มีแค่ ‘ปาก’ ก็พึ่งพาตัวเองได้ เปิดใจ ‘โซคลู-พรหมพัฒน์’ นักศึกษา ป.เอก-ศิลปินผู้ให้

มีแค่ ‘ปาก’ ก็พึ่งพาตัวเองได้ เปิดใจ ‘โซคลู-พรหมพัฒน์’ นักศึกษา ป.เอก-ศิลปินผู้ให้

  “สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมมีวันนี้คือ การทำตัวเหมือนคนน้ำไม่เต็มแก้ว ผมจะลองทำก่อน พยายามก่อน จะไม่บอกว่าทำไม่ได้ ทั้งที่ยังไม่ได้ทำ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากคำสอนของครู ที่แนะนำให้ลองทำก่อน หากทำไม่ได้ค่อยว่ากัน หากลองทำแล้วทำได้ เราจะรู้สึกชนะ”

คำพูดชวนคิดของ โซคลู-พรหมพัฒน์ โชติสิรดานันท์ ซึ่งพิการจากโรคแขนขาบิดผิดรูปข้อเอ็นยึดติดกันตั้งแต่กำเนิด

โซคลู-พรหมพัฒน์ โชติสิรดานันท์
ผลงานของโซคลู
ผลงานของโซคลู

วันนี้เขาสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง ก้าวตามความฝันได้อย่างท้าทาย ปัจจุบันเป็นทั้งนักศึกษาปริญญาเอก สาขาศิลปะและการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) อีกทั้งเป็นผู้ช่วยสอนที่และนักวิจัยอยู่ที่ มช. และเป็นศิลปินพิการรุ่นใหม่น่าจับตา ในวัย 26 ปี

พรหมพัฒน์ เล่าถึงที่มาของตัวเองว่า หลังจากประสบปัญหาพ่อแม่แยกทางตั้งแต่เด็ก ก็กลายเป็นคนไม่เอาไหนเลย เรียนไม่รู้เรื่อง และเกิดคำถามต่อตัวเองว่าจะเรียนไปทำไม

Advertisement

 

คนพิการก็มีศักยภาพได้หากได้รับโอกาส

ช่วงวัยประถมโซคลูมีความสนใจ และความสามารถด้านการร้องเพลงอย่างมาก เขาได้เป็นนักร้องวงดนตรี และมุ่งมั่นจะเดินเส้นทางนี้ในอนาคต แต่ด้วยได้ลองทำอะไรหลายอย่าง ทั้งบทบาทพิธีกร นักจัดรายการวิทยุ วาดภาพ จากโอกาสที่ครูและแม่มอบให้ ทำให้เด็กพิการคนหนึ่งถูกดึงศักยภาพออกมาอย่างมาก

Advertisement

  “ผมมองว่าคนพิการมีศักยภาพ มีความสามารถในตัวเอง เพียงแต่ว่าคนพิการเอง หรือผู้ดูแล และครู จะดึงศักยภาพออกมาแค่ไหน อย่างของผมตอนเรียนคนน้อย ผมอาจเป็นตัวแปลกสุดในโรงเรียน คือใช้ปากคนเดียวในโรงเรียน เลยได้ทำอะไรหลายอย่าง ทั้งร้องเพลง พิธีกร ดีเจ ทำโน่นนี่ ก็เลยทำให้ผมมีความสามารถหลากหลายด้าน อย่างครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสไปแข่งงานศิลปะหัตถกรรมนักเรียน ผมถูกส่งแข่งขันถึง 8 รายการ ตอนนั้นแทบอยากถามครูว่าไม่มีคนอื่นแล้วเหรอครับ (หัวเราะ) ซึ่งพอไปแข่งก็รู้สึกภาคภูมิใจ เพราะชนะได้เหรียญทองทุกรายการเลย”

ตอนสอนหนังสือ
โซคลู-พรหมพัฒน์ โชติสิรดานันท์

ส่วนที่มาสนใจด้านศิลปะ เกิดจากการตัดสินใจเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย เขาพยายามค้นหาความชอบของตัวเองกับเส้นทางอาชีพ พบว่าการวาดภาพที่ชื่นชอบ มีลู่ทางในอาชีพมากมาย ทั้งครู ธุรกิจส่วนตัว เจ้าของกิจการ สอนพิเศษ อาจารย์ กระทั่งตำรวจก็มีศิลปะ เขาจึงเรียนต่อในด้านศิลปะ

