7 ปี พ.ร.บ.เท่าเทียมระหว่างเพศฯ ทำไมไทยยังเหลื่อมล้ำ!

7 ปี พ.ร.บ.เท่าเทียมระหว่างเพศฯ ทำไมไทยยังเหลื่อมล้ำ!

ประเด็นความเท่าเทียมระหว่างเพศถูกหยิบยกพูดถึงอยู่เสมอ ที่น่าสนใจคือ มิติกฎหมาย ที่จัดเต็มในงานสัมมนาเรื่อง “สิทธิและความเท่าเทียมระหว่างเพศในกฎหมายไทย” จัดโดย สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า และคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร

รศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กฎหมายไทยกับความเท่าเทียมทางเพศ” ว่า หากดูประสบการณ์ของรัฐอื่นๆ ในโลก มีความพยายามใช้กฎหมายจัดการกับความเท่าเทียมกับกลุ่มต่างๆ แต่ตัวกฎหมายของรัฐก็สะท้อนความไม่เท่าเทียมบางเรื่อง เช่น คุ้มครองคนไม่เท่ากัน ให้สิทธิประโยชน์คนไม่เท่ากัน กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมนี้เป็นการผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียม

เปิดข้อมูลจาก องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี (OECD) ด้านการศึกษา พบว่า จำนวนคนเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย มีสัดส่วนผู้หญิงมีสูงกว่าผู้ชาย ผู้หญิงมีโอกาสเรียนจบมากกว่า และมีผลการเรียนที่ดีกว่า

รศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

ซึ่ง รศ.ชลิดาภรณ์บอกว่า ตรงนี้อาจดูเหมือนความเสมอภาคเท่าเทียมเกิดขึ้นแล้ว แต่เมื่อดูคนที่เรียนในมหาวิทยาลัย อย่างสาขามนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และสาขาอักษรศาสตร์ ร้อยละ 80 ของผู้เรียนเป็นผู้หญิง ส่วนสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ร้อยละ 20 ของผู้เรียนเป็นผู้หญิง แปลว่าในจำนวนผู้หญิงที่เรียนในมหาวิทยาลัยเยอะแยะ จะหนักในบางสาขาที่เหมาะกับผู้หญิงเท่านั้น ปัญหาคือ ตอนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

Advertisement

“ข้อมูลจากเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม 2021 พบว่า รายได้เฉลี่ยของผู้หญิงต่อผู้ชายในตลาดแรงงานในเวลานี้ ยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ ผู้หญิงมีรายได้น้อยกว่าผู้ชาย อย่างโดยเฉลี่ยทุก 1 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐที่ผู้ชายหาได้ ผู้หญิงจะหาได้ 80 เซนต์ และไม่มีประเทศไหนในโลกจะทำให้เท่ากันได้ ซึ่งความไม่เท่ากันมาจากสาขาวิชาที่เรียน นั่นแปลว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างหญิงชาย จะอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ทำอะไรไม่ได้”

ถึงตรงนี้อาจเกิดข้อสงสัยว่า แล้วทำไมผู้หญิงไม่เรียนวิทยาศาสตร์ รศ.ชลิดาภรณ์บอกว่า อาจด้วยเรื่องเพศสภาพที่จำกัดเราอยู่ เวลาจะเลือกเรียน เลือกประกอบอาชีพ หรือเลือกทำกิจกรรม มันมีกรอบคิดเพศสภาพจำกัดเราอยู่ อย่างผู้หญิงหลายคนบนโลกอาจมองว่าการจะเลือกเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ จะต้องมีความฉลาดปราดเปรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องของเพศสภาพชายในความเชื่อของเขา ฉะนั้นโจทย์ใหญ่คือความเชื่อคน ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ง่ายๆ

“ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอาจถูกแก้ไขได้ในหลายประเทศ แต่พอมาถึงการจ้างงาน เรื่องการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ปัญหายังใหญ่มหาศาลมาก ไม่ว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายของรัฐต่างๆ จะผลักดันสุดตัวอย่างไรให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม ก็ยังทำอะไรไม่ได้” รศ.ชลิดาภรณ์กล่าว

งานเสวนาโฟกัสกลับมาโฟกัสประเทศไทย ที่ผ่านมามีความพยายามลดความเหลื่อมล้ำทางเพศผ่านการออกกฎหมาย อย่าง “พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558” ซึ่งถูกบังคับใช้มา 7 ปี แต่ประสบความสำเร็จหรือไม่

ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวบรรยายเรื่อง “เท่าแท้ หรือ เท่าเทียม : 7 ปี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” ว่า จากการศึกษา พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ ที่ใช้มา 7 ปี กับผู้บังคับใช้กฎหมาย นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม และประชาชนที่เคยใช้กฎหมายดังกล่าว ภาพรวมพบว่า กฎหมายนี้ยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ควรจะเป็น คือ สร้างความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคมไทย และลดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

ผศ.สาวตรี สุขศรี

ส่วนสาเหตุมาจากอะไรนั้น ผศ.สาวตรี ขยายความว่า ตั้งแต่บทบาทที่น้อยเกินไปของคณะกรรมการระดับชาติ อย่างคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) ส่วนคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ก็ไม่ใช่คณะกรรมการประจำ การทำงานขึ้นอยู่กับการเรียกประชุมเป็นครั้งๆ ส่งผลให้พิจารณาและวินิจฉัยคดีเลือกปฏิบัติทางเพศล่าช้า อีกทั้งมีข้อจำกัดว่าต้องให้ผู้เสียหายมายื่นคำร้องเท่านั้น ตลอดจนปัญหาการไม่มีอำนาจสั่งการที่แท้จริง ทำให้ไม่สามารถยุติการเลือกปฏิบัติได้ในหลายกรณี
“ที่สำคัญตัวกฎหมายยังกำหนดข้อยกเว้นด้านความมั่นคง และศาสนา ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ จนกลายเป็นว่ากฎหมายนี้ สนับสนุนให้เกิดการเลือกปฏิบัติเสียเอง”

แต่ถึงอย่างไร ผศ.สาวตรียืนยันว่า ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ เพื่อเป็นเครื่องมืออย่างเป็นรูปธรรมว่าการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศเป็นสิ่งต้องห้าม เพียงอาจต้องปรับปรุง ต่อยอดให้ครอบคลุมมิติต่างๆ มากขึ้น อาทิ ยกเลิกข้อยกเว้นด้านความมั่นคง ศาสนา, ให้ วลพ.อย่างน้อยกึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้นเป็นตำแหน่งประจำและทำงานเต็มเวลา, เพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพื่อมาดูแลประเด็นตามกฎหมายนี้ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ประจำในต่างจังหวัด, ให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายนี้ เป็นหน่วยงานอิสระ หรือหน่วยงานเฉพาะ, รวบรวมกรณีศึกษาการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศทั้งไทยและต่างประเทศ จัดทำเป็นคู่มือสำหรับผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น

สร้างความเท่าเทียมทางเพศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image