เปิดโลงหินมหึมา2พันปี พบที่ ‘อเล็กซานเดรีย’

(ภาพ-Egypt's Ministry of Antiquities)

กระทรวงโบราณคดีแห่งอียิปต์ แถลงเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่าทีมนักวิชาการด้านโบราณคดีของอียิปต์ได้เปิดโลงหินขนาดใหญ่ที่ขุดพบที่เมืองอเล็กซานเดรียเมื่อต้นเดือนนี้ โลงหินดังกล่าวทำด้วยหินแกรนิตสีดำ ตรวจสอบอายุพบว่ามีอายุย้อนหลังกลับไปเมื่อครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กรีฑาทัพเข้ามายึดครองดินแดนแถบนี้เมื่อราว 332 ปีก่อนคริสต์ศักราช

โลงหินดังกล่าวยาวเกือบ 2.7 เมตร กว้าง 1.5 เมตร และสูง 1.8 เมตร ซึ่งเป็นโลงหินขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยขุดพบมาในอเล็กซานเดรีย ตัวโลงหุ้มด้วยปูนสอ (ปูนขาวผสมน้ำหรือน้ำอ้อย หรืออื่นๆ โบราณใช้เชื่อมอิฐ, หิน) หนามาก นายมอสตาฟา วาซิรี เลขานุการสภาโบราณคดีสูงสุดแห่งอียิปต์ เชื่อว่าชั้นปูนหนาที่เคลือบโลงอยู่แสดงให้เห็นว่า โลงหินดังกล่าวนี้ไม่เคยเปิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่มีการกลบฝัง แต่ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดในเรื่องนี้

(ภาพ-Egypt’s Ministry of Antiquities)

ตอนที่มีการขุดพบมีเสียงเล่าลือกันมากว่าโลงมหึมานี้อาจบรรจุพระศพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ และการเปิดผนึกโลงออกมาอาจทำให้คำสาปแพร่กระจายออกไป อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้การเปิดโลงหินดังกล่าวออกมายังไม่ปรากฏว่าเสียงเล่าลือดังกล่าวจะเป็นความจริง

ภายในโลงนอกเหนือจากซากโครงกระดูก 3 ซากแล้ว ยังมีน้ำเน่าเสียสีออกแดงคล้ำ กลิ่นเหม็นอยู่ภายใน กระทรวงโบราณคดีของอียิปต์ให้รายละเอียดว่า ซากโครงกระดูกดังกล่าวซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยละเอียดนั้นน่าจะเป็นศพของทหารในยุคนั้น เนื่องจากการตรวจสอบเบื้องต้นหนึ่งในซากโครงกระดูกมีร่องรอยถูกยิงด้วยธนู ตัวโลงทั้งภายนอกและภายในไม่มีทั้งจารึกและภาพเขียนปรากฏอยู่ และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีข้าวของใดๆ หากมี ถูกฝังรวมกับซากศพทั้ง 3 ด้วยหรือไม่

Advertisement

สิ่งของประกอบเพียงอย่างเดียวที่ขุดพบใกล้กับโลงหินดังกล่าวนี้เป็นหินสลักรูปศีรษะบุรุษทำจากแร่อะลาบาสเตอร์เท่านั้นเอง

จนถึงขณะนี้หลายๆ อย่างที่เกี่ยวเนื่องกับโลงหินขนาดใหญ่นี้ยังคงเป็นเรื่องลึกลับ

ตามประวัติศาสตร์ เมื่ออเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ ราว 323 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรอียิปต์ถูกปกครองโดยฟาโรห์ซึ่งเป็นลำดับทายาทของนายพลทหารของอเล็กซานเดอร์ต่อมาอีกหลายศตวรรษ จนกระทั่งถึงฟาโรห์องค์สุดท้าย คือพระนางคลีโอพัตราที่ 7 กระทำอัตวินิบาตกรรม จักรวรรดิโรมันถึงเข้ายึดครองอียิปต์ แต่ในช่วงการปกครองของฟาโรห์เกิดความขัดแย้งและเกิดศึกสงครามมากมาย เชื่อกันว่าซากที่พบในโลงหินถูกสังหารในช่วงการศึกเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามตามมาอีกมากมายที่ยังไม่มีคำตอบ อย่างเช่น ทำไมทหารเหล่านี้ถึงถูกฝังไว้ในโลงหินขนาดมหึมาเช่นนี้? ซากโครงกระดูกเหล่านี้มีอายุเท่าใด มีชีวิตอยู่ช่วงใดกันแน่ เนื่องจากในยุคอียิปต์โบราณ การใช้โลงหินซ้ำด้วยการรื้อซากโครงกระดูกเก่าทิ้งไปแล้วนำศพใหม่กลบฝังแทน ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันทั่วไป? สิ่งของที่ฝังรวมกับศพคืออะไร มีหรือไม่ หรือถูกทำลายไปเพราะน้ำที่ซึมเข้าไปขังในโลงหินซึ่งดูเหมือนจะมีมากผิดปกติจนน่าสงสัยด้วยเช่นกัน

ซากโครงกระดูกและทุกอย่างที่พบในโลงหินถูกเคลื่อนย้ายไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอเล็กซานเดรีย เพื่ออนุรักษ์อย่างเหมาะสมและศึกษาวิจัยหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image