‘คุณใหม่-สิริกิติยา’ กับการ ‘ฉีกแนว’ ประวัติศาสตร์ ที่ตั้งใจส่งต่อให้เข้าใจง่าย-สนุก

ในฐานะนักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร “คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน” พระธิดาองค์เล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในวัย 33 ปี มีความตั้งใจที่จะทำงานเผยแพร่ประวัติศาสตร์ของไทยให้เข้าถึง “คนรุ่นใหม่”

ให้ได้มีความรู้สึกว่า “ประวัติศาสตร์” ไม่ใช่สิ่งไกลตัว และ “ประวัติศาสตร์” กับ “ปัจจุบัน” สามารถไปด้วยกันได้

ด้วยเหตุนี้ ในนิทรรศการวังน่านิมิต “คุณใหม่ในฐานะผู้อำนวยการโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)” ได้ฉีกแนววงการประวัติศาสตร์ด้วยการนำหลากหลายกลวิธีและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้ผู้เข้าชม “เข้าถึง” และ “เข้าใจ” ได้ง่าย

Advertisement

“ด้วยความที่เรียนเมืองนอกมาตลอด พอกลับมาเมืองไทยก็รู้สึกว่า อยากศึกษาประวัติศาสตร์ไทยให้มากขึ้น เมื่อเข้าไปทำงานที่กรมศิลปากร ก็ทราบว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีการศึกษาเรื่องนี้ จึงมีการพูดคุยกันว่า น่าจะรื้อฟื้นโครงการ และนำข้อมูลจากโครงการนี้ไปให้ถึงประชาชน ในวิธีที่เข้าใจง่าย โดยใช้เทคโนโลยีหรืออะไรที่ร่วมสมัย โดยมีเป้าหมายให้เข้าไปถึงคน ให้เข้าใจได้ง่าย และสนุก” คุณใหม่กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ ภายหลังจากจบการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ สาขาการศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และกลับมาพำนักที่ประเทศไทยเป็นการถาวร

คุณใหม่ยอมรับว่า “ก่อนหน้านี้ ไม่เคยทราบว่ามีวังหน้า”

แผนที่วังหน้า

แต่เมื่อได้เข้ามาศึกษาอย่างลึกซึ้งก็พบว่า “เรื่องราวของวังหน้ามีอยู่มากมาย และมีหลายมิติ โครงการวังหน้าอาจทำได้ 20-50 ปี เช่นเรื่องศิลปบนฝาผนัง ที่สวยมาก”

ทั้งนี้ นิทรรศการ “วังน่านิมิต” จัดทำขึ้นโดยนำเสนอประเด็น เรื่องราว และข้อสันนิษฐานต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325 และถูกใช้มาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 5

วังหน้าในอดีต มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร โรงละครแห่งชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และพื้นที่บางส่วนด้านทิศเหนือของสนามหลวง

พระที่นั่ง อาคาร และสิ่งปลูกสร้างที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หมู่พระวิมาน และพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร รวมถึงพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ในบริเวณสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

“หลายคนสงสัยว่า ทำไมถึงใช้ชื่อนิทรรศการว่า วังน่านิมิต สะกดผิดหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วการสะกด “วังน่า” ในยุคก่อน ใช้ไม้เอก เป็นวิธีสะกดดั้งเดิม ซึ่งนี่คือหนึ่งในวิธีที่ดึงประวัติศาสตร์ในอดีตเข้ามาในสมัยใหม่ การทำตรงนี้ก็จะทำให้คนรุ่นใหม่ที่ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์นัก เข้าใจว่า ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ทำให้เข้ากับสมัยใหม่ได้ โดยใช้วิธีนำเสนอที่สร้างความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างตัวเขากับประวัติศาสตร์” คุณใหม่อธิบาย และว่า

