อัตราเพิ่มคนไทย ‘ติดลบ’ ถึงเวลาเลือกอนาคตประเทศ ‘ปริมาณ’ หรือ ‘คุณภาพ’

อัตราเพิ่มคนไทยติดลบ ถึงเวลาเลือกอนาคตประเทศ ‘ปริมาณ’ หรือ ‘คุณภาพ’

ทำเอานักประชากรศาสตร์ และคนในสังคมตื่นกังวลไปตามๆ กันกับข้อมูลสถานการณ์ประชากรไทย ประจำปี 2564 จากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า ตลอดทั้งปี 2564 มีเด็กแรกเกิด จำนวน 544,570 ราย และมีคนเสียชีวิต จำนวน 563,650 ราย ท่ามกลางประชากรทั้งประเทศ จำนวน 66 ล้านคน

ข้อมูลนี้มีความหมายอย่างไร กำลังส่งสัญญาณอะไร ถอดรหัสภายในงานเสวนาใต้ชายคาประชากร (วาระพิเศษ) ออนไลน์ เรื่อง “โควิด-19 ทำให้อัตราเพิ่มประชากรติดลบ เร็วเกินคาด” จัดโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยประชากรและสังคมฯ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวของกรมการปกครอง พบว่า ประเทศไทยกำลังเจอปรากฏการณ์ จำนวนคนตายมากกว่าจำนวนคนเกิดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งหมายความว่า เรากำลังเจอกับอัตราการเพิ่มของประชากรติดลบ นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไวกว่า ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ไว้ ว่าจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2571 หรือเกิดขึ้นก่อน 7 ปี

ย้อนดูสถิติอัตราการเพิ่มของประชากรไทย เคยเพิ่มสูงสุด 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี คือในปี พ.ศ.2514 ที่มีเด็กแรกเกิดถึง 1.2 ล้านคนต่อปี จากนั้นก็ค่อยๆ ลดลงมา กระทั่งปี พ.ศ.2563 อัตราเกิดต่ำกว่า 6 แสนคนต่อปีเป็นครั้งแรก และปี พ.ศ.2564 อัตราการเพิ่มประชากรติดลบ .03 เปอร์เซ็นต์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เช่นกัน ซึ่ง ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ตั้งข้อสังเกตโควิด-19 ที่เริ่มระบาดในปี พ.ศ.2563 เป็นตัวเร่งให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าวในปีที่ผ่านมา

Advertisement

“ในแวดวงวิชาการพูดคุยกันตลอดว่า คนไทยไม่อยากมีลูก ตั้งแต่ผู้หญิงครองโสดมากขึ้น มีการศึกษาสูงขึ้น สถานภาพสูงขึ้น หลายคนหาคู่ยากขึ้น คู่ที่มีบุตรยากมีมากขึ้น อีกทั้งคนยังมองว่าค่าใช้จ่ายเลี้ยงลูกแพง ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก แต่ในหลากหลายสาเหตุ คิดว่าโควิด-19 เป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้คนยับยั้งการมีลูก จนทำให้อัตราเกิดลดลงเร็วกว่าที่คิดไว้”

ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล

ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนการตายก็เช่นกัน คนอาจสงสัยว่าโควิด-19 ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น แต่จริงๆ เรามีแนวโน้มการตายของคนไทยเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว เริ่มแตะ 4 แสนคนเมื่อ 10 ปีก่อน จนเมื่อปี พ.ศ.2563 แตะ 5 แสนคนเป็นครั้งแรก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสังคมที่มีประชากรสูงอายุจำนวนมาก อย่างในญี่ปุ่น อิตาลี มีอัตราการตาย 15-16 คนต่อประชากร 1,000 คน ของไทยอัตราการตาย 8 คนต่อประชากร 1,000 คน แต่ทั้งนี้ ก็ต้องถือว่าโควิด-19 ทำให้อัตราการตายออกมาเกินที่คาดการณ์ไว้ และน่าจะลดลงกว่านี้หากโควิด-19 เบาบางลง แต่ยังไงอัตราการตายของคนไทยก็เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ โดยปีนี้อาจขึ้นไปแตะ 5.8 แสนคน

“หากไม่ทำอะไรเลย สถานการณ์จะลงลึกกว่านี้ ฉะนั้นจะต้องมีนโยบายส่งเสริมการเกิด เช่น เพิ่มสวัสดิการให้คนมีลูก ช่วยคนที่มีลูกยากให้มีลูก เพื่อมายับยั้งสถานการณ์นี้”

Advertisement

เสวนายังเปิดให้ผู้ชมได้ถาม มีข้อสงสัยน่าสนใจถึงสถานการณ์เด็กไทยเกิดน้อย จะทำให้ในอนาคตประเทศไทยเกิดสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานหรือไม่

ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ กล่าวว่า “ต้องเปลี่ยนความคิด อย่าไปกังวลเรื่องจำนวน แต่ให้ห่วงเรื่องคุณภาพการเกิด คุณภาพคน คุณภาพแรงงาน เพราะขาดแคลนแรงงาน เรายังสามารถนำเข้าแรงงานในสาขาที่ขาดแคลน ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีจักรกล ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยได้”

อีกข้อสงสัยที่มองว่าโควิด-19 ที่ทำให้คนส่วนใหญ่อยู่บ้านมากขึ้น จะเป็นโอกาสให้อัตราการเกิดสูงขึ้นหรือไม่ ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ กล่าวว่า ตรงนี้อาจเป็นไปได้ แต่ปัจจัยที่ทำให้คนไม่เกิดมีมากกว่า คนที่อยู่บ้านแล้วไม่สนใจเรื่องการมีลูกก็มี แต่ที่สนใจอยากมีลูกก็มี เรื่องนี้อาจต้องศึกษาเพิ่ม

“โดยสรุปโควิด-19 อาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้คนมีลูกน้อยลง แม้โควิด-19 หาย ก็ยากที่จะทำให้อัตราเกิดสูงขึ้น เพราะสู้แรงปัจจัยอื่นไม่ได้ อย่างไรก็ดี ก็อยากให้มองว่าการพัฒนาประเทศ หรือความเป็นไปของประเทศ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารและจัดการประเทศ หากเราทำให้จำนวนที่มีอยู่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเกิดน้อยไปกว่านี้ก็ไม่เป็นไร”

ท้ายของการเสวนา ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ คาดสถานการณ์ประชากรไทยว่า หากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ คาดว่าอนาคตอีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะลดลงเหลือ 50 ล้านคน และอีก 100 ปี ข้างหน้า ไทยจะเหลือประชากรอยู่ไม่ถึง 30 ล้านคน

ด้าน ดร.ณปภัช สัจนวกุล อาจารย์ประจำ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทิ้งท้ายว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะมายั้งยับสถานการณ์นี้ อาจไม่ใช่การไปบังคับให้คนมีลูก แต่เป็นการส่งเสริมผ่านการมีมาตรการ ระบบสวัสดิการสังคมต่างๆ ทำอย่างไรให้คนคิดน้อยลง ว่าไม่น่ามีอุปสรรคอะไรที่ทำให้เลี้ยงลูกไม่ได้

ดร.ณปภัช สัจนวกุล

อนาคตประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image