20 ปีความสำเร็จ ‘โขนศิลปาชีพ’ เปิดม่านตอนใหม่ ‘พระจักราวตาร’ พระนารายณ์อวตาร

20 ปีความสำเร็จ ‘โขนศิลปาชีพฯ’ เปิดม่านตอนใหม่ ‘พระจักราวตาร’ กฤษฎาภินิหารพระนารายณ์อวตาร

นับเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง ได้จัดการแสดงโขนเพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ชื่นชมความงดงามของศิลปะดั้งเดิมของไทยหลากหลายแขนงในการแสดงโขน

โดยสิ่งที่เป็นขวัญกำลังใจในการดำเนินงานคือ พระราชดำรัสเกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้ว่า “ขาดทุนของฉันคือกำไรของแผ่นดิน” นับเป็นความโชคดีของคนไทยและประเทศไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงส่งเสริมและสนับสนุนการแสดงโขนอย่างเอาพระทัยใส่ทุกมิติ เป็นการธำรงนาฏศิลป์ อันทรงคุณค่าของชาติให้สืบทอดอยู่ อีกนานเท่านาน

ผู้ร่วมแถลงข่าว

เพื่อถ่ายทอดความวิจิตรงดงาม สืบสานต่อศิลปะโขนมรดกของชาติ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดงานแถลงข่าวเปิดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “พระจักราวตาร” ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมี ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, นิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, ประเมษฐ์ บุณยะชัย ศิลปินแห่งชาติ ผู้ประพันธ์บท, สุดสาคร ชายเสม ศิลปินแห่งชาติ ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากประกอบการแสดง, และ รศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าว

Advertisement

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โขน ซึ่งเป็นศิลปะของประเทศไทย เป็นงานแสดงที่อยู่คู่กับประเทศไทยมานานตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ความนิยมของคนในสังคมน้อย คนไม่ชอบดู หลายคนบอกว่า “ดูแล้ว ชวนให้หลับ”

Advertisement

“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งสองพระองค์ทรงก็ทรงห่วงใยและพระราชดำริว่า ถ้าไม่มีการสนับสนุนให้มีการแสดงโขนอยู่ในเมืองไทย วันหนึ่งโขนคงจะถดถอยหายไปก็ได้ เพราะช่วงเวลานั้น การแสดงจากต่างประเทศ หรือแม้แต่ของในประเทศเอง ก็เป็นอะไรที่เร็วๆ ตามยุคสมัย คนก็จะชอบอะไรที่รวดเร็ว ไม่ชวนให้หลับ ซึ่งจริงๆ กรมศิลปากรมีโขนของกรมศิลปากรอยู่แล้ว มีวิทยาลัยนาฏศิลป์ มีคนเล่าเรียนด้านนี้อยู่แล้ว หากมีนักแสดงแต่ไม่มีคนดู มันก็หมดไปได้วันหนึ่งเหมือนกัน”

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ

“ทั้งสองพระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริให้ตั้งคณะทำงานคณะหนึ่งขึ้นมา เมื่อปี 2547 โดยมี อ.สมิทธิ ศิริภัทร อาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ไปชักชวนครูบาอาจารย์มาร่วมกันคิด และศึกษาประวัติศาสตร์ในเรื่องโขน และมาช่วยกันทำโขนให้สนุกสนานให้เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งโขนก็เล่นอยู่เรื่องเดียว คือ รามเกียรติ์ ที่มีข้อคิด เรื่องคุณธรรม จริยธรรม ความรักชาติสามัคคี ความดีไม่ดีต่างๆ อยู่ในเรื่องทั้งหมด”

“ทั้งสองพระองค์รับสั่งให้ช่วยกันทำให้โขนเหมาะกับยุคสมัย ประกอบด้วยเทคนิคสมัยใหม่ เราก็ทำเรื่อยมา และสร้างเครื่องแต่งกาย เครื่องพัสตราภรณ์ และมีฉากที่ทำให้คนดูตื่นตาตื่นใจ และในมูลนิธิส่งเสิรมศิลปาชีพฯ ก็มีช่างฝีมือจำนวนมาก และยังมีผู้เชี่ยวชาญ อย่างศิลปินแห่งชาติทั้งหลายก็มาช่วยกัน ก่อเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ตั้งแต่ปี 2546 และเริ่มแสดงในปี 2550 และแสดงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้”

