ว่าด้วยเรื่อง’มาตรฐานชุมชน’ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เฟซบุ๊ก

(AP Photo/Ben Margot, File)

แม้ในช่วงที่ผ่านมาเฟซบุ๊กจะเผชิญกับปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นจากกรณีเกิดเหตุข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กถูกนำไปใช้ในทางที่มิชอบ โดยไม่ได้รับอนุญาต หากแต่เฟซบุ๊กเองก็ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าตามพันธกิจที่ “เฟซบุ๊ก” ประกาศไว้คือ การช่วยเหลือผู้คนในการสร้างชุมชนและเชื่อมต่อผู้ใช้งานทั่วโลก และเฟซบุ๊กตระหนักดีว่าผู้คนจะเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ก็ต่อเมื่อผู้ใช้รู้สึกว่าใช้บริการแล้ว “ปลอดภัย”

และนั่นคือเหตุผลที่นโยบาย “มาตรฐานชุมชน” (Community Standards) มีความสำคัญในการช่วยให้เฟซบุ๊กสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ

โดยนโยบายมาตรฐานชุมชนของเฟซบุ๊ก คือกฎเกณฑ์ที่กำหนดว่าเนื้อหาใดสามารถและไม่สามารถแบ่งปันบนแพลตฟอร์มได้

นายไซมอน ฮารารี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านเนื้อหา ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของเฟซบุ๊ก กล่าวว่า นโยบายต่างๆ ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้ผู้ใช้งานรู้สึกเป็นอิสระและปลอดภัยในการแสดงตัวตน ซึ่งเฟซบุ๊กเองได้มีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยความระมัดระวังในระยะเวลาหลายปี โดยคำนึงถึงหลักสำคัญ 3 ประการ คือ 1.เรื่องความปลอดภัย ซึ่งหมายถึงนโยบายที่จะต้องปกป้องชุมชนของเฟซบุ๊กให้ปลอดภัยได้ 2.การแสดงความคิดเห็น นโยบายของเราจะต้องเปิดโอกาสการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระที่สุดให้กับผู้คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และ 3.ความเป็นมาตรฐานเดียวกัน คือจะต้องสามารถใช้นโยบายต่างๆ ของเฟซบุ๊กได้อย่างเท่าเทียมและสม่ำเสมอกับชุมชนที่มีอยู่ทั่วโลกของเฟซบุ๊กในทุกประเทศและทุกวัฒนธรรม

Advertisement

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กมีการตั้งทีมนโยบายด้านเนื้อหาเอาไว้ เพื่อรับผิดชอบต่อการพัฒนามาตรฐานชุมชน โดยมีสำนักงานอยู่ทั่วโลก ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบในแต่ละเรื่องคอยดูแลอยู่ อย่างเช่น เรื่องการก่อการร้าย การใช้คำพูดสร้างความเกลียดชังและความปลอดภัยของเด็ก ซึ่งจากเดิมที่เคยมีทีมงานอยู่ราว 10,000 คน ปัจจุบันมีทีมงานอยู่ทั้งหมด 20,000 คน และมีการปรับเพิ่มนโยบายใหม่ๆ อยู่ทุกๆ 2 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายเหล่านั้นจะเหมาะสมกับบริบททางวัฒนธรรม สังคม และภาษา รวมถึงวิธีการที่ชุมชนทั่วโลกกำลังใช้งานแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

นายฮารารีกล่าวว่า เฟซบุ๊กได้นำเทคโนโลยีรวมเข้ากับรายงานที่ได้จากชุมชนเพื่อการตรวจสอบเนื้อหาว่ามีการละเมิดใดๆ หรือไม่ ซึ่งรายงานเหล่านี้จะมีผู้ตรวจสอบเนื้อหาโดยผู้ตรวจสอบที่อยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง และ 7 วันต่อสัปดาห์ ตรวจสอบกว่า 50 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย บาฮาซาอินโดนีเซีย บาฮาซามลายู พม่า กวางตุ้ง จีนกลาง ตากาล็อกและเวียดนาม

โดยผู้ตรวจสอบเนื้อหาเหล่านี้จะได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มงวดและความช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ พร้อมการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต และเฟซบุ๊กยังมีผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมมาปฏิบัติการอยู่ในสำนักงานต่างๆ ที่พร้อมจะให้คำปรึกษาทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม ซึ่งในส่วนของเทคโนโลยี เฟซบุ๊กเองได้มีการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ อย่างเต็มกำลัง เพื่อนำมาช่วยตรวจจับเนื้อหาที่ฝ่าฝืนกฎได้ในแบบเชิงรุก ซึ่งจะมาช่วยเสริมการรายงานที่เฟซบุ๊กได้รับจากชุมชนของเฟซบุ๊กได้เป็นอย่างดี

นายฮารารีบอกว่า เฟซบุ๊กเองต้องการทำให้แน่ใจได้ว่าภาษา ภาพ และวิดีโอที่เป็นอันตรายจะต้องไม่ปรากฏอยู่บนเฟซบุ๊ก จึงต้องการที่จะให้รายละเอียดและความโปร่งใสที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ผู้คนเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นที่ซับซ้อน

นายฮารารีอธิบายไว้ว่า เหตุที่ต้องใช้คนช่วยในการตรวจสอบ เนื่องจากคำพูดบางคำในแต่ละชุมชนก็มีความต่างกันออกไป จึงจำเป็นต้องใช้คนในพื้นที่ตรวจสอบ และว่า เป็นคำพูดที่สร้างความเกลียดชังหรือไม่ และที่สำคัญคือการปกป้องคนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ และทุกศาสนา

สำหรับปีนี้ เฟซบุ๊กได้มีการเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรฐานชุมชนออกมาแล้วเป็นครั้งแรก ที่ได้อธิบายถึงประสิทธิภาพจากการทำงานในการค้นหาและลบข้อมูลที่ฝ่าฝืนกฎของเฟซบุ๊กเอาไว้ โดยรายงานดังกล่าวประกอบด้วยความแพร่หลายและข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาที่ถูกลบออกจากแพลตฟอร์มทั้งหมด 6 ประเภท ที่เป็นเนื้อหาที่ฝ่าฝืนกฎนโยบายของเฟซบุ๊ก ได้แก่ ภาพโป๊เปลือย ภาพความรุนแรง โฆษณาชวนเชื่อของผู้ก่อการร้าย การใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง บัญชีผู้ใช้ปลอม และสแปม รวมไปถึงสัดส่วนของเนื้อหาที่ฝ่าฝืนกฎเหล่านี้ที่เฟซบุ๊กค้นพบและจัดการก่อนที่ชุมชนจะรายงานมาที่เฟซบุ๊ก

สาระของรายงานคร่าวๆ คือเฟซบุ๊กได้ปิดบัญชีปลอมไปแล้ว 583 ล้านบัญชี ซึ่งจะปิดภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีหลังจากลงทะเบียน และมีการจัดการกับสแปมไปราว 837 สแปม มีการจัดการกับเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องลามกและกิจกรรมทางเพศไปราว 21 ล้านเนื้อหา มีการจัดการกับเนื้อหาที่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อของผู้ก่อการร้ายราว 1.9 ล้านเนื้อหา และได้กำจัดการใช้วาจาสร้างความเกลียดชังออกไป 25 ล้านเนื้อหา

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กมั่นใจได้ว่า เฟซบุ๊ก “ปลอดภัย” สำหรับผู้ใช้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image