ขบคิด 14 เดือน หลังมีกฎหมายทำแท้ง ผู้หญิงยังคงท้องต่อแบบไม่พร้อม

ขบคิด 14 เดือน หลังมีกฎหมายทำแท้ง ผู้หญิงยังคงท้องต่อแบบไม่พร้อม

ปัจจุบันกฎหมายให้สิทธิผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม สามารถตัดสินใจขอเข้ารับบริการทำแท้งปลอดภัยได้ อย่างอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถขอรับบริการได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร

ส่วนอายุครรภ์ระหว่าง 12- 20 สัปดาห์ สามารถทำแท้งปลอดภัยได้ ภายใต้เงื่อนไข ได้แก่ การตั้งครรภ์ที่เสี่ยงได้รับอันตรายต่อสุขภาพ, การตั้งครรภ์คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ, การตั้งครรภ์ที่ทารกจะคลอดออกมาพิการอย่างร้ายแรง, การยืนยันยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ รมว.สาธารณสุขประกาศกำหนดฯ

ทว่าหลังจากบังคับใช้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 หรือ ‘กฎหมายทำแท้ง’ ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เป็นต้นมา ผ่านมา 1 ปีกว่าๆ กลับไม่พบความเปลี่ยนแปลง ทั้งระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ และตัวผู้หญิงเอง

เป็นที่มาการประชุมเพื่อสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ครั้งที่ 53 เรื่อง “14 เดือนของการใช้กฎหมายทำแท้งใหม่ เกิดอะไรขึ้นบ้าง” จัดโดย เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านระบบออนไลน์

Advertisement

เหตุผลประกาศคำปรึกษาทางเลือกชะงัก

เริ่มที่ประเด็นความเคลื่อนไหวระดับนโยบาย ถูกทวงถามอย่างมากกับ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่าด้วยการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือก เพื่อรองรับกลุ่มผู้หญิงอยากทำแท้งอายุครรภ์ระหว่าง 12-20 สัปดาห์ จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ออกประกาศเสียที ทำให้ตกอยู่ในสภาพกฎหมายเปิด แต่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะไม่มีแนวปฏิบัติ

นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย สธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการได้ยกร่างประกาศกระทรวงเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย 3 หมวด ได้แก่ 1.การให้คำปรึกษาทางเลือก 2.การดูแลในกรณีผู้หญิงเลือกตั้งครรภ์ต่อ และ3.กระบวนการขับเคลื่อนประกาศกระทรวง แต่ปรากฏว่าระหว่างกระบวนการเสนอให้ รมว.สธ.ลงนามเพื่อประกาศใช้ ร่างประกาศกระทรวงดังกล่าวถูกตีกลับ โดยมองว่าบางหมวดเกินขอบเขตหน้าที่ของกฎหมายทำแท้ง

สุดท้ายออกมาว่าได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการเพิ่ม โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกฎหมายมาร่วมยกร่าง เพื่อหารือให้เคลียร์ตั้งแต่ในที่ประชุมเลย ก่อนเสนอตรงให้ รมว.สธ.ลงนามประกาศ โดยนำร่างประกาศกระทรวงเดิม มาตั้งต้นหารือ

นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์

โควิด-19 ทำผู้หญิงอยากทำแท้งเพิ่ม

ด้าน นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และหัวหน้าสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 กล่าวว่า ข้อมูลผู้มาใช้บริการสายด่วน 1663 ปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมมีเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่เพิ่มขึ้นตลอด ส่วนใหญ่ที่มาปรึกษาและแสดงความจำนงชัดเจนว่าต้องการยุติการตั้งครรภ์ อย่างข้อมูลผู้มาใช้บริการสายด่วน 1663 ในช่วง 6 เดือนหลัง (เดือนตุลาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565) มีผู้มาปรึกษาทั้งหมด 2.1 หมื่นคน ในจำนวนนี้ตั้งครรภ์แล้วร้อยละ 81 หรือ 1.7 หมื่นคน ในจำนวนนี้พบร้อยละ 15 ที่เราต้องไปช่วยเหลือ ไม่ว่าจะช่วยค่าใช้จ่าย ช่วยแก้ปัญหา และติดตามอย่างใกล้ชิด

