พยาบาลดีเด่นยกย่อง”สมเด็จย่า” พลิกบทบาทวิชาชีพดูแลราษฎร

เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้แผ่ไพศาลไปยังนานาประเทศ มูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงพิจารณาให้รางวัลแก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล และ/หรือการผดุงครรภ์วิชาชีพ จากทุกประเทศทั่วโลก ที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านสาธารณสุข และคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งปีนี้ดำเนินมาปีที่ 18

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานรางวัลแก่พยาบาลดีเด่นที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ นางสาวอู๋ ซินเจียน ผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลวิทยาลัยแพทยศาสตร์ปักกิ่งยูเนียน จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับรางวัลประจำปี 2559 และ ศ.เกียรติคุณ ดร.อุยซุค คิม กรรมการบริหารระดับภูมิภาคของสมาพันธ์นานาชาติด้านสุขภาพการเจริญพันธุ์ของประชากรโลก จากสาธารณรัฐเกาหลี ได้รับรางวัลประจำปี 2560 ณ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

นางสาวอู๋ ซินเจียน กล่าวภายหลังเข้ารับพระราชทานรางวัลว่า รู้สึกเป็นเกียรติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่ทำให้ตนซึ่งเป็นพยาบาลคนหนึ่งได้รับเกียรติในครั้งนี้ ที่ผ่านมามองว่าบทบาทพยาบาล คือการดูแลผู้ป่วยทั้งร่างกายและจิตใจอย่างใกล้ชิด ด้วยหลักคิดนี้ทำให้ตอนปี 2553 ที่เกิดวิกฤตโรคซาร์สในจีน ตนในฐานะหัวหน้าพยาบาล สามารถนำพาผู้ป่วยทั้ง 308 คน ให้ผ่านพ้นวิกฤตของโรคไปได้ โดยไม่มีพยาบาลคนใดติดเชื้อจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ถือเป็นความสำเร็จที่ต้องทำงานอย่างหนักตลอด 1 เดือน ที่ไม่มีวันหยุดและไม่ได้กลับบ้านเลย

Advertisement
อู๋ ซินเจียน

“ดิฉันมองว่าอาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่ยิ่งใหญ่ ต้องเสียสละเพื่อคนทั้งโลก ขณะที่การได้รางวัลนี้จะเป็นกำลังใจให้คนทำงานพยาบาลต่อไป” นางสาวอู๋กล่าว

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.อุยซุค คิม ซึ่งเป็นผู้นำการกำหนดนโยบายสุขภาพในระดับชาติและนานาชาติ ผลักดันให้ประเทศที่ยากลำบากในทวีปแอฟริกา บรรลุเป้าหมายการพัฒนาสุขภาพในสหัสวรรษ ขององค์การอนามัยโลก ด้านมารดาและเด็ก

ศ.เกียรติคุณ ดร. อุยซุค คิม

เธอเล่าว่า ก่อนหน้านี้ตนมีโอกาสได้ศึกษาพระราชกรณียกิจสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยมองว่าแนวทางของพระองค์สามารถนำมาพัฒนาคนได้ และสามารถประยุกต์ใช้ได้ทั่วโลก เพราะปัจจุบันประเทศที่ร่ำรวย แม้จะมีการแบ่งปันให้กับประเทศอื่นๆ แต่ก็ยังมีความแตกต่างด้านสาธารณสุขในประเทศตัวเอง เขาจึงต้องเรียนรู้หลักสิทธิมนุษยชน และความยุติธรรมในสังคม ซึ่งมองว่าบทบาทของพยาบาลสามารถคำนึงถึงสิ่งที่เป็นพื้นฐาน นำมาพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนในภายภาคหน้าได้

“จากพระราชกรณียกิจของสมเด็จย่า ทำให้ดิฉันมองว่านอกจากบทบาทการทำงานของพยาบาล ในโรงพยาบาลที่คอยช่วยเหลือแพทย์แล้ว พยาบาลสามารถนำความรู้ความสามารถมาปฏิบัติหน้าที่นอกโรงพยาบาลได้อีกด้วย อาทิ การสาธารณสุข โภชนาการ สุขาภิบาลต่างๆ การไม่เท่าเทียมกันในสังคม ให้กับชุมชนและสังคม

“ฉะนั้นแนวทางของพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดี ในการปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น และถือเป็นแนวคิดพยาบาลในการพัฒนาสังคม ซึ่งพยาบาลไทยและในประเทศอื่นๆ สามารถน้อมนำคำสอนของพระองค์ ไปประยุกต์ช่วยเหลือสังคมได้ต่อไป” ศ.เกียรติคุณ ดร.อุยซุคกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image