‘มารีญา’ เปิดประเด็นโซเชียล มูฟเมนต์ ‘ท้องไม่พร้อม’ ทำแท้ง=บาป?

จากการประกวด “มิสยูนิเวิร์ส 2017” ที่ผ่านมา ซึ่ง “มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017” ได้ตอบคำถามบนเวทีในรอบ 5 คนสุดท้ายที่ถามว่า “โซเชียล มูฟเมนท์ ที่สำคัญที่สุดในยุคคุณคืออะไร และเพราะอะไร”
ซึ่งมารีญาเลือกตอบคำถามบนเวทีว่า “คิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่สำคัญที่สุด คือสังคมผู้สูงอายุ แต่เราต้องลงทุนทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ คือคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นอนาคตของชาติที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม”

จุดกระแสให้สังคมพูดถึง “โซเชียล มูฟเมนต์” ทั่วโลกออนไลน์

ล่าสุดเมื่อมารีญา เดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ก็เปิดใจถึงประเด็นคำถามบนเวทีว่า เมื่อได้ยินคำถามก็รู้สึกอึ้ง และยังอึ้งอยู่อีก 2-3 วัน แล้วก็คิดได้ว่าเพราะประเทศไทยไม่ค่อยมีเรื่องโซเชียล มูฟเมนต์ จึงตั้งใจจะรณรงค์เรื่องท้องไม่พร้อม โดยคิดว่าเมื่อได้กลับมาประเทศไทยแล้ว ก็คงจะมีคนฟังเธอเรื่องนี้ไม่น้อย

ก่อให้เกิดการพูดถึงเรื่อง “ท้องไม่พร้อม” ในสังคมไทยไปพร้อมๆ กับเรื่องโซเชียล มูฟเมนต์ไปทันที

Advertisement

มติชนออนไลน์ จึงได้ต่อสาย ธิติพร ดนตรีทรัพย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล สายด่วน 1663 เผยถึงประเด็นท้องไม่พร้อมในสังคมไทย

“จากกระแสข่าวที่ผ่านมา ก็ต้องขอบคุณมารีญา ที่เปิดประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมา ให้คนสนใจมากขึ้น แต่พอพูดถึงเรื่องนี้ การจะช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งที่ท้องไม่พร้อม ก็ต้องบอกว่าปัจจุบันนี้คนจะช่วยเหลือคนท้องไม่พร้อมในมุมสังคมสงเคราะห์ แต่ที่จริงแล้วอยากให้สังคมมองว่าหากเด็กจะเลือกท้องต่อ เขาต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างไร และหากเลือกจะยุติการตั้งครรภ์ สังคมจะช่วยอะไรมากกว่า” “แต่จากการรณรงค์ที่ผ่านมา ก็พูดได้ว่าสถานการณ์ดีขึ้น ตัวเลขลดลงจากการทำงานของแต่ละฝ่าย แต่ก็ยังไม่สุดอย่างที่เราต้องการ” ธิติพร เผย

โดยธิติพร ได้ยกเอาเรื่องราวของผู้ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมมาเล่าว่า จากสายที่โทรมาปรึกษาจะเป็นวัยทำงาน ที่เริ่มทำงานต้องออกจากงานเมื่อท้องจำนวนมาก ป็นวัยรุ่น 25% โดยส่วนใหญ่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ถึง 90% ขณะที่ 10% ที่เหลือทำไม่ได้เพราะเงื่อนไขบางอย่าง เช่นอายุครรภ์สูงแล้ว

