ทดลอง ‘ดื่มเลือด’ เพื่อวินิจฉัยโรค!

(ภาพ-frolicsomepl via Pixabay)

ทีมนักวิจัยภายใต้การนำของ นพ.สเตฟาน วาวริชกา ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาว่าด้วยระบบทางเดินอาหาร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เพื่อวิทยาว่าด้วยระบบทางเดินทางอาหารและเฮพาโทโลจี ในนครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จำเป็นต้องหาอาสาสมัคร 16 ราย ให้มาทดลองดื่มเลือดตัวเอง เพื่อทดลองวิธีการวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease หรือไอบีดี) ทดแทนวิธีการเดิม ซึ่งจำเป็นต้องใช้การสอดท่อติดกล้องเข้าไปตรวจสอบภายในช่องท้องของผู้ป่วยเท่านั้น

การทดลองซึ่งถูกสื่อมวลชนขนานนามว่าเป็น “แวมไพร์สตัดดี้” ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นสืบเนื่องจากข้อจำกัดในการวินิจฉัยกลุ่มโรคดังกล่าว ซึ่งมีอยู่หลายโรคด้วยกัน อาทิ โรคยูซี หรือโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ และโรคโครห์น ที่มีอาการคล้ายกันแต่เกิดได้ในทุกส่วนของระบบทางเดินอาหาร การวินิจฉัยแบบเดิม ซึ่งปกติแล้วมักใช้วิธีการตรวจสอบหาโปรตีน แคลโปรเทคติน ในอุจจาระของผู้ป่วยเป็นหลัก

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ โปรตีนแคลโปรเทคตินนั้นแม้ว่าจะเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการลำไส้อักเสบ แต่ก็ยังเกิดขึ้นได้จากอาการอื่นๆ ได้อีก เช่น อาการเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร และการจำแนกสาเหตุทั้งสองอย่างออกจากกันทำได้ยากมาก เพราะการมีแคลโปรเทคตินในระดับสูงนั้นไม่ได้เป็นสัญญาณแสดงถึงอาการทางเดินอาหารอักเสบเพียงอย่างเดียวแต่อย่างใด นอกจากนั้นอาการที่ผู้ป่วยแสดงออกมาก็ไม่สอดคล้องกับโรคเสมอไป อย่างเช่นผู้ป่วยอาจมีอาการท้องเสียรุนแรงต่อเนื่องได้ทั้งๆ ที่อาการอักเสบในลำไส้เบาบางลงหรือหายไปแล้ว

นอกจากนั้นการตรวจวัดโปรตีนจากอุจจาระก็ไม่ได้บ่งบอกถึงอาการของโรคไอบีดีอย่างเดียวเช่นเดียวกัน เพราะสาเหตุอาจมาจากอาการอื่นๆ ได้อีก เช่น อาการไขข้ออักเสบ หรืออาการติดเชื้อไวรัสได้อีกด้วย

Advertisement

นั่นทำให้การส่องกล้องเพื่อวินิจฉัย หรือแอนโดสโคปี เป็นทางที่ดีที่สุดในการวินิจฉัยโรคทางเดินอาหารอักเสบเรื้อรังอยู่ในเวลานี้

วิธีการใหม่ของ นพ.วาวริชกานั้นยังคงอาศัยการตรวจวัดระดับโปรตีนแคลโปรเทคตินอยู่เช่นเดิม โปรตีนดังกล่าวนี้มีอยู่ในเซลล์ภูมิคุ้มกันซึ่งเรียกว่า เซลล์นิวโทรฟิลส์ เมื่อเกิดอาการอักเสบขึ้นมา ร่างกายจะผลิตนิวโทรฟิลส์ ขึ้นมาจับอยู่บริเวณเมือกที่เคลือบผนังลำไส้อยู่เต็มไปหมด

