มองบทบาท “ผู้หญิง” ในสื่อไทย ผลิตคอนเทนต์สร้างสรรค์ได้อย่างไร ถ้ายังไม่ก้าวข้าม ‘ชายเป็นใหญ่’

มองบทบาท "ผู้หญิง" ในสื่อไทย ผลิตคอนเทนต์สร้างสรรค์ได้อย่างไร ถ้ายังไม่ก้าวข้าม 'ชายเป็นใหญ่'

มองบทบาท “ผู้หญิง” ในสื่อไทย ผลิตคอนเทนต์สร้างสรรค์ได้อย่างไร ถ้ายังไม่ก้าวข้าม ‘ชายเป็นใหญ่’

หลากหลายคำถามคำต่อว่าที่มีต่อ สื่อไทย ว่านำเสนอเนื้อหาไม่สร้างสรรค์ อย่างบางรายการวางบทบาทผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ล้ำเส้นความพอดี ท่ามกลางสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนเริ่มตระหนักความเท่าเทียมทางเพศ เป็นความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับสื่อไทย ถูกพูดคุยและชวนหาคำตอบในงาน เสวนา “มองสื่อไทย…สร้างสรรค์หรือด้อยค่าสตรี” จัดโดย มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน

นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ กล่าวเปิดเสวนาว่า ประเทศไทยมีความพยายามแก้ไขปัญหาสตรี หนึ่งในนั้นคือเรื่องสื่อ ที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์และด้อยค่าสตรี พบว่าสื่อบางส่วนมองข้ามผลกระทบที่มีต่อสตรี ไม่ว่าจะรายการข่าว รายการวาไรตี้ต่างๆ จึงมีการจัดเสวนานี้ขึ้น เพื่อพูดคุยว่าสื่อแบบไหนสร้างสรรค์ สื่อแบบไหนด้อยค่าผู้หญิง และหาทางว่าแล้วเราจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้

เสวนา “มองสื่อไทย…สร้างสรรค์หรือด้อยค่าสตรี”
เสวนา “มองสื่อไทย…สร้างสรรค์หรือด้อยค่าสตรี”

ภายในงานเริ่มต้นสะท้อนปัญหาสื่อไทยในปัจจุบัน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก “ความคิดชายเป็นใหญ่”

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า วิธีคิดชายเป็นใหญ่ฝังลึกมายาวนานในสังคมไทย การทำคอนเทนต์จึงอาจวนเวียนกับเรื่องนี้ อย่างละครแม้ช่วงหลังจะปรับตัวไม่มีฉากไม่เหมาะสม แต่พบว่าคำพูดคำจาของนักแสดงก็ยังเหมือนเดิม แต่ที่น่าเกลียดเลยคือ รายการวาไรตี้หรือรายการตลก ที่มีคำพูดและพฤติกรรมคุกคามทางเพศและด้อยค่าผู้หญิงชัดเจน อย่างคำพูดที่หลุดมาเป็นประจำคือ “อีแก่” นี่เป็นการไม่ให้เกียรติภรรยาที่บ้านเลย ส่วนนักแสดงชายบางคนก็เข้าไปคุกคามแขกรับเชิญหญิง มีการพูดจาสองแง่สองง่าม แตะเนื้อต้องตัว

Advertisement

  “บางคนอาจคิดว่าในเมื่อผู้หญิงก็ไม่โวยวายเรียกร้อง แล้วคนอื่นจะไปเดือดร้อนทำไม อยากจะบอกว่าคิดอย่างนี้ไม่ได้ เพราะนี่คือความไม่ถูกต้อง จริงๆ หากมีคนร้องเรียน เขาก็ผิด เพราะเป็นรายการไม่สร้างสรรค์ ซึ่งหากดูในโลกโซเชียล จะพบว่าคนเริ่มออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับสื่อไม่สร้างสรรค์แบบนี้เยอะแยะเลย”

จะเด็จทวงถามหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำไมต้องรอให้ปัญหาเกิดก่อน รอให้ภาคประชาสังคมไปร้องเรียนก่อน ถึงจะเริ่มดำเนินการแก้ปัญหา เขายกกรณีฉากข่มขืนจากละคร “เมียจำเป็น” ที่มีการร้องเรียนเมื่อปี 2564 จนเกิดการเอ็มโอยูระหว่างหน่วยงานรัฐ เพื่อมามอนิเตอร์สื่อที่แสดงเนื้อหาไม่เหมาะสม ทว่าต้องแอคชั่นให้มากกว่านี้ ยิ่งในสื่อในโซเชียลมีเดียที่หลายรายการไม่ให้เกียรติผู้หญิงเลย ก็ไม่รู้ว่าจะมีการตรวจสอบบ้างไหม

จะเด็จ กล่าวอีกว่า อยากฝากผู้บริโภคตั้งคำถามเวลาดูสื่อ สื่อไหนผลิตเนื้อหาดี ก็สนับสนุน สื่อไหนผลิตเนื้อหาไม่ดี แม้จะตลก ก็ต้องแบนไป อย่าไปสนับสนุนให้เขากดทับผู้อื่นอีกต่อไป หรือหลายๆ คนอาจโพสต์แสดงความต่อต้านได้ ส่วนภาคประชาสังคม ก็จะไม่หยุดตรวจสอบ

