“จิงโจ้ต้นไม้” ยังไม่สูญพันธุ์

เมื่อปี 1982 เอิร์นสต์ ไมเออร์ นักสำรวจและนักชีววิทยาวิวัฒนาการชาวเยอรมัน ที่ได้รับการยอมรับนับถือสูงที่สุดผู้หนึ่งของโลก พบ “จิงโจ้ต้นไม้” สายพันธุ์หนึ่งซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อนในบริเวณเทือกเขาสูงของเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งในขณะนี้คือจังหวัดปาปัวตะวันตก หรือเวสต์ปาปัว ของประเทศอินโดนีเซีย ไมเออร์ ยิงจิงโจ้ต้นไม้ตัวนั้นลงมา ถลกหนังแล้วจัดส่งหนังที่ได้ให้กับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

นั่นเป็นครั้งแรก ครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายที่การติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างนักวิชาการจากโลกตะวันตกกับ “วอนดิวัว” จิงโจ้ต้นไม้แห่งเวสต์ปาปัว

ส่งผลให้มันกลายเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดที่มนุษย์รู้จักกันน้อยมากที่สุด ในความเห็นของ มาร์ค เอลดริดจ์ นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญสัตว์ประเภทมาร์ซูเพียล หรือสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง จากพิพิธภัณฑ์ออสเตรเลียในนครซิดนีย์ และกลายเป็น 1 ใน 25 สัตว์ที่นักวิชาการด้านชีววิทยาทั่วโลกต้องการพบเห็นและศึกษามากที่สุดมาจนถึงขณะนี้

เมื่อเดือนกรกฎาคม ไมเคิล สมิธ นักชีววิทยาสมัครเล่นจากสหราชอาณาจักรเดินทางไปสำรวจป่าบนเทือกเขาวอนดิวัวของจังหวัดเวสต์ปาปัว (เป็นส่วนหนึ่งของเกาะนิวกินี แต่อยู่ในการปกครองของอินโดนีเซีย) เป้าหมายเพื่อค้นหาสัตว์ชนิดนี้ที่ไมเออร์ สำรวจพบเมื่อ 90 ปีก่อน และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จถ่ายภาพของจิงโจ้ต้นไม้ ที่ สมิธ เชื่อว่าเป็นสายพันธุ์วอนดิวัว ชนิดเดียวกับที่ ไมเออร์ พบจิงโจ้ต้นไม้ เป็นสัตว์ที่มีความใกล้ชิดทางสายพันธุ์กับจิงโจ้ และวอลลาบี ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้องสำหรับเลี้ยงลูกเหมือนกัน ลักษณะทางกายภาพของมันเหมือนเป็นส่วนผสมระหว่างหมีกับลิง แขนมีกล้ามเนื้อแข็งแรงและมีเล็บยาวสำหรับใช้เกาะเกี่ยวดึงตัวเองขึ้นสู่ต้นไม้สูง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย มีชนิดหรือสายพันธุ์และสายพันธุ์ย่อยทั้งหมดรวม 17 ชนิด ทั้งหมดพบเฉพาะในพื้นที่ป่าตอนเหนือของออสเตรเลีย และบนเกาะนิวกินีเท่านั้น ป่าบนเทือกเขาวอนดิวัวที่สมิธพบและถ่ายภาพเจ้าวอนดิวัวได้นั้นมีความสูงอยู่ที่ 1,500-1,700 เมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงที่เหมาะสมกับการเป็นที่อยู่อาศัยของจิงโจ้ต้นไม้สายพันธุ์หายากนี้พอดี

Advertisement

การค้นพบและถ่ายภาพ จิงโจ้ต้นไม้วอนดิวัว ที่เชื่อกันว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ถือเป็นข่าวดีสำหรับวงการวิทยาศาสตร์

ข่าวร้ายที่ตามมาพร้อมกันก็คือ สมิธเชื่อว่าเป็นไปได้ที่จิงโจ้ต้นไม้วอนดิวัว จะมีพื้นที่อาศัยเหลือเพียงแค่ 40-80 ตารางไมล์ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่เขาพบและถ่ายภาพได้เท่านั้น

วอนดิวัวที่ถูกพบใหม่อีกครั้ง อาจสูญพันธุ์จริงๆ ไปอีกครั้งก็ได้ในอีกไม่ช้าไม่นาน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image