รู้จัก “ซอฟต์พาวเวอร์” 3 ประเทศท็อปทรี ‘สุดต๊าซ’ ของโลก แทรกซึมอยู่ใน ‘วิถีไทย’ แบบไม่รู้ตัว

รู้จัก "ซอฟต์พาวเวอร์" 3 ประเทศท็อปทรี 'สุดต๊าซ' ของโลก แทรกซึมอยู่ใน 'วิถีไทย' แบบไม่รู้ตัว

รู้จัก “ซอฟต์พาวเวอร์” 3 ประเทศท็อปทรี ‘สุดต๊าซ’ ของโลก แทรกซึมอยู่ใน ‘วิถีไทย’ แบบไม่รู้ตัว

เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลก หลัง “มิลลิ” (MILLI) ดนุภา คณาธีรกุล แร็ปเปอร์สาวหนึ่งเดียวของไทย โชว์กิน “ข้าวเหนียวมะม่วง” บนเวทีดนตรีระดับโลก ‘โคเชลลา’ (Coachella) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

เพียงโชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงไม่กี่คำ บวกกับเนื้อเพลงท่อนที่ว่า “Who want mango and rice that is sticky!!” ทำให้กระแสข้าวเหนียวมะม่วงจากประเทศไทย มาแรงสุดๆ และกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Mango Sticky Rice’ อีกทั้งยังเป็นคำที่เสิร์ชมากที่สุดในการค้นหาคำของกูเกิ้ลในช่วงเวลานั้น โดยประเทศที่ให้ความสนใจอันดับต้นๆ นอกจากไทยแล้ว คือ สิงคโปร์ โปรตุเกส มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา

นับเป็น “กระแสฟีเวอร์” ที่ถือเป็นปรากฎการณ์สำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นถึง “อำนาจ” และ “ความสามารถ” ของ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) ในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น อาหาร ดนตรี ศิลปะ หรือแม้แต่วิถีชีวิตของผู้คน ล้วนสามารถแปรเปลี่ยนมาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ทั้งสิ้น

MILLI
MILLI

 

Advertisement

เกาหลีใต้..ตัวพ่อ ‘พัฒนา’ ซอฟต์พาวเวอร์

ว่าถึง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในโลกยุคปัจจุบัน ประเทศที่ประสบความสำเร็จในเชิงของการ “พัฒนาพลังซอฟต์พาวเวอร์” ต้องยกให้ตัวพ่ออย่าง “เกาหลีใต้” ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและเป็นกระแสไปทั่วโลก ทั้งซีรีย์เกาหลี ดนตรีเคป็อป (K-Pop) อาหารเกาหลี รวมไปถึง ผลิตภัณฑ์และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จากเกาหลี

ทั้งนี้ จากผลการจัดอันดับประเทศที่มีพลังซอฟต์พาวเวอร์มากที่สุดในโลกประจำปี 2021 (อ้างอิงจาก Brand Finance/ Global Soft Power Index) 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.เยอรมนี, 2.ญี่ปุ่น, 3.อังกฤษ, 4.แคนาดา, 5.สวิตเซอร์แลนด์, 6.สหรัฐอเมริกา, 7.ฝรั่งเศส, 8.จีน, 9.สวีเดน, 10.ออสเตรเลีย

Advertisement

  โดยเกาหลีถูกจัดวางไว้ในอันดับที่ 11 และประเทศไทย อยู่ที่อันดับ 33 ของโลก

หลายคนอาจแปลกใจ แต่นี่เป็นการประเมินที่มิได้ประเมินเพียงมิติของด้านการบันเทิง หากแต่ครอบคลุมซอฟต์พาวเวอร์ใน 7 มิติ ได้แก่ ธุรกิจและการค้า, การบริหารงานของรัฐบาล, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, วัฒนธรรม, การสื่อสาร, การศึกษาและวิทยาศาสตร์, และคุณภาพชีวิตผู้คน

โดยทั่วไปแล้วเรามักคุ้นชินกับซอฟต์พาวเวอร์ที่มาในรูปแบบของสื่อบันเทิงต่างๆ แต่หากกล่าวจะถึงประเทศท็อป 3 ทั้งเยอรมนี, ญี่ปุ่น และอังกฤษ เราแทบไม่รู้จักหรือแทบไม่รู้สึกถึงพลังซอฟต์พาวเวอร์จากประเทศเหล่านั้นเลย โดยเฉพาะเยอรมนี