Advertisement
เสวนา “มองสื่อไทย…สร้างสรรค์หรือด้อยค่าสตรี”
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล

การเสวนาลงลึกถึงวิชาชีพสื่อ มีสัดส่วนผู้บริหารองค์กรที่เป็นผู้หญิงน้อย อย่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่มีนายกฯมาแล้ว 30 กว่าท่าน มีผู้หญิงเป็นนายกฯเพียง 5 คน ฉะนั้นหากอยากให้องค์กรสื่อผลิตคอนเทนต์สร้างสรรค์ คอนเทนต์ที่ให้คุณค่าผู้หญิงได้อย่างยั่งยืน ต้องผลักดันให้ผู้หญิงได้ขึ้นสู่ระดับบริหารมากขึ้น และสร้างระบบองค์กรให้ดีจากข้างใน

  ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากคอนเทนต์ที่ก้าวหน้า ดูยกระดับประชาชน แต่ในข้อเท็จจริงคือ หลายสำนักข่าวยังมีการล่วงละเมิดทางเพศผู้ปฏิบัติงานสื่อในองค์กรตัวเอง สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกรายงาน เพราะเสียภาพลักษณ์องค์กร ฉะนั้นหากอยากให้สื่อไทยสร้างสรรค์คุณค่าสตรี ในองค์กรสื่อเองก็ต้องให้คุณค่าและยกระดับสตรีในองค์กรด้วย

“จากข้อมูลที่เคยสำรวจคนเรียนคณะนิเทศน์ศาสตร์ มีผู้หญิงเรียนมากกว่าผู้ชาย จนเริ่มเข้าทำงานในองค์กรสื่อ ก็มีผู้สื่อข่าวหญิงมากกว่าผู้สื่อข่าวชาย แต่ทำไมพอถึงเวลาหนึ่งผู้หญิงหายไปหมดเลย ไม่ก้าวสู่ตำแหน่งบริหาร นั่นเพราะพวกเธอไม่มีความปลอดภัยในการทำงาน ตั้งแต่ถูกพูดหยอกเย้า ถูกแตะนิดแตะหน่อยจากผู้ชายในองค์กร ทำให้พวกเธอเกิดความหวาดระแวง กดดัน ทุกข์ จนต้องละทิ้งความฝัน”

ดร.ชเนตตีสะท้อนถึงระบบในองค์กรสื่อ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุให้บุคลากรหญิงหายไประหว่างทาง อย่างผู้หญิงในกองถ่ายละคร กองข่าว ทำงานเลิกดึกกลับบ้านยังไง กินอยู่นอนเข้าห้องน้ำให้ปลอดภัยไม่ถูกถ้ำมองได้อย่างไร ซึ่งองค์กรสื่อเคยใส่ใจไหม เช่นเดียวกับผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงมีลูกเล็ก ในองค์กรสื่อมีเนอสเซอรี่ไหม มีห้องให้นมลูกหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ กำจัดความฝันผู้หญิงไป เพราะองค์กรสื่อไม่เห็นคุณค่าพนักงานสตรีในองค์กร นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย หากเราเห็นคุณค่าผู้หญิงในองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ฉะนั้นองค์กรสื่อต้องลงทุน หากแก้ปัญหาตรงนี้ได้ อนาคตสัดส่วนผู้บริหารหญิงจะเพิ่มขึ้นแน่นอน

“สื่อต้องยกระดับในองค์กรให้เคลียร์ เป็นการยกระดับสถานภาพสตรีจริงๆ เพื่อสามารถพูดได้ว่าบทความนี้ เขียนจากสำนึกที่ตระหนักความเท่าเทียมทางเพจริงๆ เพราะดูแลผู้หญิงในองค์กรอย่างดี ประชาชนจะสัมผัสได้เองว่าสื่อนี้คุณภาพจริงๆ”

ดร.ชเนตตียังตอบข้อสงสัยว่าสังคมช่วงหลังก็ให้โอกาสผู้หญิงมากขึ้นแล้ว ผู้หญิงสมัยนี้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าสมัยก่อน จะมาเรียกร้องอะไรอีกว่า ไม่อยากให้มองภาพเหมารวมตรงนี้ เพราะจะทำให้มองไม่เห็นปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีความละเอียดอ่อนซับซ้อนมากขึ้น อาจมองไม่เห็นชัดเจนอย่างการจับหน้าอกเหมือนสมัยก่อน

  “การที่มันดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน ไม่ได้หมายความว่าสังคมเราเท่าเทียมแล้ว ยิ่งกับความคิดว่าระบบดีอยู่แล้ว สิ่งชั่วร้ายคือปักเจกในระบบ อันนี้ยิ่งไม่จริง เพราะถ้าระบบดีจริง ก็จะไม่มีปัจเจกที่ชั่วร้ายในองค์กร เพราะมีระบบป้องกัน เฝ้าระวัง จัดการปัญหา มีการส่งเสริม มีห้องปั๊มนม มีเนอสเซอรี่ ห้องน้ำที่ปลอดภัย ฉะนั้นการมีปักเจกที่ชั่วร้ายในองค์กร แสดงว่าระบบองค์กรนั้นไม่ได้ดีจริง” ดร.ชเนตตีกล่าว

  ต้องดีจากข้างใน

เสวนา “มองสื่อไทย…สร้างสรรค์หรือด้อยค่าสตรี”
ดร.ชเนตตี ทินนาม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image