ตร.หนุนรัฐบาลเดินหน้า ‘สมาร์ทซิตี้’ กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)

จากสถิติของสำนักทะเบียนกลาง พบว่าสิ้นปี 2560 ประเทศไทยมีประชากร 66.1 ล้านคน กทม. เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดถึง 5.68 ล้านคน รองลงมา จ.นครราชสีมา 2.63 ล้านคน แต่หากเทียบขนาดพื้นที่แล้ว จ.นครราชสีมา มีพื้นที่มากกว่า กทม.เยอะ

พื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตรของ กทม. เป็นจำนวนคงที่ ไม่สามารถเพิ่มได้ ในขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี จำนวน 5.68 ล้านคน เป็นข้อมูลตามสถิติ

แต่หากนับไปถึงประชากรแฝง เช่น แรงงานข้ามถิ่น แรงงานต่างด้าว และนักท่องเที่ยว คาดว่า กทม.น่าจะต้องรับคนมากกว่า 10 ล้านคน เมื่อขยายตัวในแนวราบไม่ได้ จึงเกิดการขยายตัวในแนวดิ่ง ทำให้ปัจจุบันเราพบเห็นตึกสูงระฟ้าผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด จน กทม.จัดว่าเป็นเมืองที่มีตึกสูงระฟ้า อันดับ 7 ของโลก

การพัฒนาแบบโดดเดี่ยวของ กทม. นำมาซึ่งปัญหาในการบริหารจัดการหลายด้าน โดยเฉพาะความแออัดของประชากรและปัญหาการจราจร ที่ไม่ว่าใครที่อาสามาแก้ไขก็ยากที่จะสำเร็จ ทางออกของ กทม.จึงไม่ใช่การสร้างตึกสูงระฟ้าหรือการตัดถนนเพิ่มขึ้น แต่เป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค

Advertisement

จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก มีคนมากกว่า 1,200 ล้านคน มีเมืองหลวงคือ ปักกิ่ง และมีศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ด้วยจำนวนประชากรระดับหนึ่งพันกว่าล้าน หากทุกคนมุ่งหน้าเข้ามาทำงานที่เซี่ยงไฮ้ ปัญหาคงจะหนักหนากว่าที่ กทม.เจอหลายเท่านัก

แต่หากคนที่เคยไปเซี่ยงไฮ้ในช่วงไม่กี่ปีนี้ จะพบว่าเซี่ยงไฮ้กลายเป็นเมืองที่ทันสมัย มีระเบียบ ไม่น้อยกว่ามหานครนิวยอร์ก ของสหรัฐอเมริกา

คำตอบของเรื่องนี้ คือ “การบริหารจัดการ” รัฐบาลจีนได้เล็งเห็นปัญหาในเรื่องนี้ จึงมีแนวคิดในการสร้างเมืองขนาดใหญ่ กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ปัจจุบันจีนมีเมืองขนาดใหญ่ที่พัฒนาขึ้นชั้นมหานครของโลกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเซินเจิ้น กว่างโจว เทียนจิน หรือ ฉงชิ่ง เมืองเหล่านี้เจริญเติบโตไปพร้อมกัน ทำให้ประชากรไม่ได้มุ่งหน้าไปหางานทำที่เซี่ยงไฮ้แห่งเดียว สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าการมุ่งพัฒนาเมืองคือระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพสูง สะดวก รวดเร็ว ประหยัด เชื่อมต่อเมืองเหล่านี้เข้าด้วยกัน ทั้งระบบราง ถนนหลวง และเที่ยวบินภายในประเทศ แนวคิดดังกล่าวได้ถูกคิด เตรียมการ และได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลมานานหลายสิบปี นับแต่ที่จีนดำเนินนโยบายเปิดประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดในปัจจุบัน จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง และใช้ได้จริง

แนวคิดนี้รัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้วางแนวทางในการพลิกโฉมประเทศไทย โดยได้ริเริ่มโครงการ “สมาร์ทซิตี้” กำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นเเบบ จำนวน 7 จังหวัด คือ กทม. เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา และเชื่อมต่อเมืองต่างๆ เข้าด้วยกันโดยระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ด้วยโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง และการยกระดับสนามบินภูมิภาค ผุด “สนามบินอู่ตะเภา” เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค และในการประชุม ครม.สัญจรครั้งที่ผ่านมามีแนวคิดสร้างสนามบินบึงกาฬ ซึ่งมีที่ตั้งเหมาะสมเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ สปป.ลาว และสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเวียดนามและจีนตอนใต้ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดยกระดับสนามบินเลยและอุดรธานี และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor, EEC) เชื่อมต่อด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หากโครงการเหล่านี้สำเร็จจะทำให้เกิดการจ้างงานในภูมิภาคเป็นจำนวนมาก ทิศทางการเคลื่อนย้ายของแรงงานก็จะเปลี่ยนไป ความเจริญจะกระจายไปสู่ภูมิภาค เมืองต่างๆ จะพัฒนาและเจริญเติบโตไปพร้อมกัน

แนวคิดดังกล่าวของรัฐบาลถือว่าเป็นการพัฒนาที่ถูกทิศทาง แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ลดความเหลื่ยมล้ำระหว่างคนเมืองกับคนชนบท และเป็นการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตเมืองอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการลดปัญหาอาชญากรรมในเมืองใหญ่อีกด้วย

พล.ต.ท.ณัฐธร เพราะสุนทร

ในห้วงที่มีการก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะ และการขยายสนามบินในหลายพื้นที่ทั้ง กทม. ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองต่างๆ พล.ต.ท.ณัฐธร เพราะสุนทร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่กำกับดูแลงานด้านจราจรและงานตรวจคนเข้าเมือง ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัด ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อให้การบริหารจัดการพื้นที่ก่อสร้างในแต่ละจุดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดผลกระทบที่มีต่อพี่น้องประชาชน เดินหน้าสนองนโยบายของภาครัฐอย่างเต็มที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image