“วังน่านิมิต จึงเป็นการเล่นคำ ส่วนคำว่า นิมิต คือ อิมเมจิเนชั่น หรือจินตนาการ เพื่อให้คนเข้าไปสัมผัสในสิ่งที่ไม่มีให้เห็นกับตาแล้ว อย่างสนามหลวง ที่ในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของวังหน้า เมื่อเข้าไปแล้วก็วิเคราะห์ หรือจินตนาการ ว่าอดีตเป็นแบบไหน” 

นอกจากนำ “คาแร็กเตอร์” ในอดีตมาผสมผสานกับปัจจุบัน “เทคโนโลยี” ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสื่อความหมายโดยใช้ “ภาพ” (visual language) โดยถือเป็นการสื่อความหมายงานมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่ ซึ่งใช้เวลาในการดำเนินงาน 2 ปี

“เรานำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความรู้และความภาคภูมิใจ โดยเน้นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ โดยใช้เทคโนโลยีหรืออะไรที่ร่วมสมัย สร้างความเชื่อมโยงระหว่างคนกับสิ่งที่ไม่มีอยู่แล้ว ให้กลับไปค้นหาและตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์”

เมื่อเดินเข้ามาชมในนิทรรศการวังน่านิมิต ภาคแรก จัดขึ้น ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผู้ชมจะได้สัมผัสกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น แผนที่วังหน้าที่นำเทคโนโลยีแฮนแทรกกิ้งเข้ามา ทำให้ผู้ชมสามารถชมแผนที่ผ่านจอขนาดใหญ่เป็นภาพที่สั่งการด้วยมือ หรือการนำเสนอพระที่นั่งสำคัญในวังหน้า ด้วยเทคโนโลยีโปรเจ็กชั่นแมปปิ้ง เป็นต้น

คุณใหม่ ได้สาธิตการดูแผนที่วังหน้า โดยนำมือไปสั่งการบนหน้าจอขนาดใหญ่ และภาพกราฟิกแผนที่ ภาพพลับพลาสูง และภาพพระที่นั่งคชกรรมประเวศ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน จะปรากฏขึ้นมา ซึ่งภาพดังกล่าวสามารถใช้มือสั่งการให้หมุนดูได้ถึง 180 องศา

“สนุกมาก” คุณใหม่ว่ายิ้มๆ

นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ “วังน่านิมิต” และโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ข้อมูลกระจายออกไปได้กว้างที่สุด

“เราไม่อยากให้ข้อมูลอยู่จุดเดียว และปัจจุบันก็มีหลายวิธีที่จะแสดงความรู้ ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งนี่คือการนำอดีตมาผสมกับสมัยใหม่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าใจและต่อยอดได้ อาจจะกระตุ้นให้สนใจศึกษาเรียนรู้ โดยอาจเข้าไปอยู่ในกรมศิลป์ก็ได้ อาจเข้าไปเรียนเพิ่มขึ้นก็ได้ นี่ไม่ใช่งานอนุรักษ์อย่างเดียว แต่เราจะทำให้มรดกของเราให้อยู่ต่อไปร้อยปีพันปีได้อย่างไร”

“นิทรรศการนี้จึงทำขึ้นด้วยความตั้งใจที่อยากให้เด็กรุ่นใหม่เห็นว่าประวัติศาสตร์กับปัจจุบันไปด้วยกันได้ และให้รู้สึกว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่อยู่ไกลจากตัว” คุณใหม่กล่าว

สำหรับนิทรรศการ “วังน่านิมิต” ภาคแรก จัดขึ้น ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ถึง 27 มิถุนายน และภาคสมบูรณ์ จะจัด ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างเดือนธันวาคม 2561 ถึงเดือนเมษายน 2562 รวมทั้งจะเปิดเว็บไซต์ วังน่านิมิต ในช่วงระหว่างนิทรรศการทั้ง 2 ภาค เพื่อนำข้อมูลที่ทางคณะทำงานใช้ในการค้นคว้านำเสนอแก่สาธารณชมด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image