รู้จัก ‘จีอาร์บี’ เครื่องมือจัดทำงบประมาณ “คำนึงคนเท่ากัน”

รู้จัก 'จีอาร์บี' เครื่องมือจัดทำงบประมาณ "คำนึงคนเท่ากัน"

รู้จัก ‘จีอาร์บี’ เครื่องมือจัดทำงบประมาณ “คำนึงคนเท่ากัน”

ประเทศไทยกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ การตั้งโครงการเพื่อขอเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐจากนี้ จะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเกิดประโยชน์อย่างไรกับประชาชนแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย คนที่มีอัตลักษณ์พิเศษ เช่น คนพิการ คนสูงอายุ ชาติพันธุ์ ตรงนี้จะทำให้การใช้งบประมาณของภาครัฐ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

เป็นการดำเนินการตามแนวคิด Gender Responsive Budgeting (GRB) หรือ การจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ ที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2564 ได้เห็นชอบคู่มือจีอาร์บีตามที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และเห็นชอบให้หน่วยงานรัฐนำคู่มือนี้ ไปเป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณ

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวง พม. กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ หรือจีอาร์บี เป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดทำงบประมาณ ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์และคำนึงถึงความต้องการ โอกาส สิทธิ และการเข้าถึงทรัพยากรที่แตกต่างหลากหลายของกลุ่มประชากร

ถูกนำเข้าสู่วงจรงบประมาณทั้งรายรับและรายจ่าย ตั้งแต่การบริหารจัดการงบประมาณ การกำหนดงบประมาณ การอนุมัติและจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนการตรวจสอบและติดตามประเมินผล เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูงสุด ตอบสนองความต้องการประชากรกลุ่มต่างๆ อย่างเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ

Advertisement

  “ขณะนี้ทั่วโลกมี 90 กว่าประเทศแล้วที่ใช้แนวคิดจีอาร์บีกับการจัดทำงบประมาณ ส่วนในอาเซียนมีเพียง 2 ประเทศที่ทำคือ เวียดนาม และไทย ในส่วนเวียดนามเริ่มก่อน ส่วนไทยแม้จะทำที่หลัง แต่ก็มีความก้าวหน้ามาก”

รู้จัก ‘จีอาร์บี’ เครื่องมือจัดทำงบประมาณ “คำนึงคนเท่ากัน”
นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

ประเทศไทย มีความก้าวหน้าเรื่องจีอาร์บีอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เป็นต้นมา ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ระบุเรื่องจีอาร์บีเป็นครั้งแรกไว้ในมาตรา 71 จากนั้นในปี พ.ศ.2564 มีคู่มือจีอาร์บีเพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้หน่วยงานรัฐ ภายในแบ่งเนื้อหาออกเป็น 6 ส่วน ตั้งแต่ความเป็นมา ความสำคัญ ขั้นตอนการจัดทำจีอาร์บี ตัวอย่างการจัดทำงบประมาณที่คำนึงมิติเพศภาวะ แบบรายการตรวจสอบการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ หรือเช็กลิสต์ 21 ข้อ และบทสรุป

อธิบดี สค.ยกตัวอย่างการทำโครงการของรัฐภายใต้แนวคิดจีอาร์บี อย่างการทำห้องน้ำในหน่วยงานราชการ เริ่มจากการสำรวจข้อมูลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สมมุติข้อมูลพบสัดส่วนบุคลากรและผู้มาใช้บริการ เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จากนั้นก็วิเคราะห์ถึงประโยชน์ ก่อนออกแบบให้มีสัดส่วนห้องน้ำผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จากปกติหน่วยงานส่วนใหญ่มักสร้างห้องน้ำตามสัดส่วนเท่ากัน ขณะเดียวกันสมมุติว่าหากพบข้อมูลว่ามีคนพิการ คนสูงอายุด้วย ก็ต้องออกแบบให้มีห้องน้ำเพื่อรองรับด้วย

  “จะโครงการสร้างถนน สร้างสะพานก็สามารถทำภายใต้แนวคิดนี้ได้ ยกตัวอย่างสร้างหรือปรับปรุงสะพานลอย ต้องคำนึงถึงผู้หญิงที่อาจหอบหิ้วสิ่งของเข้าบ้าน ทำอย่างไรไม่ให้ข้ามสะพานลอยแล้วเป็นลม ก็ต้องออกแบบให้มีหลังคา หรือคำนึงถึงคนชราข้ามสะพานลอยอย่างไรไม่ให้ล้ม ก็ต้องติดตั้งราวจับใช่ไหม หรือการสร้างถนน จะต้องมีไหล่ทางที่ทำให้เดินแล้วไม่มีโอกาสที่รถจะมาเฉี่ยวชน มีฝาท่อทำให้ผู้หญิงใส่รองเท้าส้นสูงเดินผ่านแล้วไม่ติด และมีทางลาดเพื่อรองรับรถวีลแชร์ ทั้งหมดนี้เพราะมีการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงความแตกต่าง”

ล่าสุดกระทรวง พม.ได้ทำเอ็มโอยูกับ 7 หน่วยงาน เพื่อนำร่องจัดงบประมาณที่คำนึงเรื่องดังกล่าว อาทิ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงบประมาณ เพื่อจะมีความรู้ความเข้าใจเวลาต้องกลั่นกรองโครงการที่เสนอของบประมาณมา, กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนท้องถิ่นสามารถเริ่มได้ทันที, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อผลักดันแนวคิดนี้ไปยังภาคเอกชนรายใหญ่ๆ ต่อไป

นางจินตนากล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ไม่เพียงภาครัฐ แต่ภาคเอกชนก็สามารถนำไปใช้ได้ เช่น การทำเดย์แคร์ในสถานประกอบการ ที่ได้ประโยชน์ทั้งตัวพนักงานและเด็ก หรือการทำห้องน้ำที่คำนึงถึงสัดส่วนบุคลากรในองค์กร อย่างไรก็ดี ปีนี้จะเป็นการนำร่องในหน่วยงาน บางท้องถิ่น และภาคเอกชนรายใหญ่บางแห่งก่อน เพื่อให้หน่วยงาน ท้องถิ่น และภาคเอกชนอื่นๆ เห็นภาพตัวอย่างก่อนนำไปใช้ อาจไม่ทันกับการจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่หลายหน่วยงานได้เริ่มไปแล้ว แต่ก็หวังว่าต่อไปสำนักงบประมาณจะทำเป็นตัวชี้วัด ว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่จัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงจีอาร์บี

รู้จัก ‘จีอาร์บี’ เครื่องมือจัดทำงบประมาณ “คำนึงคนเท่ากัน”
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image