มายาคติ-อคติ ปัญหาคุกคามทางเพศ ‘ตีตรา โยนบาป’ ซ้ำเติมเหยื่อ

มายาคติ-อคติ ปัญหาคุกคามทางเพศ 'ตีตรา โยนบาป' ซ้ำเติมเหยื่อ

มายาคติ-อคติ ปัญหาคุกคามทางเพศ ‘ตีตรา โยนบาป’ ซ้ำเติมเหยื่อ

ในบริบทของสังคมยุคปัจจุบัน กรณีการถูกคุกคามทางเพศมักถูกเชื่อมโยงกับประเด็น ‘การแต่งกาย’ หรือ ‘การนำพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงของเหยื่อ’ อยู่เสมอ

ในแง่หนึ่ง การวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เหมือนเป็นการ “ผลัก” ความรับผิดชอบ และ “โยนความผิด” ให้กับเหยื่อผู้ถูกกระทำ

อีกทั้งยัง “สะท้อนมายาคติว่าเป็นเพราะการแต่งตัวโป๊ ถึงทำให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ” ซึ่งนิทรรศการ ‘DontTellMeHowToDress’ ที่นำ “ชุดจริง” ของ “เหยื่อ ในวันที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมาจัดนิทรรศการ

ซึ่งสะท้อนให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า “การแต่งตัวโป๊ไม่ใช่สาเหตุของการโดนล่วงละเมิดทางเพศ” ต่อให้เหยื่อจะสวมใส่เสื้อผ้าเรียบร้อยมิดชิดมากเพียงใด

Advertisement

แต่เหตุการณ์การคุกคามทางเพศก็เกิดขึ้นอยู่ดี!!

ดังนั้น การแต่งกายของผู้หญิงจึง “ไม่ใช่ต้นตอ” ของปัญหาดังกล่าว

‘DontTellMeHowToDress’ ที่นำ “ชุดจริง” ของ “เหยื่อ ในวันที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมาจัดนิทรรศการ
‘DontTellMeHowToDress’ ที่นำ “ชุดจริง” ของ “เหยื่อ ในวันที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมาจัดนิทรรศการ
‘DontTellMeHowToDress’ ที่นำ “ชุดจริง” ของ “เหยื่อ ในวันที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมาจัดนิทรรศการ

 

Advertisement

การรับแจ้งความ “ต้องละเอียดอ่อน”

แทนที่จะตีตราและกล่าวโทษเหยื่อ สังคมควรจะมุ่งเน้นไปที่การติดตามลงโทษผู้กระทำผิด ค้นหาถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริง รวมไปถึงการพยายามทำความเข้าใจ และเลิกตั้งคำถามที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจเหยื่อ

สิรินยา เบอร์บริดจ์ บิชอพ หรือ “ซินดี้” นางแบบ และนักแสดง ในฐานะผู้ก่อตั้งนิทรรศการพลังสังคม กล่าวว่า อยากให้กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่เริ่มต้น คือ การรับแจ้งความควรละเอียดอ่อนมากกว่านี้ ไม่ซ้ำเติมผู้ถูกกระทำด้วยการถามเรื่องการแต่งกาย การไกล่เกลี่ย เพราะมีความกดดันมาก หากทำผิดร้ายแรงควรมีการลงโทษที่แรงพอสมควรกับพฤติกรรมนั้น และมีระบบการซัพพอร์ตผู้ถูกกระทำด้วย แต่ที่สามารถทำได้เลยคือเรื่องการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ในชุมชนมากขึ้น ช่วยกันเป็นหูเป็นตา

 

มายาคติปิตาธิปไตย “ฝังราก”

อังคณา  อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมข่าวสถิติความรุนแรงทางเพศของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ปี 2556-2562 ชี้ให้เห็นว่า ‘จำนวนข่าวข่มขืน สูงเป็นอันดับ1’ คิดเป็น 40-50% และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในอนาคต ซึ่ง ‘เยาวชน’ ที่มีอายุตั้งแต่ 6-20 ปี มักจะตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมากที่สุดคือ 11-15 ปี รองลงมา 16-20 ปีและ 6-10 ปี

  “ปัจจัยกระตุ้นส่วนใหญ่ พบว่ามีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ตามด้วยยาเสพติด และด้านความสัมพันธ์ พบว่า เป็นคนรู้จักคุ้นเคยและคนในครอบครัว เครือญาติสูงที่สุด รองลงมาเป็นคนแปลกหน้า และคนรู้จักผ่านสื่อต่างๆ ขณะที่ อาชีพผู้กระทำพบเป็นผู้มีฐานะทางสังคมมากขึ้น เช่น ครู อาจารย์ ตำรวจ ทหาร นักการเมือง อดีตทหาร เจ้าของธุรกิจ ตามลำดับ และพบผู้กระทำเป็นพระสงฆ์ ผู้อยู่ในตำแหน่งหัวหน้า เพิ่มสูงขึ้น”

“ซึ่งสถิติดังกล่าวสะท้อนปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และโครงสร้างความคิด ความเชื่อ ค่านิยม มายาคติแบบปิตาธิปไตยฝังราก ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าขอความช่วยเหลือ และดำเนินการทางกฎหมาย”  อังคณากล่าว

 

สังคมกดทับ กระบวนการซับซ้อน “เหยื่อถอดใจ”

