข้างมีความเชื่อว่าบทบาทผู้นำเป็นของ “ผู้ชาย” ประกอบกับตอนนี้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ฉะนั้นผู้สูงอายุเลยเป็นอีกกลุ่มที่ไปเลือกตั้งเยอะ ซึ่งในบรรดากลุ่มผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งก็ยังมีแนวความคิดในการให้ค่าเพศชายมากกว่าหญิง ผู้หญิงเองก็ต้องรีบแสวงหาและใช้โอกาสในการประชาสัมพันธ์ตัวเองให้มากขึ้น

“ทุกวันนี้ราวกับระฆังเพิ่งตีแต่มีอะไรเกิดขึ้นในชุมชนเยอะไปหมด ผู้หญิงก็ต้องตั้งหลักที่จะเตรียมตัวเอง เพื่อสู้กับหลายๆ สิ่งให้ได้ สู้ในที่นี้คือ สู้ทั้งความคิด สู้ทั้งกระบวนการ และสู้ทั้งวิธีที่ไม่ชอบธรรมและการทุจริตทั้งหลายทั้งปวง ทั้งหมดนี้เราต้องรับให้ได้ ต้องใช้ความอดทน ถึงจะผ่านพ้นไปได้ มันมีความหอมหวานในแง่ของกระบวนการที่จะมาแก้ปัญหาประชาชน ถ้าเราไม่ได้มุ่งเน้นประโยชน์ส่วนตัวเราก็จะมองเห็นอะไรที่หลากหลาย ที่เราจะกระโดดเข้าไปเป็นตัวแทนในการแก้ไขปัญหาให้ปชช.ได้” อดีตนายกฯอบต.พิชัย กล่าว

สู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น

ยอดผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น
ทะลุ 1.3 แสน

คณะกรรมการเลือกตั้ง สรุปผลการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 2564 (ข้อมูลเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม) ว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศ 76 จังหวัด รวมจำนวน 136,250 คน แบ่งออกเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. จำนวน 12,309 คน ผู้สมัครสมาชิก อบต. จำนวน 123,941 คน

โดยจังหวัดที่มีผู้สมัครสมาชิกและนายก อบต. สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่

1.นครราชสีมา จำนวน 7,333 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกฯ จำนวน 554 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก จำนวน 6,779 คน

2.ศรีสะเกษ จำนวน 5,621 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกจำนวน 479 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก จำนวน 5,142 คน

3.สุรินทร์ จำนวน 5,062 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก จำนวน 371 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก จำนวน 4,691 คน

4.อุบลราชธานี จำนวน 4,823 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก จำนวน 415 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก จำนวน 4,408 คน

5.บุรีรัมย์ จำนวน 4,445 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกจำนวน 349 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก จำนวน 4,096 คน

6.ขอนแก่น จำนวน 3,761 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก จำนวน 361 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา จำนวน 3,400 คน

7.มหาสารคาม จำนวน 3,686 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก จำนวน 294 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก จำนวน 3,392 คน

8.ร้อยเอ็ด จำนวน 3,609 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก จำนวน 325 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก จำนวน 3,284 คน

9.ชัยภูมิ จำนวน 3,322 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก จำนวน 262 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก จำนวน 3,060 คน

10.นครศรีธรรมราช จำนวน 3,176 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก จำนวน 280 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก จำนวน 2,896 คน

ส่วนจังหวัดที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกและนายก อบต.น้อยที่สุด คือ ภูเก็ต จำนวน 121 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก จำนวน 17 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก จำนวน 104 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image