เนินทรายสีน้ำเงิน บนดาวอังคาร

NASA

ยาน มาร์ส รีคอนเนสแซนซ์ ออร์บิเทอร์ (เอ็มอาร์โอ) หรือยานลาดตระเวนดาวอังคารจากวงโคจร ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ถูกส่งขึ้นจากโลกเมื่อปี 2005 โดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบ “ประวัติศาสตร์ของน้ำ” บนดาวอังคาร ขณะนี้ยังคงทำหน้าที่ถ่ายภาพพื้นผิวดาวสีแดงดวงนี้ ส่งกลับมายังโลกอย่างสม่ำเสมอ และมีไม่น้อยที่ผลของเอ็มอาร์โอสร้างความตื่นเต้น ตกตะลึงให้กับนักวิทยาศาสตร์ ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะปรากฏอยู่บนดาวอังคาร

ล่าสุดภาพถ่ายของเอ็มอาร์โอ แสดงให้เห็นถึงเนินทรายสีน้ำเงิน ที่ผิดแผกไปจากเนินทรายใกล้เคียง มีเนินทรายปรากฏอยู่ทั่วไปบนพื้นผิวดาวอังคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณพื้นผิวภายในหลุมอุกกาบาต (เครเตอร์) ทั้งหลาย เนินทรายสีน้ำเงินที่เอ็มอาร์โอถ่ายเอาไว้ได้ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของภูมิประเทศภายใน

เครเตอร์ชื่อ “ไลออท” ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ของนาซาระบุว่าเป็น “ลานแห่งเนินทราย” โดยเชื่อว่าเนินทรายสีน้ำเงินดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากการสะสมของวัสดุที่มีความละเอียดสูงกว่า หรือไม่ก็เป็นวัสดุที่มีองค์ประกอบแตกต่างออกไปจากเนินทรายสีเทาอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงในบริเวณเดียวกัน และยังมีขนาดใหญ่กว่ามากอีกด้วย

NASA

ภาพถ่ายชุดล่าสุดของเอ็มอาร์โอ แสดงให้เห็นทิวทัศน์ของพื้นผิวที่มีลักษณะหลากหลาย แต่ไร้วี่แววของสิ่งมีชีวิต เมื่อปรับแต่งสีเพิ่มเติมจะแสดงให้เห็นสีสันตั้งแต่สีแดง, เหลือง, น้ำเงินและม่วง รูปร่างทางธรณีวิทยาของพื้นผิวมีความหลากหลาย แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ, กระแสลม, อุกกาบาต, พายุฝุ่น, พายุและอื่นๆ

Advertisement

นักวิทยาศาสตร์ของนาซาระบุว่า อุณหภูมิโดยเฉลี่ยบนดาวอังคารอยู่ที่ -80 องศาฟาเรนไฮต์ หรือราว -62.22 องศาเซลเซียส โดยที่มีบรรยากาศเบาบางกว่าโลกราว 100 เท่า

เนินทราย หรือดูน บนพื้นผิวดาวอังคารส่วนใหญ่จะเป็นเนินทรายรูปจันทร์เสี้ยวหรือ “คลาสสิก บาร์ชัน” ซึ่งถึงแม้จะมีอยู่บนโลกเช่นกันแต่พบได้ไม่บ่อยนัก อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่าเนินทรายทั้งบนดาวอังคารและบนโลก เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ เกิดกระแสลมหอบพัดทรายไปในทิศทางเดียวกัน จนก่อให้เกิดกองทรายที่จะเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ด้านที่หันเข้าหากระแสลมจะมีความลาดชันน้อย ตรงกันข้ามกับอีกด้านหนึ่งซึ่งจะมีความลาดชันสูงกว่าเมื่อเม็ดทรายที่อยู่บนสุดร่วงลงสู่ด้านล่างนั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image