ทั้งที่ซอฟต์พาวเวอร์จากประเทศเหล่านั้น ต่าง “แทรกซึม” ในชีวิตประจำวันของเราในหลายมิติ และเราก็ซึมซับซอฟต์พาวเวอร์เหล่านั้นมาโดยที่ไม่รู้ตัว

ซอฟต์พาวเวอร์ เกาหลีใต้

 

ยืน 1 ซอฟต์เพาเวอร์ ‘เยอรมนี’

จากการมาถึงของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2020 ได้สร้างผลกระทบไปทั่วทุกมุมโลก การเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันเกิดขึ้นในทุกๆภาคส่วน ซึ่งรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านพลังอำนาจซอฟต์พาวเวอร์ด้วยเช่นกัน

ด้วยมาตรการการจัดการโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพของเยอรมนี ทำให้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของประเทศที่มีคะแนนซอฟต์พาวเวอร์มากที่สุดในโลกในปี 2021 สวนทางกับสหรัฐอเมริกาที่ร่วงจากอันดับ 1 ในปีก่อนหน้า

ความสำเร็จในด้านนี้เป็นผลพวงมาจากระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ ถือเป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เลือกเรียนต่อตามความสามารถและความถนัด อีกทั้งยังเน้นการศึกษาทางทฤษฏีควบคู่ไปกับการลงมือปฏิบัติจริงในสถานการณ์จริง ทำให้เยอรมนีมีความสามารถในการผลิต ‘ทรัพยากรมนุษย์’ ที่มีคุณภาพออกมาได้เป็นจำนวนมาก

ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศในทุกมิติ องค์ความรู้ต่างๆ รวมไปถึงกระบวนการการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเยอรมนีกลายเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องการ เฉกเช่นเดียวกันกับสินค้าและบริการของเยอรมนีที่โด่งดังไปทั่วโลก เช่น รถยนต์ เครื่องมือทางการแพทย์ และอื่นๆ อีกมากมาย

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เยอรมนีจึงกลายเป็นประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือและน่ายกย่องมากที่สุดประเทศหนึ่งในยุคปัจจุบัน

ในประเทศไทยนั้น ซอฟต์พาวเวอร์ของเยอรมนีแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่ในวัยเยาว์ อุปกรณ์การเรียนที่เราต่างคุ้นเคย เช่น ‘สีไม้เฟเบอร์-คาสเทลล์’ (Faber Castell), ‘ดินสอกดร๊อตติ้ง’ (Rotring), หรือแม้แต่ ‘กาวยูฮู’ (UHU) และเมื่อโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นซึ่งมักจะเริ่มใส่ใจเกี่ยวกับความงามของตนเองมากขึ้น ก็จะรู้จักกับแบรนด์อย่าง ‘นีเวีย’ (Nevia) หรือ ‘ยูเซอริน’ (Eucerin) และหากเข้าสู่วัยทำงานและเริ่มสนใจเกี่ยวกับรถยนต์ก็จะรู้จักกับแบรนด์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz), บีเอ็มดับเบิลยู (BMW), อาวดี้ (Audi), และอื่นๆ อีกมากมาย

อีกทั้งวัฒนธรรมการดื่มเบียร์ในไทย รวมไปถึงดนตรีคลาสสิคจากนักประพันธ์อย่าง ‘โมทซาร์ท’ (Mozart) หรือ ‘เบทโฮเฟิน’ (Beethoven) ก็ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ชนิดหนึ่งที่มาจากประเทศเยอรมนี จากตัวอย่างทั้งหมดจะเห็นว่า แม้เราแทบไม่รู้จักซอฟต์พาวเวอร์ของเยอรมนีในด้านบันเทิงเลย

แต่ซอฟต์พาวเวอร์ในด้านอื่นๆ นั้นต่างก็แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเราโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

ซอฟต์พาวเวอร์ เยอรมัน

 

