พบหลุมอุกกาบาตมหึมา ใต้แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์

ในวงกลมสีแดงคือที่ตั้งหลุมอุกกาบาต ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะกรีนแลนด์ (ภาพ-Natural History Museum of Denmark)

ทีมสำรวจวิจัยทางธรณีวิทยาภายใต้การนำของ เคิร์ท เคียร์ ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาจาก พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งเดนมาร์ก ของมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ค้นพบร่องรอยของหลุมขนาดใหญ่ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนพื้นผิวโลกเมื่อราว 3 ล้านปีก่อน ซ่อนอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่บริเวณใกล้กับที่ธารน้ำแข็ง เฮียวาธา เคลื่อนลงสู่ทะเลทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะกรีนแลนด์ ดินแดนเหนือสุดของโลก ซึ่งเป็นดินแดนในปกครองของประเทศเดนมาร์ก

หลุมใหญ่ดังกล่าวมีแผ่นน้ำแข็งปกคลุมแต่ยังมีส่วนขอบทรงกลมบางส่วนปรากฏให้เห็นชัด ทีมวิจัยพบลักษณะทรงกลมผิดปกติดังกล่าวขณะตรวจสอบข้อมูลซึ่งเก็บรวบรวมไว้เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของแผ่นน้ำแข็ง ก่อนตัดสินใจใช้อุปกรณ์เรดาร์พลังสูงที่สามารถทะลุผ่านน้ำแข็งได้ติดตั้งบนเครื่องบินไปบินสำรวจเหนือพื้นที่ดังกล่าว ข้อมูลที่ได้รับยืนยันโครงสร้างของหลุมทรงกลม ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 31 กิโลเมตร ใหญ่พอที่จะยกกรุงปารีส เมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศสลงไปไว้ภายในได้ทั้งเมือง

ภาพแสดงการเคลื่อนฝ่าบรรยากาศก่อนพุ่งชนโลกและก่อให้เกิดหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่กรีนแลนด์ (ภาพ-Natural History Museum of Denmark, Cryospheric Sciences Laboratory, NASA Goddard Space Flight Center)

เมื่อพบข้อเท็จจริงดังกล่าวทีมวิจัยเดินทางด้วยเครื่องบินไปเก็บตัวอย่างจากจุดดังกล่าว เพื่อนำมาตรวจสอบหาร่องรอยทางเคมีในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อหาที่มาว่าอะไรก่อให้เกิดหลุมใหญ่โตเช่นนี้ได้ และแม้ว่าธารน้ำแข็งมหึมาจะเป็นอุปสรรคสำคัญ ป้องกันไม่ให้ทีมสำรวจเข้าถึงใจกลางหลุมนี้ แต่สามารถเก็บตัวอย่างตะกอนจากพื้นที่ได้ด้วยการหลอมละลายน้ำแข็ง

เอียน แม็คโดนัลด์ นักธรณีเคมี ประจำมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ในประเทศอังกฤษ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบตัวอย่างของตะกอนที่เก็บจากบริเวณหลุมดังกล่าวระบุว่า องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นเม็ดผลึกควอร์ทซ์ ซึ่งเป็นผลมาจากพลังกระแทกเข้าใส่และหินที่หลอมละลายเพราะความร้อน นอกจากนั้นเมื่อนำตัวอย่างที่ได้มาวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี ก็พบร่องรอยของโรเดียม (ธาตุโลหะสีขาวเงินที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับแพลทตินัม จัดเป็นธาตุหายาก) แพลทตินัม และแพลเลเดียม ธาตุโลหะหายากในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งไม่ค่อยพบกันมากนักภายในก้อนหินทั่วไปบนโลก

Advertisement

ทั้งหมดนั้นทำให้ทีมสำรวจวิจัยมั่นใจว่า หลุมดังกล่าวเป็นผลมาจากอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งเข้าชนพื้นผิวบริเวณดังกล่าว นอกจากนั้นในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติของ เคิร์ท เคียร์ เองมีก้อนอุกกาบาตเหล็กขนาดใหญ่จัดแสดงอยู่ ชิ้นอุกกาบาตดังกล่าวถูกพบก่อนหน้านี้ในจุดที่อยู่ห่างจากพื้นที่ซึ่งพบหลุมอุกกาบาตในครั้งนี้เพียง 300 กิโลเมตร ซึ่งทำให้ ศาสตราจารย์เคียร์และทีมวิจัยเชื่อว่า มันน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่หลงเหลือมาจากอุกกาบาตที่ก่อให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ดังกล่าว แต่เป็นส่วนหนึ่งที่แตกออกเมื่อปะทะกับชั้นบรรยากาศและตกห่างออกไปจากก้อนใหญ่ที่ก่อให้เกิดหลุมมหึมาที่พบใหม่นี้

อย่างไรก็ตาม เดวิด คริง ผู้เชี่ยวชาญหลุมอุกกาบาตจากสถาบันดวงจันทร์และดาวเคราะห์ ในนครฮุสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการ เจอร์นัล ไซนซ์ เอดวานเซส เมื่อ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ยังไม่ปักใจเชื่อเสียทีเดียวว่าหลุมดังกล่าวเป็นหลุมอุกกาบาตจริงๆ โดยชี้ว่า มีหลุมขนาดใหญ่อีกเป็นพันเป็นหมื่นบนพื้นโลกที่ไม่ได้เกิดจากการตกของอุกกาบาต และต้องการให้มีการวิเคราะห์โครงสร้างและคุณสมบัติของหินในหลุมดังกล่าวอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะลงความเห็น

สิ่งหนึ่งซึ่ง ดร.คริงชี้ให้เห็นไว้ก็คือ ในช่วงเวลาระหว่าง 3 ล้านปีก่อนเรื่อยมาจนถึงราว 12,000 ปีก่อน ไม่ได้เกิดสภาพแปรปรวนของภูมิอากาศโลกขึ้น ทั้งๆ ที่หากเกิดการพุ่งชนโลกของอุกกาบาตที่สร้างหลุมมหึมาขนาดนี้ขึ้นมาได้ ก็น่าจะสร้างผลกระทบต่อภูมิอากาศไปทั่วโลก

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ดร.คริงชี้ว่า หากการสำรวจวิจัยต่อเนื่องต่อไปยืนยันว่าหลุมดังกล่าวเป็นหลุมอุกกาบาตจริง การศึกษาวิจัยอย่างถี่ถ้วนก็จะช่วยให้ได้ข้อมูลความรู้ซึ่งในที่สุดก็สามารถนำมาใช้เพื่อป้องกันโลกจากอุกกาบาตได้ในอนาคต

เพราะอุกกาบาตที่เกิดจากดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่นั้น ถือว่าเป็นภัยพิบัติระดับที่สามารถทำลายอารยธรรมของมนุษย์ได้เลยหากไม่หาทางป้องกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image