เครือข่าย LGBTQ ยันไม่เอาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ ไม่ตอบโจทย์ แยกพลเมืองชั้นสอง ชี้ปชช.ต้องการ ‘สมรสเท่าเทียม’

เครือข่าย LGBTQ ยันไม่เอาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ ไม่ตอบโจทย์ แยกพลเมืองชั้นสอง ชี้ปชช.ต้องการ 'สมรสเท่าเทียม'

เครือข่าย LGBTQ ยันไม่เอาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ ไม่ตอบโจทย์ แยกพลเมืองชั้นสอง ชี้ ปชช.ต้องการ ‘สมรสเท่าเทียม’

ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อเป็นกฎหมายที่รองรับความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน โดยยืนยันว่าไม่แตกต่างไปจากคู่สมรส และได้รับฟังเสียงประชาชนในทุกมิติแล้วนั้น

จากข่าว

– ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เปิดทางคู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียน-รับเลี้ยงลูกบุญธรรม และจัดการมรดกได้

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน นัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เปิดเผยว่า ถือเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ตอบโจทย์ประชาชน เพราะรัฐบาลไม่เห็นหัวประชาชน และหากจะออกกฎหมายโดยอ้างว่าให้เป็นของขวัญให้ชาวแอลจีบีทีคิว นี่เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้อยู่บนบรรทัดฐานความเท่าเทียม แต่เป็นอำนาจของผู้ปกครองกำหนดให้ผู้ถูกปกครอง ทั้งที่จริงๆ รัฐบาลต้องออกกฎหมายที่ตอบโจทย์ประชาชน

Advertisement

“การเขียนกฎหมายรับรองสถานะครอบครัวไทยทุกคน มันไม่มีเหตุผลที่ครอบครัวจะได้รับสิทธิและสวัสดิการแตกต่างกัน ทั้งที่พวกเขาก็จ่ายภาษีเหมือนกัน”

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … ที่เข้า ครม.รอบแรกกับรอบที่สอง เนื้อหาแตกต่างกันนิดหน่อย อย่างเรื่องการรับบุตรบุญธรรม ที่ร่างแรก ยังมีอคติว่าแอลจีบีคิวไม่เหมาะกับการเลี้ยงเด็ก เพราะเด็กต้องเติบโตมามีพ่อที่เป็นผู้ชาย และแม่ที่เป็นผู้หญิง ทั้งที่หากเข้าใจแอลจีบีทีคิวพวกเขาไม่ได้บอร์นทูบี แต่ล้วนค้นพบตัวเองและก้าวออกมาจากกรอบเพศ กระทั่งร่างรอบสองเปิดให้รับได้ แต่ก็ยังแตกต่างกับคู่สมรสในกฎหมายแพ่งฯ ที่ลงรายละเอียดถึงคู่ที่มีลูกติดจะได้รับสิทธิและสวัสดิการจากคู่ใหม่อย่างไร แต่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ หนนี้ ก็ไม่ได้ระบุถึง

อดีต กสม.กล่าวอีกว่า สิ่งที่ยังติดใจอีกอย่างคือ รัฐบาลพยายามประโคมข่าวว่าร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …ให้สิทธิได้เท่าคู่สมรสในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็ทำให้เห็นว่าไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศเลย ออกกฎหมายอย่างนี้ ทำให้ต้องหาเหตุผลไปชี้แจงในต่างประเทศที่รัฐไปลงนามในอนุสัญญา ว่าทำไมต้องทำอย่างนี้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ได้ว่าจ้างสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งมารับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายคนหลากหลายทางเพศ เพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … โดยยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้สามารถปรับได้เต็มที่ แต่ภายหลังรวบรวมความคิดเห็นไปเสนอ ยธ.พบข้อสรุปว่าก็ไม่ได้แก้ในเรื่องใหญ่ที่แอลจีบีทีคิวนำเสนอ สะท้อนวิธีทำงานแบบเดิมๆ ที่ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ อ้างว่าฟังเสียงประชาชนแล้ว จึงเสนอเข้า ครม. โดยที่ไม่ได้มองว่าประชาชนจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์หรือผลกระทบจากกฎหมายนี้โดยตรง