นิวโทรฟิลส์เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งซึ่งทำให้ในเลือดของเราก็มีเซลล์ชนิดนี้รวมอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดอาการเลือดออกในช่องทางเดินอาหารตอนบน (หลอดอาหาร, ช่องท้อง และตอนบนของลำไส้เล็ก) ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคไอบีดี เช่นกัน ก็ทำให้ระดับโปรตีนแคลโปรเทคตินในตัวอย่างอุจจาระสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ความสับสนเช่นนี้จะเป็นปัญหามากเป็นพิเศษในกรณีที่เป็นอาการอักเสบเรื้อรัง ที่เป็นๆ หายๆ แล้วกลับมาเป็นซ้ำอีก

Advertisement

เนื่องจากที่ผ่านมา แพทย์ไม่รู้แน่ชัดว่าเลือดปริมาณเท่าใดกันแน่ที่ไหลมาถึงบริเวณลำไส้แล้วจะก่อให้เกิดระดับแคลโปรเทคตินสูงผิดปกติขึ้น เพื่อให้รู้แน่ชัด จึงหาอาสาสมัคร 16 คน แยกเป็นผู้หญิง 12 คน ผู้ชายอีก 4 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาแพทย์ในสถาบันการแพทย์ของ รพ.ทรีมลีในซูริก เพื่อให้ดื่มเลือดตัวเอง โดยแยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกดื่ม ครั้งละ 100 มิลลิลิตร (มล.) และอีกกลุ่มดื่ม 300 มล. หนึ่งเดือนต่อมาสลับปริมาณการดื่มกันระหว่างกลุ่ม

กลุ่มตัวอย่างต้องเก็บอุจจาระไว้เพื่อเป็นตัวอย่างอุจจาระในการตรวจระดับแคลโปรเทคติน ในแต่ละวัน 2 วันก่อนหน้าการดื่ม และเก็บตัวอย่างอีกทุกวันต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วันหลังจากดื่มแล้ว จากนั้นก็เก็บตัวอย่างอุจจาระอีกครั้ง 14 วันหลังจากการดื่มเลือด

ที่น่าสนใจคือกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้วิธีการดื่มเหมือนดื่มเครื่องดื่มปกติ มีเพียง 2-3 รายเท่านั้นที่ขอให้สอดท่อเพื่อป้อนเลือดเข้าสู่ช่องท้องโดยตรง ไม่ต้องดื่ม ราวครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมทดลองบอกว่าเกิดอาการมวนท้อง คลื่นเหียน และราว 1 ใน 3 ถึง 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่า เกิดอาการท้องร่วง หรือท้องผูกหลังดื่มเลือดตัวเองเข้าไป

ทุกคนตั้งข้อสังเกตว่าอุจจาระของตนเองมีสีคล้ำผิดปกติ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงปกติของการมีเลือดในระบบทางเดินอาหาร

ผลการตรวจวัดแคลโปรเทคตินในอุจจาระตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่าระดับของโปรตีนนี้เพิ่มขึ้นหลังจากดื่มเลือดเข้าไป โดยในกลุ่มผู้ที่ดื่ม 100 มล. มี 46% ที่ระดับแคลโปรเทคตินเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 50 ไมโครกรัมต่อ (อุจจาระ) 1 กรัม ส่วนกลุ่มที่ดื่ม 300 มล. 63% มีแคลโปรเทคตินสูงระดับหนึ่งเช่นกัน

แต่ไม่มีกลุ่มตัวอย่างรายใด พบแคลโปรเทคตินสูงเกิน 200 ไมโครกรัมต่อกรัม ซึ่งเป็นระดับที่แสดงให้เห็นถึงอาการเกิดการอักเสบซ้ำในระบบทางเดินอาหารนั่นเอง

ซึ่งทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่า ระดับของแคลโปรเทคตินในอุจจาระของผู้ป่วยนั้น เกิดจากอาการอักเสบเรื้อรังในระบบทางเดินอาหาร หรือไอบีดี หรือไม่นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image