‘ป้ามล’ข้องใจผลสอบ’บิ๊กสื่อ’ตีความประเด็นทางเพศอ่อน ถามกลับไร้เดียงสาจริงหรือเฉพาะกิจ

ภายหลังจากที่เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่คำแถลงผลการพิจารณารายงานการแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ สืบเนื่องจากกรณีมีกระแสข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ พาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อแห่งหนึ่งว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ หลังจากคณะอนุกรรมการข้อเท็จจริงได้แสวงหาข้อเท็จจริงและเสนอให้คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ได้พิจารณาแล้ว สรุปได้ว่า ในช่วงกลางปี 2560 มีเหตุการณ์ระหว่างสองบุคคล ซึ่งบุคคลหนึ่งได้รับการปลูกฝังมาในเรื่องให้ความเคารพผู้บังคับบัญชา จึงมีการดูแลบุคคลอีกคนหนึ่งในลักษณะที่ใกล้ชิดสนิทสนม การให้ความไว้วางใจ ซึ่งมีบางเรื่องที่ความไว้วางใจเป็นเหตุทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในลักษณะตีความเข้าข้างตัวเอง จนนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ เพราะต่างตีความด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน ต่อมามีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจและขอโทษต่อกัน สุดท้ายฝ่ายหนึ่งลาออกจากองค์กรข่าวแห่งนั้นแล้ว ซึ่งหลังผลสอบได้เผยแพร่ออกไป ก็มีหลายบุคคลออกมาแสดงความผิดหวังต่อผลสอบและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า เรื่องนี้อนุกรรมการฯ ต้องสอบแสวงหาความจริง ว่ามีการคุกคามทางเพศในที่ทำงานที่เป็นองค์กรสื่อจริงหรือไม่ แต่รายงานฉบับนี้พยายามอธิบายว่าเป็นเรื่องผู้หญิงผู้ชายที่อยู่ในนั้น แล้วถูกนำออกไปพูดคุยโดยที่ยังไม่ได้แสวงหาข้อเท็จริง คิดว่าคำอธิบายตรงนี้ไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงที่เป็นโจทย์หลักในการทำงาน แม้บางช่วงของรายงานพยายามจะระบุว่า มีการจับเนื้อต้องตัวกันจริง แต่ก็เป็นไปตามประสาคนใกล้ชิด คิดว่าคำอธิบายแบบนี้ไม่น่าจะทำให้เราเข้าใจได้

นางทิชากล่าวอีกว่า บางบรรทัดพูดว่ามีการหยอกล้อกัน ถูกเนื้อต้องตัวกันบ้าง ตามประสาคนใกล้ชิด แต่ก็น่าจะตีความว่านี่เป็นการคุกคามทางเพศหรือไม่ ฉะนั้นคงต้องหาความจริงมากขึ้น ทั้งนี้ มองว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคอะไร ยุคที่การอธิบายเพื่อทำให้คนที่เทาๆ ทำอะไรบางอย่างไม่ถูกต้อง ได้รับการปกป้อง โดยเฉพาะเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นในองค์กรสื่อ แต่ตีความประเด็นการคุกคามทางเพศได้อ่อนมาก

ถามว่าด้านผู้หญิงเองไม่ออกมาเรียกร้องให้ข้อมูลแต่อย่างใด นางทิชากล่าวว่า การคุกคามทางเพศและความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นเหรียญเดียวกัน เพียงแต่ว่าพลิกไปพลิกมา ฉะนั้นคนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องต้องเข้าใจเงื่อนไข จะมาบอกว่าผู้หญิงที่ถูกกระทำทำไมไม่ไปเรียกร้อง ก็เหมือนกรณีลูกที่ถูกพ่อข่มขืน ลูกศิษย์ที่ถูกครูอาจารย์ข่มขืน ก็เป็นเรื่องยากที่เขาเหล่านั้นจะออกมาเรียกร้องเพื่อตนเอง ฉะนั้น คนที่จะตรวจสอบจะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ตรงนี้ และทำให้เรื่องนี้ให้ชัดเจนต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนจะรอดูท่าทีของสมาคมนักข่าวฯ จากนี้ว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไร เพราะหากไม่มีอะไรก็อาจต้องออกแถลงการณ์บางอย่างออกมาในอนาคต

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน นางทิชายังได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Thicha Nanakorn’ เรื่องกรณีดังกล่าวว่า “อ่านเอกสารที่เป็นผลจากการแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ ค่อนข้างแปลกใจกับการให้ความหมายความสัมพันธ์ โดยเฉพาะย่อหน้าที่ 5 เอาล่ะต่อไปนี้ไม่ต้องไปหวังอะไรในประเด็นคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้น ณ หน่วยงานรัฐ การเมือง ศูนย์กลางอำนาจ ฯลฯ เพราะการคุกคามทางเพศมันแฝงอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ทางของมันและความเเข็งแกร่งของมันก็ที่นั่นแหละ เมื่อให้ความหมายไม่ได้ เมื่อมองไม่เห็น จบกัน ตกลง นี่ไร้เดียงสาจริงหรือไร้เดียงสาเฉพาะกิจ หากทำไม่รู้ไม่ชี้กับประเด็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่ต่างกับการวินิจฉัยโรคคลาดเคลื่อน การให้ยาผิด การรักษาผิด และสังคมก็ต้องรับผลโรคดื้อยา โรครักษาไม่หาย โรคเรื้อรังนี้ต่อไป ในที่สุดถอยหลังเข้าคลองอีกประเด็นหนึ่ง”

ขอบคุณเฟซบุ๊ก Thicha Nanakorn

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image