“จากข้อมูลข้างต้น น่าสนใจว่าในเมื่อกฎหมายเปิดช่องแล้ว ทำไมยังพบผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม ไปขอรับบริการจากโรงพยาบาล แล้วถูกปฏิเสธ ไม่ส่งต่อเป็น 116 รายในรอบ 6 เดือน มันเป็นเพราะทัศนคติ แนวนโยบาย สธ.ไม่ชัดเจน ลักลั่นในเชิงปฏิบัติ”

“และจากการสอบถามผู้หญิงที่มาขอรับปรึกษา น่าสนใจว่ามี 164 ราย ซื้อยาจากอินเตอร์เน็ต เพื่อมายุติการตั้งครรภ์ น่าสนใจว่าการขายยายุติการตั้งครรภ์ในอินเตอร์เน็ตมีการปรับตัว ขายถูกลง มีตั้งแต่ 1,600-3,000 บาท จากเมื่อก่อน 4,500-6,000 บาท และน่าสนใจอีกว่าเขาจะเริ่มขายยาที่ใช้แล้วไม่ได้ผล เพื่อให้ซื้อยาเพิ่มจากที่เดิม แปลว่าเขาสามารถขายได้เป็นระยะๆ”

สมวงศ์ยกเรื่องราวสุดหดหู่ ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ แม้กฎหมายจะเปิดแล้ว
อย่างรายแรกเธอได้รับการยืนยันจากสูตินรีแพทย์ และแพทย์ด้านหัวใจว่าการตั้งครรภ์ต่อ เสี่ยงอันตรายกับชีวิตเธอ เพราะเธอเป็นโรคหัวใจ แต่พอจะใช้บริการยุติการตั้งครรภ์ ไปโรงพยาบาลสิทธิประดันสังคม นอกจากปฏิเสธการบริการ ยังไม่ส่งต่อรักษาหรือให้คำแนะนำอย่างใด

นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา

จนมาปรึกษาสายด่วน 1663 ได้ประสานโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งให้ช่วย ก็แนะนำให้ไปโรงพยาบาลประกันสังคม เอาประวัติการรักษาทั้งหมดและใช้สิทธิส่งตัวมารักษา เพื่อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 5 หมื่นบาท ปรากฏว่าโรงพยาบาลประกันสังคมนั้นทำเรื่องส่งตัวให้ แต่ส่งไปโรงพยาบาลอื่นที่อ้างว่าเป็นโรงพยาบาลเครือข่าย

โดยให้ผู้รับบริการเดินเอกสารเอง ไปถึงก็ถูกโรงพยาบาลนั้นปฏิเสธ สุดท้ายจำเป็นต้องเข้ารับบริการ ตัวเธอเองมีเงิน 5 พันบาท ทางเครือข่ายก็จ่ายสมทบช่วยเหลือและพยายามฟ้องร้องโรงพยาบาลนั้นอยู่ ซึ่งก็ยุ่งยากกับโอกาสที่เราจะชนะ เพราะตัวเธอเองเดินเรื่องหลายรอบจนท้อ ไม่อยากจะทำอะไรอีก

ส่วนอีกเคสเป็นผู้หญิงที่มีลูกเล็กอยู่แล้ว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องหาเงินส่งเสียมารดาอีกด้วย เธอรายได้ไม่ค่อยมี เกิดตั้งครรภ์ใหม่ขึ้นมา ได้ไปโรงพยาบาลเพื่อขอยุติการตั้งครรภ์แล้ว แต่ถูกปฏิเสธ และแนะนำให้ฝากท้อง จากนั้นเธอมาปรึกษา เราก็แนะนำให้ไปอัลตร้าซาวด์ให้ทราบอายุครรภ์ และส่งต่ออย่างแม่นยำ เพื่อความปลอดภัยของเธอเอง ปรากฏว่าไปโรงพยาบาล 3 แห่ง ไม่ได้รับการบริการและดูแลเลย