“ซึ่งก็พัฒนาเรื่อยๆ มา อะไรที่มีข้อขัดข้องบกพร่อง เราก็อุดช่องโหว่รอยรั่วต่างๆ ก็ออกมาเป็นโขน ซึ่งลูกเล็กเด็กแดงชอบดูกันมาก เยาวชน วัยรุ่นก็มาดู ไม่ใช่โขนมีแต่ ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือผู้สูงวัยเท่า แต่ดูกันทุกอาชีพ ทุกวัย ทุกเพศด้วย”

“การที่คนมาดูรามเกียรติ์ตอนต่างๆ ที่เราได้ทำการแสดงทั้งหมด 15-17 ตอน ตั้งแต่ปี 2550 คนไปหารามเกียรติ์อ่านขึ้นเยอะ คนไปเล่าเรียนนาฏศิลป์มากขึ้น และปีหนึ่งๆ ได้ให้เด็กมาเล่นเป็นมัจฉานุ ก็เป็นการกระตุ้นทำให้โขนเป็นที่นิยมกลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ค่อยเป็นค่อยไป ปีแรกคนมาดูไม่เต็มโรง แต่ทุกอย่างมันต้องค่อยๆ ทีละน้อยๆ ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งปี 2561 เราสามารถผลักดันให้โขนของไทย จดทะเบียนเป็น ‘มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ’ จากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งก็เข้าสู่ระดับโลกแล้ว เราก็ภูมิใจมาก”

“เมื่อเราได้ทำสำเร็จสมดังพระราชปณิธานของทั้ง 2 พระองค์แล้ว ในการที่มีพระราชดำริว่าทำโขนให้เป็นที่นิยมในสังคมไทย ทำโขนไม่ให้หลับ เรายังได้ช่างฝีมือไทยอีกมากมาย แค่เรามองฉากๆ หนึ่งบนเวที เราดูที่เครื่องแต่งกาย กายแต่งกายโขนไม่ใช่ของง่าย เราต้องมีการปัก ผ้านุ่งก็ทำจากศูนย์ศิลปาชีพในภาคใต้ และสามารถฟื้นฟูผ้ายก จ.นครศรีธรรมราช ให้กลับคืนมาได้ มีหลายจังหวัดที่ทำเรื่องเครื่องแต่งกายโขน ทั้งอ่างทอง กาฬสินธุ์ อยุธยา”

“นอกจากนี้ ช่างแต่งตัวของโขนก็มีความสำคัญ เพราะเขาเข้ามาเย็บชุดให้เข้ากับตัวผู้แสดงแต่ละคนที่เล่น นักร้องนักดนตรี คนพากษ์ก็ต้องมี แต่ก่อนคนพากย์โขนมีแต่ผู้สูงอายุ ต่อมาเราก็เริ่มมีคนอายุน้อยเข้ามาร่วมด้วย นอกจากนี้ เรื่องเครื่องประดับ ศิราภรณ์ต่างๆ เราก็สามารถผลิตมาได้ เรียกว่า ทั้งโรงเป็นงานฝีมือทั้งสิ้น และทำโดยคนไทย”

“การเล่นโขนโรงหนึ่งในแต่ละปี พอเล่นจบปีไปแล้ว ก็ต้องเริ่มต้นใหม่ เพราะต้องคิดแล้วว่าจะทำอะไร เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งการจัดการแสดงโขน เราก็สามารถรักษาศิลปะวัฒนธรรมและช่างศิลป์ต่างๆ ทั้งศิลป์ทั้งศาสตร์ของประเทศไทย เราเก็บไว้ได้ด้วยการแสดงโขน ซึ่งทุกอย่างเป็นผลงานช่างฝีมือไทยทั้งนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ” ท่านผู้หญิงจรุงจิตร์กล่าว

การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร” มีกำหนดจัดแสดงขึ้นในระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน-วันที่ 8 ธันวาคม ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

สำหรับปี 2567 นี้ นับเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยอีกวาระหนึ่ง เพื่อเฉลิมฉลอง 2 โอกาสมหามงคลของปวงชนชาวไทย ได้แก่ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงร่วมเฉลิมฉลองโอกาสมหามงคลนี้คัดเลือกตอน “พระจักราวตาร” อันเป็นตอนที่แสดงกฤษฎาภินิหารของพระจักราหรือพระนารายณ์ ที่อวตารลงมาเป็นพระราม โอรสของท้าวทศรถ กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยาเพื่อปราบฝ่ายอธรรม เปรียบประดุจพระราชวงศ์จักรีที่ผดุงความสุขความสงบให้กับพสกนิกรชาวไทยตลอดมา

