ภาพราคา 14 ล้าน ฝีมือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’

(Photo Courtesy of Christie's via AP)

งานจิตรกรรมภาพบุคคลชื่อ “พอร์ตเทรท ออฟ เอ็ดมอนด์ เบลามี” สร้างประวัติศาสตร์เป็นงานศิลปะชิ้นแรกซึ่งรังสรรค์โดย “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” ที่ถูกนำออกมาประมูลขายสำเร็จโดยสำนักประมูลชั้นนำของโลก เมื่อสถานประมูลคริสตี นำภาพพิมพ์ดังกล่าวออกประมูลเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา แล้วขายได้ราคาสูงเกินคาดถึง 432,500 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาทประมาณ 14,270,556 บาท ทั้งๆ ที่ผู้ประมูลคาดหมายว่าน่าจะได้ราคาอยู่ที่ราว 7,000-10,000 ดอลลาร์ หรือราว 230,900-329,900 บาทเท่านั้นเอง ยังไม่มีการเปิดเผยตัวผู้ที่ประมูลภาพนี้ไปแต่อย่างใด

คริสตี ถึงกับประกาศผ่านเว็บไซต์ของตนเองว่า ผลการประมูลครั้งนี้ถือเป็นการมาถึงของยุคแห่งศิลปะเอไอในเวทีประมูลระดับโลกแล้ว

“พอร์เทรท ออฟ เอ็ดมอนด์ เบลามี” สร้างสรรค์ขึ้นโดย อัลกอริธึมคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ซึ่งเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นมาโดยสมาชิกของ กลุ่มทำงานศิลปะชื่อ “ออบเวียส” ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นภาพพอร์ตเทรทหรือภาพบุคคลของชายผู้หนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับบุคคลที่เคยปรากฏอยู่ในงานศิลปะในประวัติศาสตร์ ทางคริสตีเองตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากชายในภาพสวมเสื้อดำ มีปกสีขาว จึง “อาจเป็นไปได้ว่าเป็นบุคคลในโบสถ์ (คริสต์)”

สถานประมูลคริสตี ยังอธิบายถึงความต่างบางประการระหว่างงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยปัญญาประดิษฐ์กับงานศิลปะทั่วไปอื่นๆ ที่ทางสถานประมูลนำออกจำหน่าย โดยยกตัวอย่างว่า หลายส่วนบนใบหน้าของภาพไม่ได้มีความคมชัดเหมือนกับที่วาดโดยจิตรกร นอกจากนั้นยังมีบางส่วนของภาพที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ว่างๆ อีกด้วย

Advertisement

ริชาร์ด ลอยด์ ผู้จัดการการประมูลของคริสตี ระบุว่า งานศิลปะจากเอไอชิ้นนี้ โดยรวมแล้วก็ไม่ต่างจากภาพจิตรกรรมอีกเป็นจำนวนมากที่คริสตีนำออกประมูลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถึงแม้งานชิ้นนี้จะไม่ได้เป็นฝีมือของศิลปินคนสำคัญ แต่ก็เป็นงานศิลป์ชิ้นหนึ่งเหมือนกับงานทั้งหลายที่คริสตีจำหน่ายไปตลอด 250 ปี

เบื้องหลังงานศิลป์จากปัญญาประดิษฐ์ชิ้นนี้ คือสมาชิกของกลุ่ม ออบเวียส 3 คน ที่ร่วมมือกันดำเนินกระบวนการที่ลงเอยด้วยผลงานชิ้นนี้ โดยเริ่มต้นจากการนำเอาภาพพอร์ตเทรทที่อยู่ในคลังสะสม 15,000 ภาพ สแกนเพื่อป้อนให้กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ งานศิลป์ในคอลเล็กชั่นดังกล่าวนั้นเป็นงานฝีมือของจิตรกรจำนวนมากจากอดีตช่วงระหว่างศตวรรษที่ 14 ต่อเนื่องมาจนถึงศตวรรษที่ 20

ต่อจากนั้นทีมงานใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะเรียกว่า “เจเนอเรเตอร์” สร้างภาพพอร์ตเทรทขึ้นมาใหม่โดยอาศัยข้อมูลทั้งหมดที่ป้อนเข้าไปในระบบเป็นพื้นฐาน เมื่อแล้วเสร็จ ก็นำภาพที่ได้ไปผ่านโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาเฉพาะอีกตัวซึ่งเรียกว่า “ดิสคริมิเนเตอร์” ให้ทำหน้าที่หาความแตกต่างระหว่างภาพที่จิตรกรมนุษย์เขียนขึ้นกับภาพที่สร้างขึ้นโดย “เจเนอเรเตอร์”

Advertisement

ฮิวโก คาเซลเลส์-ดูเปร สมาชิกของกลุ่มออบเวียสระบุว่า เป้าหมายก็เพื่อให้ เจเนอเรเตอร์ สร้างผลงานที่ดีที่สุดขึ้นมาจนสามารถหลอก ดิสคริมิเนเตอร์ ได้ว่าผลงานดังกล่าวเป็นภาพเขียนฝีมือมนุษย์จริงๆ ผลที่ได้ก็คือ ภาพพอร์ตเทรท ที่เป็นผลงานชุดหนึ่ง และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ “พอร์ตเทรท ออฟ เอ็ดมอนด์ เบลามี” นี่เอง

คาเซลเลส์-ดูเปร ระบุว่าทีมออบเวียสเคยพยายามสร้างงานศิลปะจากงานศิลปะในประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่ภาพบุคคลมาแล้วชุดหนึ่งเช่นกัน ซึ่งมีทั้งภาพวัตถุในธรรมชาติ และภาพบุคคลเต็มตัว แต่ผลลัพธ์ไม่ดีเท่ากับภาพพอร์ตเทรทหรือภาพบุคคลที่นำออกประมูลในครั้งนี้

มุมด้านล่างของภาพ ปรากฏอักขระแสดงชื่อผู้รังสรรค์ผลงานชิ้นนี้ ไม่ใช่ตัวบุคคล หากแต่เป็นโค้ดส่วนหนึ่งของอัลกอริธึมเจเนอเรเตอร์นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image