สุดท้ายเราสนับสนุนส่งไปอัลตร้าซาวน์ ผลปรากฏว่าอายุครรภ์ประมาณ 27 สัปดาห์แล้ว ซึ่งกฎหมายไม่ให้อำนาจผู้หญิงอีกแล้ว เราประสานไปที่ไหน ก็ไม่มีใครทำให้ ทั้งที่ตัวเธอเองก็ยืนยันว่าจะยุติการตั้งครรภ์ ก็เครียด ร้องไห้ตลอดเวลา

สุดท้ายก็ต้องนั่งคุยกัน เปลี่ยนทิศทาง จำเป็นต้องท้องต่อทั้งที่ไม่พร้อม ก็ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูแล เพราะเธอต้องการยกบุตรให้คนอื่นดูแล เพราะตัวเธอเองดูแลไม่ไหวแล้วจริงๆ ระหว่างนั้นจึงดูแลเธออย่างใกล้ชิดจนกว่าจะคลอด นี่ก็เป็นเคสตัวอย่างว่าทำไมสิทธิการตัดสินใจ ถึงไม่อยู่ที่ตัวผู้หญิงเอง

นายสมวงศ์กล่าวอีกว่า จากข้อมูลผู้มาขอคำปรึกษาสายด่วน 1663 พบว่าสถานการณ์โควิดที่มีปัญหาความยากจนเข้ามา ทำให้ผู้หญิงตัดสินทำแท้งมากขึ้น 14 เปอร์เซ็นต์

รู้หรือไม่ ‘ทำแท้ง’ อยู่ในสิทธิบัตรทอง

สุพีชา เบาทิพย์ ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงานกลุ่มทำทาง กล่าวว่า ปัญหาหลักตอนนี้อีกอย่างคือ การขาดประชาสัมพันธ์ ว่ามีบริการแบบนี้อย่างไรบ้าง ที่ไหนบ้าง สามารถเข้าถึงได้อย่างไร เป็นสิ่งที่ สธ.ทำได้ โดยไม่ต้องรอประกาศกระทรวง ตรงนี้พอไม่มี นอกจากประชาชนไม่รู้ ยังพบว่าตัวเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเองก็ไม่รู้ ทำให้เวลารับเรื่องแล้วไม่รู้ว่าจะไปต่อยังไง ก็ปฏิเสธเอาดื้อๆ เลย

กระทั่งเงินรายหัวที่เป็นค่าใช้จ่ายยุติการตั้งครรภ์ 3,000 บาท จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จ่ายให้ผู้หญิง ก็ไม่ค่อยมีใครทราบ

สุพีชา เบาทิพย์

สุพีชาสังเกตเห็นข้อมูลผู้โทรเข้ามาขอคำปรึกษาสายด่วน 1663 ปีละประมาณ 5 หมื่นเคส แต่ได้รับสิทธิยุติการตั้งครรภ์จาก สปสช.เพียง 5 พันคน เธออยากรู้ว่าที่เหลือหายไปไหน!

“น่าสนใจแม้กฎหมายเปลี่ยน ทำไมผู้ให้บริการยังถูกตีตรา บ้างถูกต่อว่าว่าพวกมือเปื้อนเลือด เห็นแก่เงิน ใช้หมอจริงหรือเปล่า ไร้จริยธรรม ตรงนี้ก็อยากให้กรมอนามัยออกมาสนับสนุน และให้เครดิตแพทย์และสถานบริการด้านนี้”

ภายในงานยังแนะนำผู้หญิงไปใช้บริการฯ หากถูกปฏิเสธ ให้โทรแจ้งสายด่วน สปสช. 1330 เอาผิดการรักษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานได้ ตามมาตรา 57 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ หรือสามารถไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image