“พระจักราวตาร” จับตอนตั้งแต่พระอินทร์และเหล่าเทพนิกรพากันไปอัญเชิญพระนารายณ์ ขณะที่ประทับอยู่บนบัลลังก์อนันตนาคราชพร้อมพระลักษมีพระชายา ให้เสด็จลงมาปราบยุคเข็ญ พระนารายณ์จุติลงมาเป็นพระรามและพระลักษมีลงมาเป็นนางสีดา ปฐมเหตุแห่งการต่อสู้ปราบอธรรม คือทศกัณฐ์และพระญาติวงศ์ จากนั้นได้ดำเนินเรื่องเป็นลำดับตั้งแต่ ทศกัณฐ์สั่งให้มารีศแปลงกายเป็นกวางทองเข้าไปล่อลวงพระรามให้ตามกวาง แล้วลักพาตัวนางสีดาขึ้นราชรถเหาะไปยังกรุงลงกา เป็นเหตุให้เกิดสงครามระหว่าง กองทัพพระรามและทศกัณฐ์

ด้าน อ.ประเมษฐ์ บุณยะชัย ศิลปินแห่งชาติ ผู้ประพันธ์บท กล่าวว่า ปีนี้นับเป็นปีมหามงคล เราได้คัดเลือกตอนที่นำมาจัดแสดงให้มีการเนื้อเรื่องของการเฉลิมฉลองและเฉลิมพระเกียรติ ในตอน พระจักราวตาร ซึ่งคำว่า พระจักราวตาร หมายถึงพระนารายณ์ ที่มีความเกี่ยวพันกับพระราชวงศ์จักรี เพราะฉะนั้น เราจึงสร้างเรื่องต่างๆ จากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มาเป็นหลัก เรียบเรียงให้การแสดงอยู่กรอบการแสดงไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยจะผูกเรื่องให้มีความสนุกสนาน

อ.ประเมษฐ์ บุณยะชัย

“อาทิ ฉากแรกเป็นฉากนารายณ์บรรทมสินธุ์ พระอินทร์ และเทวดา มาทูลเชิญให้เสด็จฯ อวตารมาเป็น พระราม ซึ่งฉากนี้สวยมาก และฉากที่ 2 เป็นตอนกฤษฎาภินิหารของพระนารายณ์ หรือพระรามตอนเด็ก ที่เป็นผู้แสดงเป็นเด็ก ได้แสดงกฤษฎาภินิหารกำราบอธรรมได้ เรื่องดำเนินเรื่อยมาและในที่สุดพระราม พระลักษณ์ หนุมานและไพร่พลวานร ก็ยกทัพไปรบกับทศกัณฑ์ จนกระทั่งทศกัณฑ์แพ้ ก็จะมีฉากเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ โดยมีข้าราชบริพารฝ่ายอโยธยาร่วมกนเฉลิมฉลองแซ่ซ้องสาธุการ จบเรื่องอย่างเป็นมงคล ซึ่งคณะกรรมการพยายามทำงานอย่างดีที่สุดเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ” อ.ประเมษฐ์กล่าว

สำหรับการแสดงที่นำมาจัดแสดงในวันแถลงข่าวนี้ จัดแสดงตอน “กฤษฎาภินิหารพระรามา” พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระราม ได้แสดงกฤษฎาภินิหารในการกำราบปราบหมู่มาร มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นที่ปรากฏชัด

ครั้งหนึ่งทศกัณฐ์มีความริษยาต่อพวกฤษีนักบวช จึงใช้ให้นางกากนาสูร ญาติซึ่งมีศักดิ์เป็นยายให้หาบริวารกา มารบกวนเหล่าฤษีที่บำเพ็ญความเพียร พระวศิษฐ์และพระสวามิตร พระอาจารย์ของเหล่าพระกุมารของท้าวทศรถ ได้ไปเชิญให้พระกุมาร คือพระรามและพระลักษณ์ ไปปราบนางกากนาสูร

พระกุมารทั้งสองได้แสดงกฤษฎาภินิหาร เข้าต่อสู้และแผลงศรสังหารนางกากนาสูรและบริวารกาได้สำเร็จ นับเป็นปฐมเหตุในความกล้าหาญดังนำมาเป็นตัวอย่างในการแถลงข่าวครั้งนี้

ทั้งนี้ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร” เปิดจำหน่ายบัตรตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2567 เป็นต้นมา บัตรราคา 2,000 บาท, 1,800 บาท, 1,000 บาท, 800 บาทและ 600 บาท (รอบนักเรียน ราคา 180 บาท) จำหน่ายบัตรที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา โทร 0-2262-3456 www.thaiticketmajor.com

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image