เชื่อมสมอง 3 คน ให้สื่อสารถึงกันได้สำเร็จ

(ภาพ-geralt via Pixabay)

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันและมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ในสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อสมองของมนุษย์ 3 คนเข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายเดียวกันได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยทั้ง 3 คนสามารถส่งความคิดถึงกันได้อีกด้วย

ทีมวิจัยเดียวกันนี้เคยประสบความสำเร็จในการทดลองเชื่อมต่อสมองของมนุษย์ 2 คนเข้าด้วยกันให้สื่อสารซึ่งกันและกันได้โดยตรงมาแล้วเมื่อปี 2013

ราเจช ราว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานการวิจัยครั้งนี้เผยแพร่ ระบุว่า ในการทดลองในห้องปฏิบัติการครั้งใหม่นี้ ทีมวิจัยสามารถพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการสร้างเครือข่ายของสมองมนุษย์ 3 คนขึ้นเป็นระบบการสื่อสารด้วยความคิดระหว่างคน 3 คน เรียกว่า “เบรนเน็ทซิสเต็ม” ทำให้ผู้ทดลอง 3 คนสามารถใช้ความคิดในการเล่นเกมแบบเกม “เททริส” เกมเรียงบล็อกซ้อนกันโดยต้องไม่มีช่องว่าง ซึ่งเคยฮิตไปทั่วโลกเมื่อทศวรรษ 90 ร่วมกันได้สำเร็จ

“เบรนเน็ทซิสเต็ม” ยังคงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ภายนอกในการเชื่อมต่อความคิดซึ่งกันและกัน โดยอาศัยอุปกรณ์สำหรับบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือ “อิเล็กโตรเอ็นเซฟาโลแกรม” (อีอีจี) ในการบันทึกสัญญาณคลื่นไฟฟ้าที่เป็นความคิด และใช้อุปกรณ์ ทรานสเครเนียล แม็กเนติค สติมูเลชั่น หรือ ทีเอ็มเอส สำหรับการส่งคลื่นไฟฟ้าดังกล่าวไปยังสมองของอีกคน

Advertisement
(ภาพ-geralt via Pixabay)

ในการทดลองครั้งนี้จำกัดให้ผู้ทดลองเพียงรายเดียวทำหน้าที่เป็นทั้งผู้รับและผู้ส่ง โดยผู้ร่วมทดลองอีก 2 คน ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเพียงอย่างเดียว อาสาสมัครที่ทำหน้าที่ส่งทั้ง 2 ราย สามารถมองเห็นหน้าจอที่แสดงเกม “เททริส” ได้เต็มจอ ในขณะที่ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้รับและผู้ส่งอีกรายนั้นจะทำหน้าที่ควบคุมการเล่นเกม ตามความคิดของอีก 2 คนที่ส่งเข้ามาโดยมองไม่เห็นหน้าจอแบบเต็มจอ

ระหว่างการทดลอง ผู้ที่มองเห็นเกมเททริสเต็มจอจะทำหน้าที่ส่งคำสั่งให้ผู้รับความคิดจัดการควบคุมการหมุนของบล็อกในเกม โดยการมุ่งสมาธิไปที่ตัวบล็อก ซึ่งดัดแปลงใช้ไฟแอลอีดี ในการทดลองครั้งนี้เพื่อปรับเปลี่ยนสัญญาณสมองของตนเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้รับคำสั่งที่ทำหน้าที่ควบคุมเกมสามารถตัดสินใจได้ว่าควรบังคับให้บล็อกหมุนพลิกเปลี่ยนลักษณะหรือไม่ได้เท่านั้น ผู้รับสัญญาณคลื่นสมองในการทดลองยังสามารถรู้ได้ด้วยว่า ผู้ร่วมการทดลองที่ออกคำสั่ง หลอกให้ตนเองควบคุมเกมผิดพลาดหรือไม่ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม “เบรนเน็ทซิสเต็ม” ยังคงมีข้อจำกัดอยู่ เพราะนอกจากจะต้องใช้อุปกรณ์ภายนอกและคอมพิวเตอร์ช่วยในการเชื่อมต่อแล้ว ยังสามารถส่งข้อมูลความคิดในรูปของสัญญาณคลื่นไฟฟ้าเพียงส่วนเดียว ไม่ใช่ความคิดทั้งหมดในแต่ละครั้ง แต่ทีมวิจัยชี้ว่าเบรนเน็ทซิสเต็มสามารถขยายสเกลขึ้นให้ครอบคลุมจำนวนคนมากขึ้นกว่านี้มาก และสามารถพัฒนาให้ส่งความคิดที่ซับซ้อนกว่าในการทดลองครั้งนี้ได้มากขึ้นในอนาคต

Advertisement

ซึ่งอาจกลายเป็นรูปแบบใหม่ของการสื่อสารระหว่างบุคคลได้ เช่นเดียวกับที่สามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้ระบบการทำงานของสมองได้มากขึ้นนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image