“ญี่ปุ่น” ที่สองของโลก 

ถึงแม้ว่าในอดีตญี่ปุ่นจะถูกจดจำในฐานะผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วจนนำพาให้ก้าวขึ้นมาเป็นที่รู้จักกันดีในด้านของ ‘วัฒนธรรมและนวัตกรรมที่ล้ำสมัย’ และค่อยๆ พัฒนาสั่งสมพลังซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับการจัดลำดับให้เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศที่มีคะแนนของซอฟต์พาวเวอร์มากที่สุดเมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ติดอันดับท็อป 10 รวมไปถึงท็อป 5 ได้สำเร็จ

แม้ญี่ปุ่นจะมีกำแพงด้านภาษา แต่ก็สามารถก้าวข้ามกำแพงนั้นมาได้สำเร็จจนเป็นที่โด่งดังในหลายๆด้าน เช่น วัฒนธรรม อาหาร สื่อบันเทิง รวมไปถึง การ์ตูน อนิเมะต่างๆโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งปัจจัยด้านภาษาเหล่านั้นเลย ในทางกลับกัน เอกลักษณ์ทางด้านภาษาของญี่ปุ่น วัฒนธรรมที่มีความเฉพาะตัวและโดดเด่น และนวัตกรรมที่ล้ำสมัยของญี่ปุ่น กลับกลายเป็นไอคอนิกหลักของญี่ปุ่นที่ส่งเสริมให้พวกเขาโดดเด่นจนเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลก

ในโลกยุคปัจจุบัน หลายๆคนต่างต้องเคยสัมผัสกับความเป็นญี่ปุ่นอยู่บ้างไม่ทางใดก็ทางนึง ยกตัวอย่างเช่น เคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น, เคยได้ชิมอาหารญี่ปุ่น, เคยได้ดูหรืออ่านการ์ตูนของญี่ปุ่น, หรือแม้แต่เคยบริโภคสินค้าที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงในประเทศไทยแต่หากเกิดขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลก

ในด้านของวัฒนธรรม นอกเหนือจากลักษณะนิสัยที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นแล้ว ด้วยวิธีการทำอาหารที่เน้นความพิถีพิถัน ความชำนาญ รวมไปถึงความใส่ใจ ทำให้อาหารญี่ปุ่นถือเป็นอีกหนึ่งประเภทที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหลายประเทศ โดยอาหารยอดฮิตของญี่ปุ่นที่ได้สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลกนั้น ได้แก่ ซูชิ ปลาดิบ ราเมงหรือเนื้อวัว A5 เป็นต้น

ในด้านของสื่อบันเทิง ประเทศญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักกันดี ในฐานะของประเทศที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างมากในด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นรายการทีวีเรียลลิตี้โชว์ หรือการ์ตูน อนิเมะ มังงะ ซึ่งตัวการ์ตูนสุดไอคอนิกของญี่ปุ่นที่เราต่างคุ้นเคยก็จะมี ‘โดราเอมอน’ (Doraemon), ‘เฮลโลคิตตี’ (Hello Kitty), ‘โปเกมอน’ (Pokemon), และตัวละครอื่นๆอีกมากมาย

โดยหลังจากการมาถึงของโรคระบาดโควิด-19 ในปัจจุบันที่ทำให้หลายๆคนมีเวลาว่างเพิ่มมากขึ้นจากการกักตัวอยู่บ้าน การ์ตูนมังงะในรูปแบบอนิเมะของญี่ปุ่นนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนเป็นกระแสอีกครั้งเป็นบนสื่อต่างๆ เช่น เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เป็นต้น

ซอฟต์พาวเวอร์ของญี่ปุ่นเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ญี่ปุ่นติดอันดับเป็นหนึ่งที่เที่ยวยอดนิยมของโลก ซอฟต์พาวเวอร์ของพวกเขาสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากทั่วโลกให้อยากลองมาสัมผัสกับประสบการณ์ในดินแดนนอาทิตย์อุทัยด้วยตนเองสักครั้งหนึ่งในชีวิต

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นมีนวัตกรรมที่ทันสมัย จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจหากเราจะคุ้นเคยกับข้าวของเครื่องใช้ที่มาจากประเทศญี่ปุ่น เช่น กล้องถ่ายรูปจากแบรนด์อย่าง ‘โซนี่’, ยี่ห้อรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นอย่าง โตโยต้า หรือ ฮอนด้า, เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง โตชิบา หรือ พานาโซนิค

