รวมพลังสตรีทั่วปท. ยื่นข้อเรียกร้องรัฐ7ข้อ ความมั่นคงของผู้หญิง คือความมั่นคงของชาติ

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 8 มีนาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการจัดกิจกรรมเดินรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล 2018 ภายใต้แนวคิด ความมั่นคงของผู้หญิงคือความมั่นคงของชาติ จัดโดย กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับองค์กรเครือข่ายจากทั่วประเทศ อาทิ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานสตรีทีม สหพันธ์เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า มีประชาชนทุกเพศทุกวัยทยอยเดินทางมารอเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่เช้า โดยพร้อมใจแต่งกายในเสื้อสีม่วง สกรีนข้อความว่า ความมั่นคงของผู้หญิงคือความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นคำขวัญวันสตรีสากล 2018 พร้อมอุปกรณ์ป้ายข้อความ อาทิ พวกเราต้องการประกันสังคมมาตรตรา 33, ลาคลอด 120 วัน จ่ายค่าแรง 100%, เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนด้วยพลังของผู้ใช้แรงงานหญิง และเด็กเล็ก 0-6 ปีต้องได้เงินอุดหนุนถ้วนหน้า นอกจากนี้ยังมีการแต่งกายเชิงสัญลักษณ์ เช่น การแต่งกายเป็นคนท้องสะท้อนข้อปัญหาเรื่องสวัสดิการลาคลอดของแรงงานหญิง และหุ่นตัวแทนผู้หญิงที่เป็นแม่ สะท้อนภาระงานที่ผู้หญิงต้องรับภาระทั้งในบ้านและนอกบ้าน ก่อนออกเดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยระหว่างการจัดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าสังเกตการณ์และอำนวยความสะดวกอย่างใกล้ชิด

Advertisement

จากนั้น เวลา 10.20 น. ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มผู้เดินรณรงค์ได้จัดกิจกรรมเวทีจำลองบทบาทสมมุติเนื่องในงานวันสตรีสากล 2018 จัดเตรียมการเลือกตั้ง การประชุมพรรคบูรณาการแรงงานสตรี เพื่อเสนอปัญหาและนโยบายสิทธิสตรี โดยมี น.ส.นิไลมล มนตรีกานนท์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี เป็นประธานเปิดงาน ท่ามกลางผู้เดินทางมาร่วมงานวันสตรีสากล 2018 จากทั่วประเทศจนเต็มห้องประชุม

ทั้งนี้ พรรคบูรณาการแรงงานสตรี เป็นพรรคที่จำลองขึ้นมาเพื่อรับฟังปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขร่วมกัน และเสนอเป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 7 ข้อ ดังนี้ 1.รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา 2.รัฐต้องจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนอย่างทั่วถึง มีคุณภาพและปรับเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิดศูนย์ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงาน 3.รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี 4.รัฐต้องกำหนดสัดส่วนผู้หญิงในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ และทุกระดับอย่างน้อย 1 ใน 3

5.รัฐต้องให้คนพิการเข้าถึงสิทธิและการบริการเท่าเทียมกับคนทั่วไป 6.รัฐต้องจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงและเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และในพื้นที่สาธารณะ 7.รัฐต้องเคารพสิทธิการพัฒนาของประชาชนและผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมในการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image