เรื่องครอบครัวละเอียดอ่อน ในวันที่ “ลูกร้องศาล” ขอ “ไม่ให้แม่” เข้าใกล้

เรื่องครอบครัวละเอียดอ่อน ในวันที่ "ลูกร้องศาล" ขอ "ไม่ให้แม่" เข้าใกล้

เรื่องครอบครัวละเอียดอ่อน ในวันที่ “ลูกร้องศาล” ขอ “ไม่ให้แม่” เข้าใกล้

เป็นอีกเรื่องที่สังคมได้รับรู้เกี่ยวกับครอบครัวของ “เสก โลโซ” กับกรณี ‘เสือ’ ลูกชายคนโต และ ‘กวาง’ ลูกสาวคนที่สาม เดินทางไปร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อขอให้ออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพจากแม่ ‘กานต์ วิภากร’ โดยให้เหตุผลว่า ต้องการให้ทุกคนอยู่อย่างปลอดภัย

เสือร้องศาลขอคุ้มครองสวัสดิภาพ 6 ข้อ คือ 1.ห้ามไม่ให้เข้าใกล้กว่า 5 เมตร 2.ห้ามทำร้ายร่างกายและจิตใจไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ 3.ห้ามข่มขู่คุกคามหรือด่าทอให้เกิดความกลัว 4.ห้ามโพสต์ประจานและใส่ร้ายผ่านสื่อทุกชนิด 5.ห้ามให้บุคคลใดติดตามดูพฤติกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิต และ 6.ขอให้ส่งตัวไปตรวจทางจิตเวช

เป็นกรณีที่สังคมให้ความสนใจ เพราะแทบไม่เคยเห็นกรณีแบบนี้มาก่อน

ความจริงเป็นอย่างไร คงต้องรอศาลพิสูจน์กัน แต่ถือโอกาสเรียนรู้ “กฎหมายครอบครัว” ที่เปิดช่องให้ “ลูก” ยื่นร้องดังกล่าวได้

Advertisement

นางสุทธินี เมธีประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมป์ เล่าว่า เท่าที่ติดตามกรณีดังกล่าว เป็นเรื่องแม่ลูกที่มีปัญหากัน มีการกล่าวหาระหว่างกัน รวมถึงโพสต์ประจานทางสื่อออนไลน์ ทำร้ายจิตใจ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ ตลอดจนคุกความสวัสดิภาพจนผู้ร้องรู้สึกไม่ปลอดภัย ถือเป็นความรุนแรงในครอบครัว ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550

กางข้อกฎหมายข้างต้น เข้ามาตรา 3 ระบุถึง “ความรุนแรงในครอบครัว” มีความหมายตอนหนึ่งว่า “การกระทำใดๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพ หรือกระทำโดยเจตนา ในลักษณะที่จะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว”

นายกสมาคมฯ กล่าวว่า อย่างครอบครัวอื่นที่ลูกมีปัญหากับพ่อแม่ สามารถใช้ช่องทางตามมาตรา 3 ได้ เพื่อขอรับการคุ้มครองสวัสดิภาพ อย่างที่เคยมี อาทิ สั่งห้ามพ่อไม่ให้เข้าใกล้ลูก เพราะพ่อมีพฤติกรรมข่มขืนเด็ก หรือพ่อมีพฤติกรรมพาลูกไปดื่มเหล้า และพาไปเล่นการพนันด้วยหลังจากเลิกกับภรรยา หรือถูกทุบตี บังคับขู่เข็ญ บังคับขอทาน เป็นต้น ซึ่งเหตุที่เกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ในมาตรา 25 ระบุถึงพฤติกรรมที่ผู้ปกครองต้องไม่กระทำ  และมาตรา 26 ระบุถึงการห้ามกระทำการ ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ด้วย