นอกเหนือจากนี้ยังมีแบรนด์เสื้อผ้าอย่าง ‘ยูนิโคล่’หรือแม้แต่เครื่องเกมอย่าง ‘นินเท็นโด’ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นซอฟต์พาวเวอร์จากญี่ปุ่นที่อยู่รอบตัวเราทั้งสิ้น อีกทั้งยังสอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของเราในหลายๆมิติ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลสำคัญให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศจากภูมิภาคเอเชียที่ประสบความสำเร็จในด้านซอฟต์พาวเวอร์มากที่สุด

ซอฟต์พาวเวอร์ ญี่ปุ่น

 

“เบร็กซิต” ไม่สะเทือน

  “อังกฤษ” ครองที่ 3

ถึงแม้ในปี 2020 เป็นต้นมา ประเทศอังกฤษ จะต้องรับมือและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อันเป็นผลมาจาก ‘เบร็กซิต’ (Brexit) หรือ ‘การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป’ แต่ผลการจัดอันดับคะแนนซอฟต์พาวเวอร์ในปี 2021 สะท้อนให้เห็นว่าการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปแทบไม่ส่งผลกระทบต่อคะแนนซอฟต์พาวเวอร์ของอังกฤษเลย โดยอังกฤษคว้าอันดับที่ 3 ไปครอง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปะ ดนตรี ภาพยนต์ หรือกีฬา

เริ่มจากด้านศิลปะ อังกฤษถือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คสำคัญของคนรักศิลปะ เฉพาะลอนดอนและเมืองรอบๆ ที่มีพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรีหรือโรงละครคุณภาพจำนวนมาก เช่น หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ, หอศิลป์แห่งชาติของกรุงลอนดอน, บริทิชมิวเซียม เป็นต้น

ด้านดนตรี อังกฤษมีวงดนตรีในตำนานสุดไอคอนิกอย่าง ‘วงเดอะบีเทิลส์’ และ ‘วงควีน’ ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักดนตรีรุ่นหลังๆทั่วโลก แถมในช่วง 2-3 หลังปีที่ผ่านมากระแสของวงควีนยังได้กลับมาฮิตติดซาร์ต บิลบอร์ดฮอต 100 อีกด้วย

ด้านสื่อบันเทิงหรือภาพยนต์ เราจะคุ้นชินกันดีกับมหากาพย์พ่อมดแฮร์รี่พอตเตอร์, สุภาพบุรุษสายลับอย่างเจมส์ บอนด์ หรือแม้แต่ทีวีซีรีย์มหาศึกชิงบัลลังก์ (Game of Thrones) ซึ่งภาพยนต์เหล่านี้ได้นำพานักท่องเที่ยวจำนวนมากสู่ดินแดนผู้ดีอังกฤษ รวมไปถึงส่วนหนึ่งของประเทศสหราชอาณาจักรอย่างไอร์แลนด์เหนือ (สถานที่ถ่ายทำทีวีซีรีย์ Game of Thrones) ด้วยเช่นกัน

อีกด้านหนึ่งที่คนไทยมักคุ้นเคยคือกีฬา คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ‘ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก’ คือหนึ่งในลึกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในยุคปัจจุบัน ซึ่งซอฟต์พาวเวอร์ในด้านนี้คือซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรมที่สำคัญที่ส่งผลให้ซอฟต์พาวเวอร์ของอังกฤษฉายออกมาอย่างเด่นชัด

โดยในประเทศไทยจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมการเชียร์ฟุตบอลนั้นอยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเป็นหนึ่งในนั้น

นอกเหนือจากนี้ ทางด้านการศึกษานั้นถือได้เป็นอีกหนึ่งด้านที่สำคัญที่สุดของซอฟต์พาวเวอร์อังกฤษ เนื่องจากอังกฤษเป็นอีกหนึ่งแหล่งรวมมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก นักศึกษาจำนวนมากจึงสนใจมาศึกษาต่อในมหาลัยเหล่านั้นและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในทุกๆปี อีกทั้งนักวิชาการและนักวิจัยจากอังกฤษยังมีส่วนช่วยอย่างมากในการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการออกมาสู่สังคมโลกในยุคปัจจุบัน ทำให้องค์ความรู้หลายๆ อย่างในยุคปัจจุบันถูกขับเคลื่อน พัฒนาและได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอังกฤษ ไม่มากก็น้อย

