ชุดที่ใส่…ในวันที่ถูกลวนลาม สงกรานต์ ‘ไม่โป๊’ มายาคติปกป้อง ‘ผู้ชาย’

กลายเป็นเรื่องที่ “ถกเถียง” กันมากในช่วงสงกรานต์ เมื่อรัฐบาลออกมาขอความร่วมมือ “ผู้หญิงไม่แต่งตัวโป๊” เพื่อป้องกันการถูกลวนลามหรือล่วงละเมิดทางเพศ

จากประเด็นดังกล่าว เป็นเหตุให้ “ซินดี้”– สิรินยา บิชอพ นางแบบ-นักแสดงแถวหน้าของประเทศไทยและระดับเอเชีย ลุกขึ้นมาอัดคลิปโพสต์อินสตาแกรมแสดงความในใจให้สังคมได้ฉุกคิดว่า ปัญหาการข่มขืนไม่เกี่ยวกับผู้หญิงจะแต่งกายอย่างไร และผู้ชายต่างหากที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ไม่อาจยับยั้งใจได้

ซึ่งคลิปของซินดี้กลายเป็นกระแสโด่งดังในโลกออนไลน์ ที่เหล่าดารา-คนดังต่างออกมาโพสต์ภาพนุ่งสั้น-ชุดเซ็กซี่ แสดงพลังของสิทธิสตรีร่วมแคมเปญ “ซินดี้” ที่มีแฮชแท็กว่า #donttellmehowtodress (อย่าบอกว่าฉันต้องแต่งตัวอย่างไร) #tellmentorespect (ควรบอกให้ผู้ชายมีความเคารพในตัวผู้อื่นมากกว่า)

จากประเด็นฮอตดังกล่าว และเพื่อสร้างความเข้าใจกับสังคมใหม่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลจึงได้จัดเสวนา “ลวนลาม คุกคามทางเพศ…ขึ้นอยู่กับชุดที่ใส่จริงเหรอ?” โดยเชิญซินดี้-สิรินยา บิชอพ มาร่วมเสวนา ณ ห้องพิกุลแก้ว โรงแรมเอเชีย

Advertisement

สงกรานต์สุดแย่ของ “ซินดี้”

ซินดี้-สิรินยา บิชอพ กล่าวว่า สำหรับซินดี้เอง เคยไปเที่ยวสงกรานต์กับเพื่อนหลายคน ตอนกลางวัน เมื่อเดินเข้าไปในฝูงชนก็ถูกล็อกไว้แล้วแยกเราออกมา ตั้งใจเข้ามาจับส่วนนู้นนี้ เราก็รีบวิ่งออกจากตรงนั้น และขึ้นแท็กซี่กลับบ้าน

“เหตุการณ์นั้นทำให้เราช็อกมาก” ซินดี้เผย

ซินดี้-สิรินยา บิชอพ

เมื่อได้เห็นข่าวที่ภาครัฐบอกว่าอย่าแต่งเซ็กซี่ แต่ไม่มีการเตือนฝ่ายชายบ้างเลย จึงเป็นเหตุให้เธอลุกขึ้นมาอัดคลิป

Advertisement

“เราก็คิดว่า ทางออกของปัญหานี้มีอย่างเดียวหรือ วันนั้นเราไม่ได้แต่งตัวโป๊นี่นา ทำไมต้องโทษแต่ผู้หญิง ก็เลยอัดคลิปออกมา ส่วนตัวซินดี้เองมองว่า การบอกให้ผู้หญิงไม่แต่งโป๊เป็นการแก้ปัญหาปลายทาง และผู้หญิงก็ไม่ได้แต่งตัวเซ็กซี่เพื่อให้ผู้ชายดู แต่มันคือการบอกไลฟ์สไตล์เรา บางคนอาจจะอยากให้คนเห็นว่าเราดูแลตัวเอง ซึ่งเรามีสิทธิตราบใดที่ไม่อนาจาร ทางที่เหมาะจึงเป็นการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันมากกว่า” ซินดี้กล่าว