Advertisement

  “คดีส่วนใหญ่ที่ใช้ช่องกฎหมายดังกล่าว เป็นกรณีภรรยาร้องขอคุ้มครองจากสามีที่ทำร้ายทุบตีบุคคลในครอบครัว ส่วนคดีเด็กร้องขอคุ้มครองจากพ่อแม่ก็มี แต่มีน้อย ส่วนใหญ่เป็นการยื่นขอคุ้มครองสวัสดิภาพโดยแม่ จากพ่อที่มีพฤติกรรมทำร้ายลูก หรือผู้พบเห็นแจ้งให้ช่วยเหลือ ส่วนกรณีลูกที่โตแล้วมาร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพจากแม่ ก็เพิ่งเคยเห็นเคสนี้แหละ”

นางสุทธินี เมธีประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมป์
เรื่องครอบครัวละเอียดอ่อน ในวันที่ “ลูกร้องศาล” ขอ “ไม่ให้แม่” เข้าใกล้

นางสุทธินีอธิบายถึงกระบวนการยุติธรรมจากนี้ เมื่อศาลรับคำร้องขอคุ้มครอง จากนั้นจะเข้าสู่การสืบพยาน โดยจะมีการสืบข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่ายว่าจริงเท็จอย่างไร โดยศาลจะให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ เมื่อเป็นเรื่องครอบครัว สุดท้ายศาลอาจเรียกทั้งสองฝ่ายมาไกล่เกลี่ย หาสาเหตุของความไม่เข้าใจกัน ชวนหาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหา โดยอาจมีการทำบันทึกข้อตกลงว่าพฤติกรรมใดที่ไม่ควรกระทำซ้ำ หากฝ่าฝืนข้อตกลงก็จะถูกนำมาฟ้องร้องหรือลงโทษได้ต่อไป

  “แต่ในมุมของแม่ที่เลี้ยงลูกมาตลอดของดิฉัน จะบอกว่าแม่เลี้ยงลูกมา แม่ยอมตายเพื่อลูกได้ แต่ในกรณีนี้เรายังไม่ทราบข้อเท็จจริง จะเป็นการกล่าวอ้าง หรือความหวังดีต่อลูก ก็คงต้องสอบลึกๆ เรื่องครอบครัวละเอียดอ่อน เป็นเรื่องสั่งสมมานาน จะมาตัดสินปุ๊ปปั๊บหรือฟันธงไม่ได้” 

นายกสมาคมฯ ยังฝากถึงครอบครัวอื่นๆ ที่กำลังเผชิญสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะถูกทุบตีทำร้าย กักขัง คุกคามข่มขู่ ว่า อย่าทนถูกทำร้าย เพราะวันหนึ่งอาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ ฉะนั้นให้ออกมาร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อให้การช่วยเหลือคุ้มครองเบื้องต้นภายใน 48 ชั่วโมง

ซึ่งจะมีการแยกผู้เสียหายออกมาอยู่บ้านพักเด็กและครอบครัว มีการทำบันทึกข้อตกลงกับผู้กระทำ อาจมีเรื่องการไปบำบัดรักษาและไม่ให้กระทำซ้ำ หากพบว่าไม่ปฏิบัติตาม ให้เจ้าหน้าที่นำข้อตกลงนี้ยื่นร้องต่อศาลได้เลย หรือผู้เสียหายจะไปร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวโดยตรง เพื่อขอคุ้มครองก็ได้ โดยเตรียมพยานและหลักฐานไปด้วย อาทิ รอยฟกช้ำดำเขียวจากการถูกทำร้าย บุคคลที่พาออกมา เป็นต้น โดยสามารถยื่นฟ้องหย่าและค่าเลี้ยงดูได้

หรืออยากขอคำปรึกษาก่อน ก็ติดต่อมาที่สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย โทร. 0-2241-0737 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ “เพื่อนครอบครัว.com” ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ที่สมาคมส่งทนายไปช่วยให้คำปรึกษากฎหมาย ไม่มีค่าใช้จ่าย

กฎหมายใกล้ตัว ที่ทุกคนควรรู้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image