แพทย์อึ้ง! ผู้บริจาคอวัยวะ แพร่ ‘มะเร็ง’ ให้ 4 ผู้รับ

(ภาพ-Pixabay)

รายงานทางการแพทย์ซึ่งทีมวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์และเยอรมนีศึกษาและจัดทำเป็นรายงานตีพิมพ์อยู่ในวารสารวิชาการว่าด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะ “อเมริกัน เจอร์นัล ออฟ ทรานสแพลนเทชัน” เมื่อเร็วๆ นี้ เปิดเผยถึงรายละเอียดของกรณีหายากทางการแพทย์ เมื่อผู้บริจาคอวัยวะรายหนึ่งแพร่เซลล์มะเร็งให้กับผู้รับบริจาคอวัยวะได้ถึง 4 ราย จากจำนวน 5 รายที่ได้รับบริจาค โดย 3 ราย ที่ได้รับอวัยวะบริจาคเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทั้งหมด

กรณีศึกษาทางการแพทย์ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2007 โดยผู้บริจาคอวัยวะสุภาพสตรีวัย 53 ปีผู้หนึ่ง ซึ่งเสียชีวิตจากอาการเส้นโลหิตในสมองแตกเฉียบพลัน หรือสโตรก ผู้บริจาครายนี้ไม่มีประวัติอาการทางการแพทย์ที่ต้องห้ามไม่ให้บริจาคอวัยวะ และเคยผ่านการทดสอบทางการแพทย์หลายครั้งเพื่อตรวจสอบความเหมาะสมกับการเป็นผู้บริจาคอวัยวะ ซึ่งจากการตรวจดังกล่าวเหล่านั้นไม่พบวี่แววของโรคมะเร็งแต่อย่างใด หลังเสียชีวิตลง แพทย์ได้ผ่าตัดนำอวัยวะของผู้บริจาครายนี้ไปปลูกถ่ายให้กับผู้รับ 5 ราย ประกอบด้วย ไต 2 ข้าง 2 ราย, ปอด 1 ราย, ตับ 1 รายและหัวใจอีก 1 ราย

ผู้ได้รับบริจาคหัวใจไปเสียชีวิตลงไม่นานหลังจากการผ่าตัด ด้วยสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้บริจาคอวัยวะรายนี้แต่อย่างใด

แต่อีก 16 เดือนต่อมา สุภาพสตรีซึ่งได้รับการปลูกถ่ายปอดจากผู้บริจาครายนี้ เกิดล้มป่วยและถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองบริเวณทรวงอก จากการวิเคราะห์เซลล์มะเร็งของผู้ป่วยรายนี้พบว่าเซลล์ดังกล่าวจริงๆ แล้วคือเซลล์มะเร็งเต้านม และดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็งดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามาจากเจ้าของอวัยวะที่บริจาคให้มานั่นเอง

Advertisement

มะเร็งในตัวผู้ป่วยรายนี้แพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว และภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยรายนี้ก็เสียชีวิตลงในที่สุด

ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ที่ได้รับบริจาคอวัยวะจากผู้บริจาครายเดียวกันนี้อีก 3 คนที่เหลือก็ได้รับการติดต่อและแจ้งเหตุให้ทราบว่า ผู้ที่ได้รับปอดบริจาคไปป่วยและเสียชีวิตลงเพราะมะเร็งที่มาจากผู้บริจาค ผู้รับอวัยวะทั้ง 3 ราย จึงเข้ารับการตรวจหามะเร็ง ซึ่งในเวลานั้นผลออกมาเป็นลบ คือไม่พบแต่อย่างใด

แต่ในปี 2011 สุภาพสตรีที่ผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาครายนี้ถูกตรวจพบว่ามีเซลล์มะเร็งทรวงอกในตับที่ได้รับการปลูกถ่ายมา แต่ไม่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดใหม่อีกเพราะกลัวภาวะแทรกซ้อน โดยเลือกเข้ารับการฉายรังสีแทน ซึ่งในตอนแรกก็ได้ผลดี แต่ในที่สุดอาการแย่ลงและเสียชีวิตในปี 2014