เป็นพลังวอฟซอฟต์พาวเวอร์ที่แทรกซึมอยู่ในชีวตประจำวันคนไทยแบบไม่รู้ตัว

ซอฟต์พาวเวอร์ อังกฤต ภาพ AFP
ซอฟต์พาวเวอร์ อังกฤต ภาพ AFP

 

 

ซอฟต์พาวเวอร์ “ไทย” ยังไงต่อดี?

ภายหลังกระแสซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศไทยถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก กระทรวงวัฒนธรรมได้มีการเปิดเผยแผนการพัฒนาและส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้ไปสู่ระดับโลก โดยมุ่งเน้นการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ 5 หมวดหมู่หรือที่เรียกสั้นๆว่า ‘5F’ ได้แก่

1.ด้านอาหาร (Food) ที่ต้องการจะพาอาหารไทยเข้าไปสู่ครัวโลกให้ได้,

2.ด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ที่ต้องการจะยกระดับมาตรฐานของภาพยนต์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกให้ได้,

3.ด้านแฟชั่น (Fashion) ที่ต้องการจะผลักดันสินค้าต่างๆของไทย เช่น ผ้าไหม ให้เป็นที่รู้จักบนเวทีแฟชั่นระดับโลกให้ได้,

4.ด้านศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) ที่ต้องการจะนำศิลปะการป้องกันตัวประจำชาติไทยอย่าง ‘มวยไทย’ ไปเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักบนเวทีโลกให้ได้,

5.ด้านเทศกาลประเพณีไทย (Festival) ที่ต้องการจะชูเทศกาลแบบไทยๆให้ไปเป็นเทศกาลในระดับนานาชาติ

จะเห็นได้ว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์ส่วนใหญ่ของไทยนั้นตั้งอยู่บนรากฐานทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนาน’ เช่นเดียวกันกับ ‘ญี่ปุ่นและอังกฤษ’ มรดกทางประวัติศาสตร์ของไทยในอดีตถูกถ่ายทอดและหล่อหลอมออกมาในรูปแบบของวัฒนธรรมที่หลากหลาย ดังจะเห็นจากวิถีชีวิต อาหารการกิน หรือแม้แต่ภาษาที่พูด ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายมากในด้านวัฒนธรรม

หากพิจารณาดูแล้ว แม้ว่าในด้านอื่นๆของไทย เช่น ความมั่นคงทางการเมืองหรือความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ จะดูเหมือนยังห่างชั้นกับประเทศชั้นนำอยู่มาก แต่ในมิติของซอฟต์พาวเวอร์นั้น ศักยภาพของประเทศไทยนั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศเหล่านั้นเลย หากเพียงแต่ว่าไทยไม่สามารถนำเสนอออกไปให้โดดเด่นได้ ส่วนหนึ่งเพราะขาดการผลักดันที่จริงจังและต่อเนื่องจากภาครัฐ เช่นกัน

ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า ถึงแม้ว่าประเทศชั้นนำส่วนใหญ่ของโลกจะมีแต้มต่อทางเศรษฐกิจ การศึกษา หรือแม้แต่มีภาพลักษณ์ที่ดีอยู่แล้วบนเวทีโลก แต่ด้วยพื้นฐานของประเทศไทยที่ไม่ได้เป็นประเทศเดียวมาก่อน หากแต่ประเทศไทยเกิดขึ้นมาจากการรวมตัวกันของอาณาจักรต่างๆ ในอดีตมากกว่า 10 อาณาจักร เช่น ล้านช้าง, ล้านนา, ละโว้, และทวารวดี เป็นต้น ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม ภาษา อาหารหรือวิถีชีวิต ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้ที่ไทยมีอยู่ก็ถือว่าเป็นแต้มต่อในการแข่งขันซอฟต์พาวเวอร์ได้เช่นกัน