Advertisement

ซึ่งไม่ว่าจะวัยไหน ก็พบกับปัญหาทั้งสิ้น

“หากตั้งครรภ์ในวัยเรียน สิ่งที่เราเจอคือแม้จะมีระเบียบว่า เด็กท้องเรียนต่อได้ แต่ในแนวปฏิบัติ ก็พบว่าโรงเรียนให้เด็กออก ครูไม่เข้าใจ หรือไม่ทราบถึงระเบียบ จึงอยากให้สถานศึกษาหรือสพฐ.เร่งทำความเข้าใจกับครู ว่าทำอย่างไรให้เด็กได้เรียน หรือเด็กเลือกแบบไหนได้ ไม่ใช่ให้ออกระหว่างทาง นอกจากนี้เด็กยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ มักโทรมาปรึกษาว่ามีโอกาสตั้งครรภ์มากน้อยเพียงไร โดยทั่วไปเด็กจะเลือกปรึกษาแม่มากที่สุด แต่บางส่วนก็ไม่กล้าเพราะกลัวจะทำให้พ่อแม่เสียใจ รวมถึงไม่กล้าปรึกษาครู เพราะคิดว่าครูรู้โลกรู้ เมื่อเด็กท้องไม่พร้อมขึ้นมาจึงเป็นประเด็นที่ต้องคิดว่า จะให้ความช่วยเหลืออย่างไร”

และหากผู้หญิงตัดสินใจจะท้องต่อนั้น ธิติพร ก็ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เด็กต้องเจอว่า สวัสดิการต่างๆของรัฐยังไม่เพียงพอ ทั้งไม่มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่ไม่แพง หรือการทำงาน เพราะการจะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งนั้นมีค่าใช้จ่าย รัฐต้องคิดว่าจะส่งเสริมให้คนมีลูกนั้นต้องทำมากกว่าแจกโฟลิก ต้องมีระบบภาษี หรือสวัสดิการการลางานมาดูลูกได้เมื่อคลอดบุตร ซึ่งบ้านเราน้อยเมื่อเทียบกับต่างชาติ

แต่เมื่อตัดสินใจ ยุติการตั้งครรภ์แล้ว พวกเธอก็ต้องเจอกับปัญหาในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

“จริงอยู่ ประเทศไทยมีระบบให้คำปรึกษาให้กับคนที่ท้องไม่พร้อมอยู่ที่โรงพยาบาลต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปปรึกษาได้ตามระบบปกติเหมือนการป่วยอื่นๆ รวมถึงมีข้อกำหนดว่าต้องตั้งครรภ์ไม่เกินกี่สัปดาห์ ทำให้คนเข้าถึงระบบได้ยากและขาดความรู้ ส่วนใหญ่ต้องพึ่งมูลนิธิต่างๆในการเป็นคนกลาง ทำให้คนไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายที่แพงและเบิกไม่ได้ ก็ทำให้คนหาทางออกไม่เจอ”
นั่นทำให้คนเลือกจะเสิร์ชข้อมูลในอินเตอร์เนต และซื้อยากินเอง หรือเลือกใช้บริการคลินิกทำแท้งเถื่อน ซึ่งสร้างปัญหาไม่น้อย

ธิติพร ได้เล่าว่า การจะซื้อยาขับไม่ยากเลย เพียงแค่พิมพ์ “ยาขับ” ในกูเกิลก็ขึ้นข้อมูลหลายต่อหลายหน้า แต่ก็ต้องพบปัญหาอย่าง สั่งยาแล้วไม่ได้ยา , ได้ยาปลอมเป็นเม็ดแป้งธรรมดา หรือแม้แต่ใช้ยาเกินปริมาณทำให้ตกเลือดอันตรายถึงชีวิต

เจ้าหน้าที่ 1663 จึงอยากให้สังคมเปิดรับความรู้ทางด้านนี้

“ปัจจุบันกฎหมายต่างๆได้เปลี่ยนไป จากที่กำหนดว่ายุติการตั้งครรภ์เมื่อมีผลกระทบเชิงสุขภาพกาย ก็เปิดช่องสำหรับผู้มีผลกระทบเชิงสุขภาพใจ โดยต้องมีแพทย์ 2 คนขึ้นไปเซ็นต์รับรอง แม้ว่าจะไม่ได้พูดว่าการทำแท้งเป็นเสรี แต่ก็สามารถเข้าถึงแหล่งบริการได้ อุปสรรคใหญ่จึงเป็นเรื่องทัศนะของคน ที่คิดว่าการทำแท้งเป็นความผิด เป็นคนไม่ดีและเป็นบาป ทำให้คนไม่กล้าออกมาพูดเรื่องความทุกข์ร้อนของเขาได้ แต่สังคมของเราจำเป็นต้องให้คนมีทางออก คนในสังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติเพื่อให้คนกล้าจะปรึกษา และช่วยเหลือเขาได้” ธิติพรทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image