แต่งตัวมิดชิดถูก “จับหน้าอก-จูบปาก”

“บี” (นามสมมุติ) สาววัย 20 ต้นๆ เล่าประสบการณ์สุดเสื่อมที่เธอถูกกระทำเมื่อสงกรานต์ปีที่ผ่านมาว่า บีไปเล่นน้ำกับเพื่อนในพื้นที่ดังของ กทม. โดยไปกับเพื่อนหลายคนและแต่งตัวมิดชิด เสื้อสีดำ กางเกงยาวคลุมเข่า

“เรียบร้อยมาก” เธอบอก โดยไม่คิดว่าวันนั้นเธอจะเจอดี!

แต่เมื่อเดินผ่านกลุ่มผู้ชายที่กำลังดื่มสุราแล้วเมา

“เขาไม่ใส่เสื้อ กำลังเต้น และที่สำคัญ เขาเมา พอเราเดินผ่าน เขากระชากแขนเราแล้วจับหน้าอก เราตกใจมากที่เขาฉวยโอกาสแบบนี้ จึงออกแรงสะบัดแล้วก็รีบหนีออกมา และไม่ได้โดนแค่ครั้งเดียว ยังถูกรุมประแป้ง พยายามหอมแก้ม ให้ดื่มเบียร์ และพูดแซว”

ไม่หมดแค่นั้น บียังเล่าถึงเพื่อนที่ไปเที่ยวสงกรานต์วันเดียวกันก็ถูกกระทำอนาจารด้วยการ “จูบปาก”

“ทั้งที่เพื่อนบีก็ไปเป็นกลุ่มและแต่งตัวเรียบร้อย แต่ก็ยังถูกฉวยโอกาสดึงไปจูบปาก และก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยเพราะกลัว สุดท้ายต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองและรีบหนีออกมา” 

เป็นสงกรานต์สุดเสื่อมที่บีมองว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงถูกลวนลามไม่เกี่ยวกับการแต่งตัวโป๊หรือไม่โป๊ แต่ขึ้นอยู่กับ “จิตสำนึก” ของผู้ชายมากกว่า

“ในที่เดียวกัน เราที่แต่งตัวเรียบร้อยกลับถูกลวนลาม ขณะที่ผู้หญิงที่แต่งเซ็กซี่กลับไม่ถูกลวนลามใดๆ จึงคิดว่าเรื่องเสื้อผ้านั้นไม่เกี่ยวข้องหรือเปล่า แต่ปัจจัยอื่นที่เป็นต้นเหตุ ทั้งสุรา จิตสำนึก” 

ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็ทำให้บีกลัวและไม่อยากเล่นน้ำสงกรานต์อีกเลย

เปิดสถิติ ผู้หญิง 59% เคยถูกลวนลาม

จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการเก็บผลสำรวจผู้หญิงไทยต่อเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 ในพื้นที่กรุงเทพฯ 1,650 ราย พบว่ากลุ่มตัวอย่างกว่า 59.3% เคยถูกฉวยโอกาส ทั้งถูกจับแก้ม เบียดเสียด จับมือ ใช้สายตา ถูกแซว รวมถึงถูกล้วงอวัยวะอื่นๆ มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่เลือกดำเนินคดี ทำให้กว่า 28.1% ที่ไม่อยากเล่นน้ำอีก เพราะกลัวที่จะถูกแต๊ะอั๋ง

ป้าวัย 60 ก็ไม่รอด!!

หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่ายเผยข้อมูลการลงชุมชนว่า มีหญิงกลางคน วัย 60 ปี ที่ไปเที่ยวสงกรานต์กับลูกชายและถูกลวนลาม แต่ก็ไม่กล้าจะบอกลูก เพราะกลัวมีเรื่องและทำให้ลูกที่เป็นข้าราชการมีปัญหา หรือหญิงคนหนึ่งใส่ชุดทำงาน ใส่เสื้อกันฝนซ้อนจักรยานยนต์ไปทำงาน ก็ถูกโบกและรุมประแป้ง ทั้งๆ ที่บอกว่าไม่เล่น

จรีย์ ศรีสวัสดิ์

“มันเป็นมายาคติที่ว่า ผู้หญิงเชิญชวน และเทศกาลสงกรานต์ ใครก็เล่นกัน กลายเป็นการผลักภาระให้ผู้ถูกกระทำ โดยไม่มีใครโทษผู้ชายเลยว่า คุณเมาหรือเปล่า หรือว่าคุณยับยั้งชั่งใจไม่ได้หรือไม่ เพราะที่จริงแล้ว ผู้หญิงจะแต่งกายเช่นไรก็เป็นสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของเขา อาจจะเป็นไลฟ์สไตล์เช่นนั้น แต่ผู้ชายไม่มีสิทธิไปละเมิด” จรีย์ย้ำ

ชุดที่ใส่…ในวันที่ถูกลวนลาม

เพื่อเป็นการยืนยันว่า ต่อให้ “ไม่แต่งโป๊” ไม่ว่าแต่งชุดแบบไหนก็มีสิทธิจะถูกล่วงละเมิดได้อยู่ดี จึงเป็นที่มาของนิทรรศการ “ชุดที่ใส่…ในวันที่ถูกลวนลาม คุกคามทางเพศ” นำชุดของผู้หญิงและผู้ชายในวันที่ถูกคุกคามมาให้ชม

โดยทั้งหมดนั้นเป็นชุดที่ไม่ล่อแหลม แต่กลับมิดชิดทั้งนั้น ตั้งแต่ชุดนักศึกษา ชุดอยู่บ้าน ไปจนถึงชุดผู้ป่วยในโรงพยาบาล

อังคณา อินทสา

อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กล่าวว่า ทุกครั้งที่ผู้หญิงหรือคนหลากหลายทางเพศไปแจ้งความคดีทางเพศ มักจะโดนถามว่า แต่งโป๊ไหม ยั่วยวนหรือเปล่า แต่นิทรรศการนี้จะทำให้เห็นว่า ชุดที่ผู้หญิงและเด็กเหล่านี้ใส่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น จากสถิติเราพบว่าผู้ถูกล่วงละเมิดเด็กสุดที่ 1 ขวบ 8 เดือน มากสุดที่ 80 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากคนใกล้ตัว ชุดเหล่านี้อาจเป็นชุดที่เด็กใส่อยู่บ้าน ชุดนักเรียน แต่พวกเขาก็ถูกลวนลาม มากที่สุดคือข่มขืน

ชุดของผู้ชายที่ถูกข่มขืน

“มีชุดหนึ่งที่เรานำมาให้ชมครั้งนี้ คือชุดของผู้ชายที่ไปแอดมิทเข้าโรงพยาบาล เขาถูกบุรุษพยาบาลข่มขืน และลวนลามตลอดคืน แต่ก็พูดไม่ได้ หลังจากนั้นเขากลายเป็นคนซึมเศร้า สูญเสียความเป็นชาย รู้สึกผิดกับแฟนสาว ไม่กล้ามีเพศสัมพันธ์อีก เรื่องแบบนี้ไม่ว่าเพศใดก็ส่งผลกระทบทั้งนั้น ยิ่งไปบอกว่าผู้ถูกกระทำเขามีส่วนผิด ยิ่งทำให้สภาพจิตใจแย่ บางเคสไม่อาจทนต่อสังคมฆ่าตัวตายก็มี จึงอยากให้สังคมเปลี่ยนความคิดตรงนี้” อังคณาทิ้งท้าย

อีกมุมที่ผู้หญิงอยากบอกก่อนสงกรานต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image