“จริงๆ งานเทศกาลไพร์ด ก็กระจ่างชัดอยู่แล้วว่าเสียงของประชาชนหนักแน่นแค่ไหน ต้องการอะไร แต่พวกเขาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ และยังยืนยันว่าจะทำง่ายๆ อย่างนี้ ฉะนั้นอยากให้รัฐรื้อมุมมองการร่างกฎหมายใหม่ ออกกฎหมายให้ตอบโจทย์ประชาชน” นัยนากล่าว

นัยนา สุภาพึ่ง

ด้าน เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง หญิงรักหญิง ซึ่งใช้ชีวิตคู่กับ พวงเพชร เหงคำ อย่างเรียบง่ายที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน มากว่า 14 ปี และเป็นคู่รักที่ไปร้องเรียนหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เพื่อให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสเท่าเทียม กล่าวว่า รู้สึกไม่โอเคกับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … เพราะยังไม่ให้สิทธิในการดูแลคู่ชีวิตเหมือนเดิม เช่น สิทธิการรักษา สิทธิสวัสดิการของรัฐ สิทธิประกันสังคม สิทธิที่คู่ชีวิตของเราตาย

“มองว่าร่างกฎหมายคู่ชีวิตที่ออกมา เหมือนเป็นเกมการเมืองมากกว่า เหมือนเป็นเค้กที่เขาแบ่งปันมา แต่ไม่ได้มองคุณค่าของมนุษย์ เสมือนว่าเราเป็นประชาชนชั้นสอง ทั้งที่ต้องการสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกันในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่ทุกคนก็เสียภาษีเหมือนกัน แต่ทำไมได้รับการตอบแทนจากภาครัฐไม่เหมือนกัน”

เพิ่มทรัพย์กล่าวอีกว่า จริงๆ กฎหมายที่ต้องการคือ แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ว่าด้วยการสมรสที่กำหนดให้ชายหญิงเท่านั้น เปลี่ยนเป็นบุคคลต่อบุคคลเท่านี้แค่นั้น ซึ่งขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ … พ.ศ. … หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม นำเสนอในรัฐสภา โดยพรรคก้าวไกล และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … ที่ภาคประชาชนได้เข้าชื่อขณะนี้ได้เกือบ 4 แสนรายชื่อแล้ว เตรียมเสนอรัฐสภาต่อไป

เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง (คนขวาของภาพ)

วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊กสมรสเท่าเทียม Marriage Equality โพสต์ 13 เหตุและผลเพราะอะไรต้อง? #สมรสเท่าเทียม ว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะยืนกรานที่จะนำร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไปพิจารณาร่วมกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 8 มิถุนายนนี้

และไม่ว่าผลการโหวตในสภาจะเป็นเช่นไร ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ยังคงยืนยันการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ภาคประชาชน (แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้อง) ด้วยเหตุผล ดังนี้

1.เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 บัญญัติให้สิทธิการสมรสเฉพาะเพศชายกับเพศหญิง ทำให้คู่รักหลากเพศ เช่น หญิงรักหญิง ชายรักชาย บุคคลรักได้ทั้งสองเพศ บุคคลข้ามเพศ บุคคลเพศกำกวม บุคคลนอนไบนารี ฯลฯ (LGBTIQN+) ถูกจำกัดสิทธิ ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ขาดสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรีที่พึงมีต่อกัน และพึงได้รับจากการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน

2.การเป็น ‘คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (Lawful Spouses)’ เป็นคำที่เป็นสากลและสามารถกล่าวอ้างได้ทั่วโลก ในขณะที่การเป็นคู่ชีวิต (Civil Partnerships) ไม่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศทุกประเทศ

3.หากประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมในรูปแบบของ ป.พ.พ. คู่สมรส  LGBTIQN+ ที่เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เช่น นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ ก็จะได้รับการคุ้มครองและมีศักดิ์ศรีตามที่เคยได้รับในประเทศต้นทางที่มีกฎหมายให้ความเสมอภาคในการสมรสเช่นเดียวกัน

4.การขยายการสมรสตาม ป.พ.พ. ไปยังคู่ LGBTIQN+ ช่วยแก้ไขปัญหาการไม่ได้รับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้คู่รัก LGBTIQN+ได้รับสิทธิหน้าที่ที่คู่สมรสชาย-หญิงทั่วไปได้รับ เช่น สิทธิในการปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิในการดำเนินการตั้งครรภ์แทนโดยอาศัยเทคโนโลยี สิทธิในสวัสดิการภาครัฐและเอกชน ในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ฯลฯ

