ถอดบทเรียน ‘เซ็กซ์เวิร์กเกอร์’ วอนรัฐอย่า “ตีตราเพิ่มตราบาปถาวร”

ถอดบทเรียน 'เซ็กซ์เวิร์กเกอร์' วอนรัฐอย่า "ตีตราเพิ่มตราบาปถาวร"

ถอดบทเรียน ‘เซ็กซ์เวิร์กเกอร์’ วอนรัฐอย่า “ตีตราเพิ่มตราบาปถาวร”

ถอดบทเรียนอาชีพเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ ในโยนีสนทนา หัวข้อ “เมื่อเราต่างต้องการ Sex worker มืออาชีพ แต่ละเลยคุณภาพชีวิตของคนทำงาน” จัดโดย เพจเฟซบุ๊กไทยแอ๊ค และเพจเฟซบุ๊กไม่เอาการเลือกปฏิบัติ

เริ่มที่ ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ จากมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (EMPOWER FOUNDATION) ซึ่งทำงานคุ้มครองสิทธิให้เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ในโซนภาคเหนือและตามภูมิภาค เล่าว่า หลายคนอาจคิดว่าอาชีพเซ็กซ์เวิร์กเกอร์แค่ถ่างขาให้คนมามีเพศสัมพันธ์ได้เงินแล้วจบไป จริงๆ เรื่องเซ็กซ์เป็นเพียงส่วนหนึ่ง นอกนั้นยังมีบริการอื่นๆ อีก เช่น คุย ดื่ม เล่นเกม เป็นต้น

  “เซ็กซ์เวิร์กเกอร์มักถูกครหาว่าเป็นตัวแพร่เชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จริงๆ อยากจะบอกว่า คนทำงานเขาเซฟตัวเองอยู่แล้ว ก็คล้ายๆ กับหลายอาชีพที่มีการเซฟตัวเอง เช่น หมอต้องมีอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค เซ็กเวิร์กเกอร์ก็มีอุปกรณ์ป้องกันเช่นกัน ทุกคนเซฟร่างกายให้สามารถทำงานได้ต่อเนื่องทั้งนั้น” 

สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์รวมข้อมูลสารสนเทศด้านเอชไอวีของประเทศไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 19 เมษายน 2564 พบช่องทางการรับและถ่ายทอดเชื้อรายใหม่ มากที่สุดร้อยละ 63 มาจากเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย รองลงมาร้อยละ 22 มาจากคู่ผลเลือดต่าง, ร้อยละ 10 คู่นอนชั่วคราวและนอกสมรส , ร้อยละ 3 เพศสัมพันธ์จากการซื้อขายบริการ และร้อยละ 2 ใช้เข็มและกระบอกฉีดไม่สะอาดร่วมกัน

Advertisement
ภาพประกอบเซ็กซ์เวิร์กเกอร์
ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระบาด รัฐบาลมีคำสั่งปิดสถานบริการยามค่ำคืนมาเป็นเวลา 1 ปีกว่าๆ ทำให้แรงงานได้รับผลกระทบ หนึ่งในนั้นคือเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ ซึ่งยืนยันจากงานสำรวจของมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) เรื่องผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่ ในกลุ่มพนักงานบริหาร ในพื้นที่กรุงเทพฯ และพัทยา ช่วงเดือนมกราคม 2564

นพนัย ฤทธิวงศ์ หรือซีซ่าร์ พรรณรัมภา นักกิจกรรมผู้หญิงข้ามเพศ จากมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ซึ่งทำงานคุ้มครองสิทธิให้เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และพัทยา เล่าว่า เราได้สอบถามเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ 332 คน ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามมีอายุเฉลี่ย 39.5 ปี อายุต่ำสุด 19 ปี และอายุมากที่สุด 75 ปี ส่วนเพศเป็นเพศหญิงร้อยละ 71 รองลงมาเพศชาย ร้อยละ 22 และคนข้ามเพศ ร้อยละ 4.5

  “สิ่งที่น่าสนคือ มีเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ที่มีอายุ 56 ปีขึ้นไปที่ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 11 ก็สะท้อนความเป็นจริงว่าพวกเขายังทำงานอยู่ และเซ็กซ์เวิร์กเกอร์มีหลายอัตลักษณ์ และหลายเพศ ไม่ใช่ว่ามีเพียงผู้หญิงวัยสาวเท่านั้น”

งานสำรวจพบเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ที่มีสัดส่วนตกงานช่วงโควิดมากที่สุดคือ เซ็กซ์เวิร์กเกอร์อิสระ รองลงมาเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ในสถานบันเทิงยามค่ำคืน อาบอบนวด และโรงแรมตามลำดับ เนื่องจากมาตราการควบคุมโรคที่มีคำสั่งปิดสถานประกอบการต่างๆ ตั้งแต่ระลอกแรกๆ จนถึงระลอกปัจจุบัน และเมื่อรวมกับปัญหาที่เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ไม่ถูกรับรองโดยกฎหมายแรงงาน ก็ทำให้เห็นสถานการณ์เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ไม่มีงานไม่มีรายได้ เข้าไม่ถึงการเยียวยาและสวัสดิการช่วยเหลืออะไร ทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 70 ยอมรับว่าต้องใช้เงินออมที่มีอยู่ไปก่อน ส่วนอีกร้อยละ 13 ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ

“จากการระบาดหลายระลอก ทำให้เซ็กซ์เวิร์กเกอร์หลายคนเริ่มปรับตัว จากที่เคยให้บริการและเจอลูกค้าตามร้านและตามที่สาธารณะ มาเป็นบริการแบบไซเบอร์เซ็กซ์ ที่มีการพัฒนาหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นมารองรับดังกล่าว ทั้งโพสต์หาลูกค้า ตลอดจนมีการจ่ายเงินแลกคลิปวีดิโอ”

  “จะเห็นว่ากฎหมายไม่ทำให้เซ็กซ์เวิร์กเกอร์หมดไป ยังคงมีอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ และต้องเป็นแรงงานที่กฎหมายไม่คุ้มครอง ที่เสี่ยงถูกเอารัดเอาเปรียบ” ซีซ่าร์กล่าว

ภาพประกอบเซ็กซ์เวิร์กเกอร์
ซีซ่าร์ พรรณรัมภา

  เสวนามองว่าสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นกับอาชีพเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ มีรากเหง้ามาจาก พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539

ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ จากมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (EMPOWER FOUNDATION) มองว่า ที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) มีแนวคิดจะจดทะเบียนพนักงานบริการทางเพศ เพื่อให้ทำให้ถูกกฎหมาย เราอยากสะท้อนว่าไม่มีใครไปจดหรอก ที่อยากได้คือ อยากให้ยกเลิกเอาผิด

ส่วน ซีซ่าร์ พรรณรัมภา นักกิจกรรมผู้หญิงข้ามเพศ จากมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) มองว่า ควรยกเลิก พ.ร.บ.ค้าประเวณีฯ และให้อาชีพนี้อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน ได้รับการคุ้มครองเหมือนกฎหมายอื่นๆ ส่วนขึ้นทะเบียนอาชีพขายบริการ คงไม่เอาแน่นอน เพราะการขึ้นทะเบียนควรขึ้นทุกอาชีพ ไม่ใช่มาเลือกปฏิบัติ

  “การแก้ปัญหาการค้าประเวณี ไม่ควรมีกฎหมายที่ให้การค้าประเวณีเป็นเรื่องผิด เพราะนอกจากไม่ทำให้การค้าประเวณีหมดไป ยังทำให้เกิดธุรกิจใต้ดินสูงขึ้น ตัวผู้ค้าประเวณีถูกเอารัดเอาเปรียบ ต้องมีสถานะอยู่นอกกฎหมาย ส่วนจะให้ค้าประเวณีได้ แต่ต้องขึ้นทะเบียนนั้น ส่งผลให้ไม่สามารถลดความรังเกียจไปได้ อีกทั้งเป็นการตีตราเพิ่มตราบาปถาวรไม่มีวันหมดไปได้ แต่สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือ มองว่าการค้าประเวณีเป็นทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพ ก็จะทำให้พนักงานบริการได้รับการคุ้มครอง” ซีซ่าร์กล่าว

ด้าน ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักรณรงค์เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางสังคม มองว่า การขึ้นทะเบียนเหมือนการตีตราไปตลอดชีวิต เพราะเป็นอาชีพที่คนไทยยังไม่ยอมรับ มองศักดิ์ศรีไม่เทียบเท่าอาชีพอื่น เช่น หมอ นายกฯ ที่สมมุติว่าบอกไปแล้วสังคมตบมือยอมรับ เรื่องจะให้ลงทะเบียนก็คงไม่มีปัญหาเลย

  “อยากให้ยกเลิกเอาผิดทางอาญากับเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ คืนศักดิ์ศรีเนื้อตัวร่างกายและอาชีพ เราต้องการการคุ้มครอง ไม่ใช่ควบคุม ขายบริการทางเพศคือสิทธิมนุษยชน” ศิริศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image