“ความสามารถตรงนี้ เกิดจากความชอบล้วนๆ ไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เป็นพรแสวง ที่ผมชอบวาดภาพ ก็ลองวาดมาปรากฏว่าเหมือนกับแบบ จากนั้นศึกษาผลงานของคนอื่น ชอบดูงานศิลปะ ฝักใฝ่เรียนรู้ อยากจะหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อยๆ โดยมี อาจารย์ทนง โคตรชมพู ศิลปินวาดภาพด้วยปาก เป็นแรงบันดาลใจให้ ทำให้ผมเริ่มมาลองวาดภาพด้วยปากบ้าง และเรียนศิลปะเรื่อยมา”

ผลงานศิลปะโซคลูมีความสวยงามและมีเอกลักษณ์อย่างมาก ผลงานส่วนใหญ่ใช้สีอะคริลิค ใช้เทคนิคจุด จุด จุด ซึ่งเขารู้สึกชอบว่าเป็นการผสมสีแบบไม่ต้องผสม คือ เวลาจุดสีแดง แล้วจุดสีเหลืองข้างกัน พอถอยมาดูไกลๆ ตาของเราจะปรับให้สมูทกัน เห็นเป็นสีส้ม

ส่วนการใช้ปากวาดภาพ เขาจะใช้ปากค่อยๆ คาบสีทีละไม้ จากนั้นดึงใบหน้าเข้าออกเพื่อกดสีเป็นจุดๆ ลงบนภาพ เป็นการวาดภาพที่ใช้คอเยอะพอสมควร ต่อผลงานชิ้นหนึ่งเฉลี่ยใช้เวลาหลายชั่วโมง ผลงานนานสุดประมาณ 4 เดือน ผลงานเร็วสุดประมาณ 3 นาที และมูลค่าสูงสุดของผลงานอยู่ที่ 7 แสนบาท

“วาดภาพด้วยปากต้องฝึก อย่างผมช่วงแรกน้ำลายไหลยืดเลย จนพอเชี่ยวชาญขึ้นมา เลยรู้ว่าการวางปากกาตรงมุมปาก น้ำลายจะไม่ไหล”

ตอนสอนหนังสือ
โซคลู-พรหมพัฒน์ โชติสิรดานันท์

 

  แม้มีแค่ ‘ปาก’ ก็พึ่งพาตัวเองได้

นอกจากทำงานศิลปะโซคลูใช้ปากช่วยเหลือตัวเองหลายอย่าง เช่น รับเล่นโทรศัพท์เอง กดลิฟต์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพราะอยากช่วยเหลือตัวเองให้ได้ จะมีบางครั้งจริงๆ ที่เกินความสามารถ ถึงจะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

อย่างเวลาไปเรียน แม่ของเขาจะขับรถไปส่ง จากนั้นเขาจะใช้ข้อศอกบังคับวีลแชร์ไฟฟ้าไปเรียนเอง ขึ้นอาคารโดยลิฟต์ใช้หน้าผากกดปุ่ม บางครั้งปุ่มอยู่สูงก็ปากคีบไม้กดเอา อาจจะดูยาก แต่เขากลับบอกว่าชีวิตไม่ค่อยมีอุปสรรคอะไร โดยเฉพาะการเดินทาง เขายังออกไปใช้ชีวิต เช่น ไปเที่ยว ช้อปปิ้ง กินชาบู เหมือนคนทั่วไป

แต่ที่จะเป็นอุปสรรคจริงๆ คือ “คำพูดและทัศนคติคน”