ถึงแม้จะมีกลไกมากมายในการคุ้มครองเหยื่อ เช่น พรบ.คุ้มครองเด็ก การคุ้มครองพยาน และอื่นๆ แต่กลไกของกระบวนการยุติธรรมเหล่านั้นกลับไม่อำนวยความยุติธรรมให้กับเหยื่อเท่าที่ควร อีกทั้งยังยากที่จะเข้าถึง

ธารารัตน์ ปัญญา นักกิจกรรมอิสระ ชี้ให้เห็นว่า  “เดิมที การออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมของเหยื่อต้องอาศัยความกล้ามาก เพราะพวกเขาต้องเจอกับการกดทับจากหลายชั้น จาก ‘การถูกล่วงละเมิด’ ซึ่งเป็นชั้นแรก จาก ‘ครอบครัว’ ชั้นที่สอง และจาก ‘การกระทำซ้ำของสื่อ สังคมออนไลน์ หรือคนในชุมชน’ ชั้นที่สาม แถมเมื่อเข้าไปสู่ ‘กระบวนการยุติธรรม’ แล้วยังต้องเจอกับสิ่งกีดขวางมากมาย ขั้นตอนต่างๆ ที่ล่าช้า ยุ่งยาก และไม่อำนวยความยุติธรรม ทำให้เหยื่อหลายๆคนเกิดถอดใจ และหายไปในระหว่างดำเนินการ”

นอกเหนือจากนี้ อีกหนึ่งสิ่งกีดขวางที่สำคัญคือ ‘ทัศนะคติของเจ้าพนักงาน’ ที่มักจะผลักดันให้มีการไกล่เกลี่ย ยอมความ โดยเฉพาะในกรณีที่คู่กรณีเคยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาก่อน

ธารารัตน์ ระบุว่า เราต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า การถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้นส่งผลต่ออาการทางจิตใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเล่าเรื่องน่าอับอายของตนเองให้ผู้อื่นฟัง หรือจะเป็นการให้ปากคำซ้ำๆ ในกระบวนการที่ยาวนาน อาจสร้างบาดแผลในใจซ้ำให้กับผู้ตกเป็นเหยื่อได้ ในแง่มุมนี้จึงนำไปสู่คำถามว่า กระบวนการยุติธรรมนั้นได้อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนจริงๆหรือไม่?

 

เรียกร้อง “พนักงานสอบสวนหญิง”

ธารารัตน์ กล่าวว่า “กลไกต่างๆ จะไม่มีความหมายเลยหากว่าเหยื่อนั้นขาดความมั่นคงทางจิตใจ” จึงจะดีกว่าไหมหากว่ามี ‘พนักงานสอบสวนหญิง’ หรือ ‘นักจิตวิทยา’ ไว้เพื่อช่วยดูแล ให้คำแนะนำ และเยียวยาแผลในจิตใจ เพื่อไม่ให้เหยื่อหลุดหายไประหว่างการดำเนินการ

โดยส่วนใหญ่ในกรณีของการถูกคุกคามทางเพศ เจ้าพนักงาน สังคม รวมไปถึงกระบวนการยุติธรรม มักจะมองหาพยาน หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ เช่น ร่องรอย บาดแผลจากการถูกคุกคาม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี กว่าที่เหยื่อผู้จะสามารถรวบรวมความกล้า และเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ เวลาก็ผ่านไปนานแล้ว ร่องรอย บาดแผลต่างๆ ก็ยากที่จะหลงเหลืออยู่ ทำให้สังคมต่างตั้งคำถามต่างๆนาๆกับเหยื่อ เช่น “โดนคุกคามมาตั้งนานแล้วทำไมเพิ่งออกมา?” หรือ “สมยอมเองแล้วออกมาเรียกร้องเพื่ออะไร?” โดยที่ไม่ได้พิจารณาถึงในแง่มุมอื่นเลย

 

ความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจ

ซึ่งทาง รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ชี้ให้เห็นว่า ‘ความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจระหว่างชายหญิง’ ทำให้การคุกคามทางเพศยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น กรณีนักการเมือง ผู้บริหารระดับสูงในองค์กร คุกคามทางเพศผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ ซึ่งต่อให้เหยื่อจะไม่ยินยอมแต่ก็ยากที่จะขัดขืน เนื่องจากเป็นการบีบบังคับโดยใช้พลัง ‘อำนาจ’ ไม่ใช่การบีบบังคับโดยใช้ ‘กำลัง’ ดังนั้น ในบางกรณีอาจแทบไม่มีร่องรอยของการถูกล่วงละเมิดเลยด้วยซ้ำ

“ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นให้เห็นจำนวนมาก เพราะอคติยังอยู่ในสังคม และยังมีความเข้าใจแบบถูกฝังหัวมาว่าผู้หญิงถูกข่มขืนเพราะการแต่งกาย ทั้งที่เป็นสิทธิที่ควรได้รับการปกป้อง อีกทั้ง กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยยังไร้ประสิทธิภาพ”

“ซึ่งมีคดีจำนวนมากที่ผู้เสียหายไม่สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเยียวยาความเสียหายได้ โดยทางออกของปัญหานี้คือการทำความเข้าใจกันในสังคม คลี่แต่ละประเด็นให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่สังคมต้องให้ความสนใจ ไม่ใช่นั่งค้นหาว่าผู้หญิงทำตัวอย่างไร แต่งตัวอย่างไร ยินยอมหรือไม่”

“แต่ต้องตรวจสอบคนที่เป็นผู้กระทำความผิดมากกว่า กระบวนการยุติธรรมต้องปรับตัวให้มากกว่าที่เป็นอยู่” รศ.สมชาย กล่าวปิดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image