เผยโฉมนักฟิสิกส์ ‘คนแรก-คนเดียว’ คว้าทั้ง “โนเบล” และ “อิกโนเบล”

แอนเดร เกอิม

รางวัลโนเบล หรือโนเบลไพรซ์นั้น รู้จักกันดีทั่วโลกว่าเป็นรางวัลที่ถือว่าทรงเกียรติและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะในทางด้านวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ อัลเฟรด โนเบล นักวิทยาศาสตร์สวีดิช ก่อตั้งรางวัลนี้ 5 สาขาแรกขึ้นในปี 1895 แจกรางวัลครั้งแรกกันในปี 1901

ส่วนรางวัล “อิกโนเบล” หรือ “อิกโนเบลไพรซ์” นั้นเกิดขึ้นทีหลัง เมื่อ 27 ปีที่แล้วนี่เอง ตอนแรกๆ เข้าใจกันว่าเกิดขึ้นมาเพื่อ “เสียดสีถากถาง” รางวัลโนเบลโดยเฉพาะ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ ผู้ก่อตั้งรางวัลนี้คือ “แอนนัลส์ ออฟ อิมพร็อบเพเบิล รีเสิร์ช” (Annals of Improbpable Research-AIR) นิตยสารแนววิทยาศาสตร์เริงรมย์ คือนำเสนอเรื่องขบขันในเชิงวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ

เป้าหมายของรางวัลก็เพื่อ “แสดงความชื่นชมและให้เกียรติแก่งานวิจัยที่ทำให้คุณหัวร่อ จากนั้นถึงทำให้คุณต้องคิด” เท่านั้นเอง

นับตั้งแต่มีการแจกรางวัลนี้ครั้งแรกในปี 1991 เรื่อยมา ยังไม่เคยมีนักวิทยาศาสตร์รายไหนได้รางวัลใดรางวัลหนึ่งแล้วไปคว้าอีกรางวัลหนึ่งตามมามาก่อน

Advertisement

ราวกับว่าวิทยาศาสตร์กับอารมณ์ขันนั้น ไปด้วยกันไม่ได้ ยังไงยังงั้น

ยกเว้น… เซอร์แอนเดร เกอิม นักวิทยาศาสตร์รายแรกและรายเดียว (จนถึงขณะนี้) เท่านั้นที่คว้ารางวัลอิกโนเบลได้แล้ว ยังสามารถคว้ารางวัลโนเบลไปครองได้อีกรางวัล

เซอร์แอนเดร คอนสแตนติน เกอิม เป็นนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษเชื้อสายดัตช์ที่เกิดในสหภาพโซเวียต ทำงานประจำอยู่ที่สำนักดาราศาสตร์และฟิสิกส์ ของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ คว้ารางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ (ร่วมกับเซอร์คอนสแตนติน เซอร์กีวิช โนโวเซลอฟ นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษเชื้อสายโซเวียต) เมื่อปี 2010 จากผลงานการค้นคว้าวิจัยซึ่งเป็นที่มาของวัสดุใหม่ที่รู้จักกันดีในเวลาต่อมาในชื่อ “กราฟีน” เซอร์แอนเดรเคยอธิบายถึงความ “พิเศษ” ของกราฟีนเอาไว้ดังนี้

Advertisement

“คือวัสดุที่สามารถทำให้บางที่สุดได้แล้วแต่จินตนาการของคุณ มีผิวหน้าแผ่ได้กว้างที่สุดเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนกับน้ำหนัก เพียงแค่กรัมเดียวก็สามารถแผ่คลุมสนามฟุตบอลได้ทั้งสนาม แถมยังเป็นวัสดุที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เคยมีตรวจวัดกันมา นี่ยังไม่หมดนะ แต่แค่นี้ก็ประทับใจแล้ว”

แล้วนักวิทยาศาสตร์ที่ปราดเปรื่องถึงขนาดคว้ารางวัลโนเบลอันทรงเกียรติได้ ไปทำอะไรไว้ถึงได้รางวัล “อิกโนเบล” ตามมา?

คำตอบก็คือ เขาทดลองเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้พลังสนามแม่เหล็ก ยกตัว “กบ” ให้ลอยขึ้นได้

กบในภาวะแม็กเนติค เลวิเทชั่น (ภาพ-Lijnis Nelemans – English Wikipedia)

เป็นการทดลองที่ในเวลานี้มีชื่อเสียงโด่งดังพอๆ กับงานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนากราฟีน และแม้แต่เจ้าตัวเอง ก็จำไม่ได้แล้วว่า ทำไมถึงต้องทดลอง รู้แต่ว่า ได้ลองเท (ทั้งน้ำทั้งกบ) ลงบนแท่นแม่เหล็กไฟฟ้า แทนที่น้ำจะราดลงบนแท่นแม่เหล็ก มันกลับกลายเป็นทรงกลมขนาดเล็ก เจ้ากบลอยอยู่บนนั้น

นั่นคือหลักการใช้สนามแม่เหล็กยกสิ่งของที่เรียกว่า “แม็กเนติค เลวิเทชั่น” ซึ่งนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “แม็กเลฟ” นั่นเอง

เกอิมบอกว่า จริงแล้วๆ ตลอดชีวิตการทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เขาปันเวลาราว 10% มาทดลองอะไรสนุกๆ ทำนองนี้ ซึ่งเกอิมเรียกว่าเป็น “งานทดลองคืนวันศุกร์” เปลี่ยนวัสดุไปเรื่อยเปื่อย เพื่อดูว่าอะไรเกิดขึ้นตามมา การใช้สนามแม่เหล็กยกกบก็คือหนึ่งใน “ฟรายเดย์ไนต์ เอ็กซ์เพอริเมนต์” ของเกอิม ซึ่งจะว่าไปแล้ว ไม่เพียงสนุก เรียกรอยยิ้มได้ แต่ยังมีประโยชน์ให้ “คิดต่อ” ได้

เกอิมยืนยันว่า งานวิจันกราฟีนที่ได้รางวัลโนเบล ซึ่งคือการแยกกราฟีนออกจากกราไฟท์ ก็เริ่มจากการทดลองคืนวันศุกร์นี่แหละ

อุปกรณ์คือ สก๊อตเทป กับ ดินสอแท่งหนึ่ง เท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image