ท้องฟ้ามิถุนายน ชม ดาวเคราะห์น้อยเวสต้ามาเยี่ยม ปลายเดือนพบ ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี

วันที่ 20 มิถุนายน นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ เผยว่า ช่วงครึ่งหลังเดือนมิถุนายน 2561 มีหลากหลายวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจให้ติดตามกันอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าเป็นต้นไป ในช่วงหัวค่ำสามารถสังเหตเห็น 2 ดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดเห็นได้ชัดเจน คือ “ดาวศุกร์” และ “ดาวพฤหัสบดี” โดยดาวศุกร์จะปรากฏทางทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ตก จนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. ส่วนดาวพฤหัสบดีจะปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สังเกตได้จนถึงเวลาประมาณ 03.00 น. จากนั้นช่วงดึก “ดาวอังคาร” เริ่มโผล่พ้นจากขอบฟ้าปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 22.00 น. จนถึงรุ่งเช้า

นายศุภฤกษ์ กล่าวว่า ในเดือนมิถุนายนยังมีความน่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ “ดาวเคราะห์น้อยเวสตา” จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ และเข้าใกล้โลกที่สุดวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ปกติจะโคจรมาใกล้โลกทุกปีแต่ปีนี้เข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 มีระยะห่างจากโลกประมาณ 170.6 ล้านกิโลเมตร จึงมีโอกาสมองเห็นด้วยตาเปล่า ดาวเคราะห์น้อยเวสตามีค่าความสว่างปรากฏประมาณแมกนิจูด 5.7 ช่วงที่โคจรเข้าสู่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ อาจลดลงเหลือเพียงแมกนิจูด 5.3 เท่านั้น (ค่าความสว่างปรากฏหรือเรียกว่าแมกนิจูด ยิ่งตัวเลขมากความสว่างยิ่งน้อย ค่าความสว่างปรากฏที่ตามนุษย์สามารถมองเห็นได้อยู่ที่ประมาณแมกนิจูด 6 ลงไป) หากสังเกตการณ์บริเวณท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีแสงรบกวนอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดาวเคราะห์น้อยเวสตาจะปรากฏในช่วงหัวค่ำ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สังเกตได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า สังเกตการณ์ได้จนถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2561 หลังจากวันดังกล่าวจะมีแสงจันทร์รบกวนและความสว่างจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ

Advertisement

หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า ส่วนช่วงปลายเดือนเตรียมพบกับปรากฏการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในคืนวันที่ 27 มิถุนายน ดาวเสาร์จะปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าถึงรุ่งเช้า สังเกตด้วยตาเปล่าชัดเจนตั้งแต่หัวค่ำทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดหน้ากล้องตั้งแต่ 4 นิ้ว กำลังขยาย 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นวงแหวนหลักได้อย่างชัดเจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image