“อย่างการเรียนด็อกเตอร์ คนอื่นจะดูถูกผมว่าไปไม่รอดหรอก ทำไม่ได้หรอก เมื่อก่อนผมก็เรียนหนังสือไม่เก่ง ผมก็เลยลองทำให้ดู ก็เรียนเรื่อยๆ ผมถามอาจารย์ว่าอยากเป็นอาจารย์ต้องทำอย่างไรครับ อาจารย์แนะนำให้เรียน ยิ่งเรียนจบ ป.เอก มีโอกาสรองรับกว่า จึงเรียนด็อกเตอร์ตามที่ อาจารย์แนะนำ”

โซคลูมีความตั้งใจอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ล่าสุดเริ่มเบนเข็มอยากเป็นนักวิจัย

  “เพราะนักวิจัยได้ช่วยเหลือสังคมและประเทศมากกว่า อย่างตอนนี้ผมทำงานวิจัยด้านคนพิการอยู่ เรื่อง “พลังแห่งปัญญาสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ” เพื่อทำให้คนพิการมองเห็นศักยภาพในตัวเอง และให้ลุกขึ้นกล้าแสดงออกในความสามารถของตัวเอง ค้นพบสิ่งที่ตัวเองมี”

โซคลู-พรหมพัฒน์ โชติสิรดานันท์
โซคลู-พรหมพัฒน์ โชติสิรดานันท์

 

  เปลี่ยนปมด้อยพิการให้เป็นปมเด่น

เขามองว่าคนพิการต้องแข็งแกร่งจากภายใน ต้องคิดว่าไม่มีใครรักเราเท่ากับตัวเราเอง ฉะนั้นเราต้องทำตัวเองให้รู้สึกพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด หากอะไรไม่ได้จริงๆ ค่อยขอความช่วยเหลือคนอื่น พร้อมเชิญชวนเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง

  “บางทีผมก็คิดว่าการเกิดมาเป็นคนพิการ มันดีนะ ทำให้ผมไม่ได้ยุ่งกับยาเสพติดหรืออะไร รู้สึกว่าได้ค้นพบตัวเองเร็วกว่าคนปกติ”

แม้จะดูแข็งแกร่ง แต่เขาก็มีมุมเหนื่อยและท้อ โดยเฉพาะเวลาเจอคำพูดของคน มันกระทบจิตใจเขา เขาพยายามปรับความคิดด้วยการลืมๆ มันไปซะ โฟกัสที่เป้าหมายต้องไปให้ถึง อย่าจมกับสิ่งที่อยู่ข้างทาง

  พรหมพัฒน์ อยากฝากพ่อแม่และผู้ดูแลคนพิการส่วนใหญ่ ที่ยังเก็บลูกไว้ในบ้าน ว่า เราไม่สามารถดูแลลูกพิการไปได้ตลอดชีวิต หากวันหนึ่งคุณตายไปแล้วใครจะดูแลต่อ ทำไมไม่ทำให้เขามีศักยภาพและดูแลตัวเองได้ ทำให้มีงานมีอาชีพ หรือทำอะไรให้เขามีความสุขและไม่เป็นภาระต่อสังคม

“คนพิการเองควรลุกขึ้นสู้เพื่อให้ตัวเองมีความสุข อย่ามองความพิการเป็นปมด้อย ให้พลิกมุมมองว่าความพิการอาจเป็นปมเด่นก็ได้ ทำให้เรารู้สึกว่าเก่งขึ้น เข้มแข็งขึ้น ได้ทำในสิ่งที่มีคุณค่า เป็นสิ่งที่เริ่มต้นได้ด้วยการกล้าที่จะลองทำ อย่างผมลองทำมาตลอด ผ่านมาหลายด่าน เจอคำสบประมาทก็เยอะ แต่ก็ผ่านมาได้ จากวันนั้นเป็นผู้รับ วันนี้ได้เป็นผู้ให้ ฉะนั้นอย่าท้อที่จะลงมือทำ อย่าคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ”

  “ส่วนคนในสังคม ก็ไม่อยากให้มองคนจากภายนอก อยากให้มองจากภายใน จะพบว่าจริงๆ คนพิการยังมีอะไรน่าค้นหาอีกเยอะแยะ” พรหมพัฒน์กล่าว

พรหมพัฒน์และแม่

ตอนสอนหนังสือ
ตอนสอนหนังสือ
พรหมพัฒน์ โชติสิรดานันท์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image