ยาน ‘ปาร์คเกอร์’ ทำสถิติใหม่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์

ภาพจาก NASA

เมื่อเวลา 13.04 น.ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม “ปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ” ยานสำรวจดวงอาทิตย์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ทำสถิติใหม่เฉียดผ่านเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะประชิดที่สุดเท่าที่ยานสำรวจของมนุษย์เคยทำมา คือเข้าไปอยู่ในระยะเกินกว่าสถิติเดิมที่ยานเฮลิออส 2 ยานสำรวจที่สร้างขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับเยอรมนีเคยทำไว้ ที่ระยะห่าง 42.73 ล้าน กม. ในการเดินทางเฉียดดวงอาทิตย์เพื่อการสำรวจเมื่อเดือนเมษายนปี 1976

นอกจากนั้น ปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ ยังทำลายสถิติความเร็วของเฮลิออส 2 ที่เคยทำความเร็วในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ไว้ที่ 246,960 กม./ชม. เพราะในวันที่ 30 ตุลาคม ยานปาร์คเกอร์ก็สามารถทำความเร็วสูงกว่าระดับดังกล่าวไปแล้วแน่นอน และกำหนดที่จะทำลายสถิติอีกหลายสถิติในอนาคตอันใกล้

ยานปาร์คเกอร์ถูกส่งขึ้นจากแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา เดินทางถึงเป้าหมายในอีก 78 วันต่อมา โดยถูกกำหนดให้โฉบผ่านดวงอาทิตย์รวมทั้งสิ้น 24 รอบในระยะประชิดซึ่งจะขยับเข้าใกล้ไปเรื่อยๆ ในทุกๆ รอบที่ผ่านไป เมื่อถึงรอบสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในราวปี 2025 จะทำให้ปาร์คเกอร์เดินทางอยู่ในระยะห่างจากผิวพื้นดวงอาทิตย์เพียง 6.16 ล้าน กม.เท่านั้น และจะถูกแรงดึงดูดของดวงอาทิตย์เร่งความเร็วของยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของยานสำรวจอวกาศที่ 690,000 กม./ชม.

ปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ มีเกราะที่สร้างจากสารประกอบคาร์บอนชนิดพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนและการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ทำลายอุปกรณ์สำรวจทั้งหลายในตัวยานไปทั้งหมด

Advertisement

เป้าหมายในการสำรวจดวงอาทิตย์ ศูนย์กลางของระบบสุริยะครั้งนี้ก็เพื่อหาคำตอบว่า ทำไมบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า “โคโรนา” ถึงมีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิบริเวณพื้นผิวของดาวฤกษ์ดวงนี้มากนัก และหาคำตอบให้ได้ว่า อะไรกันแน่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งความเร็วของอนุภาคมีประจุในลมสุริยะจนมีความเร็วมหาศาลเช่นนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image