ดร.นณริฏ ชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว ประเทศไทยมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมมากกว่าเกาหลีใต้เสียอีก ซอฟต์พาวเวอร์หลายอย่างที่โดดเด่นของเกาหลีส่วนใหญ่มักจะเป็นสิ่งที่ทำและสร้างขึ้นมาในสมัยใหม่ทั้งสิ้น เช่น วัฒนธรรมเคป็อป (K-Pop), หรือสถานที่ท่องเที่ยวอย่าง ร้านกาแฟจากซีรีย์รักวุ่นวายของเจ้าชายกาแฟ (Coffee Prince) และเกาะนามิ เป็นต้น

  “ที่ต่างกันกับไทยคือ เกาหลีสามารถบูรณาหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างร่วมกันได้ เช่น ถ้าจะขายหนังก็ต้องขายอาหาร ขายแฟชั่นด้วย เกาหลีสามารถสร้าง พัฒนาและประสบความสำเร็จด้านซอฟต์พาวเวอร์จากพื้นฐานที่น้อยกว่าประเทศไทยเสียอีก”

  “เรามีของดีที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ค่อนข้างเยอะ เราสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ได้อีกค่อนข้างมาก อยู่ที่ว่าเราจะขายของดีพวกนี้ออกไปได้ยังไง ก่อนสถานการณ์โควิดมีนักท่องเที่ยวมาที่ไทยอย่างน้อยปีละ 40 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดที่ทำให้เราสามารถทดลองได้ว่าเราอยากจะพัฒนาในแง่มุมไหน อะไรดีหรือไม่ดี ให้นักท่องเที่ยวเป็นผู้ทดลองใช้ว่าชอบหรือไม่ชอบสิ่งไหน เพราะในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวเขามองเราอยู่แค่ไม่กี่อย่าง เช่น สถานที่เที่ยวกลางคืน ปาร์ตี้ ชายหาด แต่จะทำยังไงให้ตรงนี้มีความหลากหลายได้” ดร. นณริฏ กล่าว

ซอฟต์พาวเวอร์ ไทย
ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI

นอกเหนือจากนี้ ด้านการผลักดันและสนับสนุนจากภาครัฐ ดร.นณริฏ ให้ความเห็นว่า “เรายังมีปัญหาด้านการตีความจากภาครัฐ เช่น เรื่องของการนำทศกัณฑ์มาชวนเที่ยวไทยหรือการนำผีนางรำที่มาผลิตเป็นเกม กลับถูกมองจากภาครัฐว่าเป็นรูปลักษณ์ที่ไม่เหมาะ การติดขัดในลักษณะนี้จะทำให้เราเสียโอกาส ซึ่งความเป็นจริงแล้วเราควรจะ blend in สิ่งเหล่านี้เข้าไปแบบเกาหลีที่เขาพยายามนำอาหาร วัฒนธรรม แฟชั่นต่างๆ ผสมผสานเข้าไปในสื่อต่างๆ”

โดยคีย์หลักสำคัญในการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ดร. นณริฏกล่าวว่า “หัวใจสำคัญคือองคาพยพต้องไปพร้อมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทัศนะคติของผู้สนับสนุนที่ต้องเปิดกว้าง รัฐต้องเปิดกว้างมากกว่านี้ เช่น ยักษ์ชวนเที่ยวหรือผีนางรำ ไม่ควรไปปิดกั้น เพราะมันอาจสร้างจุดขายให้กับเราได้ ยกตัวอย่างเกาหลีที่ช่วงหลังๆ มีการเอาธีมซอมบี้เข้ามาใช้ จนกลายเป็นภาพจำหนังซอมบี้แบบเกาหลีไปแล้ว ส่วนใหญ่เวลาภาครัฐช่วยมักจะเป็นการช่วยตามโอกาสหรือวาระ ขาดความต่อเนื่องและขาดการบูรณาการ เราต้องการความต่อเนื่อง

  “เราต้องรู้วิธีที่จะขายซอฟต์พาวเวอร์เหล่านี้ และเลือกไปขายให้ถูก ดูเทรนด์โลก ดูแนวโน้มว่าคนชอบอะไรของเราและทำให้สิ่งพวกนี้ติดใจต่างชาติให้ได้ ต้องทำให้พวกเขาสนใจและอยากมาเที่ยวที่ไทยให้ได้” ดร.นณริฏ ทิ้งท้าย

ซอฟต์พาวเวอร์ ไทย

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image