Advertisement

ผู้ป่วยอีกรายที่เป็นสตรีเช่นกันและได้รับบริจาคไตข้างซ้ายมา ถูกตรวจพบว่าป่วยเป็นมะเร็งทรวงอกในปี 2013 หรือ 6 ปีหลังรับไต่บริจาคมาปลูกถ่าย ตอนตรวจพบนั้นมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะหลายแห่งแล้ว และผู้ป่วยรายนี้เสียชีวิตลงในอีก 2 เดือนต่อมาเท่านั้น

รายสุดท้ายเป็นชายวัย 32 ปี ที่ได้รับไตข้างขวามาปลูกถ่าย ต่อมาแพทย์วินิจฉัยพบเซลล์มะเร็งทรวงอกในไตที่ปลูกถ่ายเมื่อปี 2011 แต่แพทย์ผ่าตัดไตข้างดังกล่าวออก และผู้ป่วยรายนี้เลิกใช้ยาควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งยังเข้ารับเคมีบำบัด ซึ่งกระบวนการรักษาทั้งหมดประสบความสำเร็จ ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอาการมะเร็งอีกเลยในช่วง 10 ปี หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายในครั้งนั้น

นายแพทย์ ลูอิส เทเพอร์แมน ผู้อำนวยการแผนกปลูกถ่ายอวัยวะประจำสถาบัน นอร์ธเวลล์เฮลธ์ ในเมืองนิวไฮด์ปาร์ค รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยนี้ ระบุว่า จริงๆ แล้ว ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับเซลล์มะเร็งจากผู้บริจาค โอกาสอยู่ระหว่าง 1 ใน 10,000 จนถึง 5 ใน 10,000 เท่านั้น ซึ่งโดยสถิติถือว่าปลอดภัยอย่างน่าทึ่งทีเดียว

นายแพทย์ผู้นี้ระบุด้วยว่า โดยทั่วไปผู้บริจาคอวัยวะต้องผ่านการตรวจเพื่อกลั่นกรองเป็นอย่างดี รวมถึงการซักประวัติครอบครัวว่ามีผู้ป่วยเป็นมะเร็งหรือโรคอื่นๆ หรือไม่ แล้วต้องผ่านการตรวจในห้องปฏิบัติการอีกหลายอย่าง ในกรณีของผู้บริจาครายนี้ ผ่านทั้งการตรวจร่างกาย, การอัลตราซาวด์ช่องท้อง, การเอกซเรย์ทรวงอก และการตรวจสอบช่องทางเดินหายใจแล้วอีกด้วย

ในรายงานการวิจัยทีมวิจัยระบุว่า ผู้บริจาควัย 53 ปี รายนี้มีอาการมะเร็งทรวงอกที่ตรวจสอบไม่พบ โดยอาจอยู่ในขั้น “ไมโคร เมทาสตาซิส” ซึ่งเป็นกลุ่มเซลล์ที่กระจายออกจากจุดที่เป็นมะเร็ง แต่มีขนาดเล็กมากจนตรวจสอบไม่พบด้วยกรรมวิธีที่ใช้ เมื่อไปอยู่ในผู้รับการปลูกถ่ายซึ่งจำเป็นต้องได้รับยาควบคุมภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่าย ทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม การที่เคสเช่นนี้พบได้ยากอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นว่าการกลั่นกรองผู้บริจาคตามกระบวนการที่ใช้กันอยู่ยังคงมีประสิทธิภาพ

แต่ในกรณีที่ตรวจสอบพบมะเร็ง ทีมวิจัยเสนอแนะว่า แพทย์ควรผ่าตัดนำอวัยวะที่ปลูกถ่ายมาออกในทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image