นอกจากนั้นเด็กที่เลี้ยงดูโดยคู่ LGBTIQN+ จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากคู่  LGBTIQN+ทั้งสองในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย เฉกเช่นคู่รักชาย-หญิงทั่วไป ไม่เกิดความแตกต่างแปลกแยก

5.การรับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่ ตามร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในฐานะ ‘คู่ชีวิต (Civil Partnerships)’ ไม่ปรากฏในประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ หรือระเบียบของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนใด ๆ มาก่อน ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอื่นทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง หากต้องการสิทธิใดๆ ในฐานะ ‘คู่ชีวิต’ ตามกฎหมายอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลรัษฎากร พ.ร.บ.ประกันสังคม ฯลฯ

6.การแก้ ป.พ.พ. 1448 หรือสมรสเท่าเทียม จะปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กในครอบครัวเพศหลากหลาย ให้ได้รับสิทธิเฉกเช่นเดียวกับคู่ผู้ปกครองต่างเพศ เช่น เมื่อบุตรเกิดมาจากผู้ปกครองเพศเดียวกัน ไม่ต้องรอผ่านขั้นตอนการรับอุปการะเลี้ยงดูที่อาจใช้เวลานาน แต่ได้รับการรับรองเป็นผู้ปกครองตามกฎหมาย ต่างจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ไม่รับรองการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ อีกทั้งลดการเลือกปฏิบัติต่อเด็กจากครอบครัวเพศหลากหลาย หรือเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ หากการสมรสครอบคลุมทุกเพศ

7.การออก พ.ร.บ.คู่ชีวิตแยกออกจาก ป.พ.พ. ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการตีตรา การเลือกปฏิบัติ และการใช้ดุลพินิจในการจำกัดสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกระบวนการหรือสถานที่สำหรับจดทะเบียนคู่ชีวิตมีการปฏิบัติที่แตกต่างจากการจดทะเบียนสมรสตาม ป.พ.พ. อาจถือเป็นเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และคุณลักษณะทางเพศ (SOGIESC)

8.การจัดทำร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แทนที่จะไปปรับแก้ ป.พ.พ. เพื่อขยายสิทธิการสมรสให้เท่าเทียม ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อศักดิ์ศรีของการก่อตั้งสถาบันครอบครัวของคู่ LGBTIQN+ ว่าด้อยกว่าศักดิ์ศรีของคู่รักต่างเพศอย่างไร

9.ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ผ่านมามีความซับซ้อนในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การตรวจสอบว่าคู่ชีวิตหรือคู่สมรสเคยจดทะเบียนแบบใดมาก่อน เคยจดทะเบียนซ้อนหรือไม่ หรือสิทธิหน้าที่ใดตาม ป.พ.พ. จะสามารถนำมาอนุโลมบังคับใช้ให้กับคู่ชีวิตมากน้อยหรือไม่เพียงใด

10.ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีการบังคับใช้กฎหมายโดยอนุโลม เป็นการผลักภาระหน้าที่ใช้ผู้ใช้กฎหมาย ต้องพึ่งพิงการตีความของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และหากมีข้อโต้แย้งต้องนำไปสู่การพิจารณาโดยศาล

11.หากร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ประกาศใช้เป็นกฎหมาย อาจทำให้เกิดข้ออ้างว่า มีกฎหมายแล้วจะเรียกร้องอะไรอีก ได้คืบจะเอาศอก ทำให้การผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในอนาคตทำได้ด้วยความยากลำบาก

12.ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ให้ศักดิ์ศรีและสิทธิต่างกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไป ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พันธกรณี และหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศและคุณลักษณะทางเพศ (SOGIESC)

13.การที่รัฐยืนยันที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นการเพิกเฉยต่อการเรียกร้องพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่สนับสนุน ร่างแก้ไข #สมรสเท่าเทียม ผ่านเว็บไซต์  www.support1448.org  ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายกว่า 330,000 รายชื่อ ณ ปัจจุบัน

สมรสเท่าเทียม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

– คู่รัก LGBTQ ชีวิตบนขวากหนาม รอวัน “สมรสเท่าเทียม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image