‘อังคณา’ ผิดหวังผลสอบ ‘บิ๊กสื่อ’ ระบุทำให้เรื่องร้ายแรงกลายเป็นเรื่องธรรมดา

ภายหลังจากที่เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่คำแถลงผลการพิจารณารายงานการแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ สืบเนื่องจากกรณีมีกระแสข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ พาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อแห่งหนึ่งว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ หลังจากคณะอนุกรรมการข้อเท็จจริงได้แสวงหาข้อเท็จจริงและเสนอให้คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ได้พิจารณาแล้ว สรุปได้ว่า ในช่วงกลางปี 2560 มีเหตุการณ์ระหว่างสองบุคคล ซึ่งบุคคลหนึ่งได้รับการปลูกฝังมาในเรื่องให้ความเคารพผู้บังคับบัญชา จึงมีการดูแลบุคคลอีกคนหนึ่งในลักษณะที่ใกล้ชิดสนิทสนม การให้ความไว้วางใจ ซึ่งมีบางเรื่องที่ความไว้วางใจเป็นเหตุทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในลักษณะตีความเข้าข้างตัวเอง จนนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ เพราะต่างตีความด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน ต่อมามีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจและขอโทษต่อกัน สุดท้ายฝ่ายหนึ่งลาออกจากองค์กรข่าวแห่งนั้นแล้ว ซึ่งหลังผลสอบได้เผยแพร่ออกไป ก็มีหลายบุคคลออกมาแสดงความผิดหวังต่อผลสอบและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

ล่าสุด นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Angkhana Neelapaijit โดยระบุว่า ผิดหวังเสียใจ ไม่คิดว่าผลการพิจารณารายงานการแสวงหาข้อเท็จจริง ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรณีผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ จะมีคำพูดที่ดูถูกผู้หญิง และไม่เคารพสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง เช่นนี้ ที่สำคัญคือการทำให้เรื่องร้ายแรงกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้ แนะนำให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำมติ ครม เรื่องการคุกคามทางเพศในการทำงาน มาปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสื่อมวลชนหญิงทุกคน เยียวยาฟื้นฟูจิตใจผู้เสียหาย และลงโทษผู้กระทำผิด

“บุคคลหนึ่งได้รับการปลูกฝังมาในเรื่องการให้เคารพต่อผู้ใหญ่ และวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับผู้บังคับบัญชา จึงมีการดูแลบุคคลอีกคนหนึ่งในลักษณะที่ใกล้ชิดสนิทสนม การให้ความไว้วางใจ ซึ่งมีบางเรื่องที่ #ความไว้วางใจเป็นเหตุทำให้เกิดความเข้าใจในลักษณะที่เป็นการตีความเข้าข้างตนเองของอีกฝ่ายหนึ่ง จนอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ เพราะต่างตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน”

“ข้อเสนอต่อการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ และการทำหน้าที่ของสื่อต่อประเด็นนี้นั้น เห็นชอบกับข้อเสนอของ คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ที่ว่า #บุคลากรวิชาชีพสื่อต้องมีความเชื่อมั่นในกลไกการกำกับดูแลกันเอง”

Advertisement

ขอบคุณเฟซบุ๊ก Angkhana Neelapaijit

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image