จิตรกรรมชิ้นแรก ของมนุษย์?

(ภาพ-Craig Foster)

ทีมสำรวจวิจัยทางโบราณคดีนำโดย คริสโตเฟอร์ เฮนชิลวูด นักวิจัยอาวุโส ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ยุคเริ่มแรก ประจำมหาวิทยาลัยเบอร์เกน ในประเทศนอรเวย์ เผยแพร่ผลการค้นพบผลงานซึ่งเชื่อว่าเป็นภาพวาดโดยฝีมือมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่รู้จักกัน ปรากฏอยู่บนเศษหินขนาดเล็กเพียง 3.8 เซนติเมตร ที่ได้จากแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีในถ้ำ บลอมบอส บริเวณริมฝั่งทะเลของประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเคปทาวน์ ไปทางตะวันออกราว 300 กิโลเมตร

ถ้ำบลอมบอส เป็นแหล่งขุดค้นที่มีชื่อเสียงในการค้นพบโบราณวัตถุจากยุคหินกลาง อาทิ ลูกปัดจากเปลือกหอย และเครื่องมือหิน ซึ่งมนุษย์ยุคโบราณซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณดังกล่าวระหว่าง 100,000 ปีถึง 70,000 ปีก่อนทิ้งเอาไว้

ลูกา พอลลาโรโล ผู้ช่วยเทคนิคของทีมจากมหาวิทยาลัยเจนีวา เป็นผู้ค้นพบเศษหินชิ้นดังกล่าวเมื่อปี 2015 รวมอยู่กับเศษตัวอย่างจากท้องน้ำภายในถ้ำบลอมบอส ซึ่งรวบรวมมายังห้องปฏิบัติการเพื่อการตรวจสอบศึกษา เมื่อขจัดขี้เถ้าและฝุ่นผงออก ก็พบลายเส้นสีแดง เป็นเส้นในแนวขนาน 6 เส้น และมีเส้นตัดที่โค้งเล็กน้อย 3 เส้น เฮนชิลวูดระบุว่าลักษณะมันคล้ายกับ “แฮชแท็ก” เครื่องหมายที่คนรุ่นนี้คุ้นเคยกัน เพียงแต่มีอายุเก่าแก่ถึง 73,000 ปี เก่าแก่กว่าภาพเขียนที่เก่าแก่ที่สุดก่อนหน้านี้อย่างน้อย 3,000 ปีเลยทีเดียว

ทีมวิจัยติดต่อ ศาสตราจารย์ ฟรานเซสโก เดร์ริโก ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยบอร์โดซ์ ซึ่งช่วยถ่ายภาพ และตรวจสอบจนแน่ใจว่าภาพลายเส้นแฮชแท็กเก่าแก่นี้เป็นฝีมือมนุษย์ โฮโมเซเปียนส์ หรือมนุษย์สายพันธุ์เดียวกับมนุษย์ในปัจจุบันนี้เอง ทีมวิจัยยังพบด้วยว่า เศษหินชิ้นดังกล่าวผ่านการขัดผิวมาก่อนลงสีด้วย “โอเคร” ซึ่งเป็นดินเหนียวชนิดหนึ่งที่มีความแข็งแตกต่างกันออกไปหลายระดับ แต่สามารถทิ้งรอยสีไว้ได้แบบเดียวกับที่เราใช้ดินสอสีในปัจจุบัน และพบว่าการที่ส่วนหนึ่งของเส้นขาดหายไปฉับพลัน แสดงให้เห็นว่าหินก้อนนี้เป็นส่วนหนึ่งที่แตกมาจากหินก้อนใหญ่กว่าที่ถูกขัดเพื่อใช้สร้างผลงานนี้โดยเฉพาะ แต่จนถึงขณะนี้ยังค้นหาส่วนที่เหลือไม่พบ

Advertisement

เจ้าของผลงานชิ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์โบราณที่รวมตัวกันเพื่อล่าสัตว์ใหญ่ อาทิ ฮิปโป หรือช้าง เรื่อยไปจนถึงปลาโบราณหนักตัวละ 27 กิโลกรัม และใช้เวลาว่างจากการล่ามาสร้างผลงานทิ้งไว้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image