‘ลาซาด้า’ มุ่งมั่นสนับสนุนเอสเอ็มอี เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจสู่ระบบดิจิทัล

ลาซาด้าประกาศคำมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ (eCommerce) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยตั้งเป้าส่งเสริมผู้ประกอบการจำนวน 8 ล้านราย ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใน 2030 เน้นสร้างระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซแบบยั่งยืนและครบวงจร รวมถึงสนับสนุนโครงสร้างด้านเทคโนโลยีและโลจิสติกส์เพื่อประโยชน์ต่อผู้ขาย ผู้บริโภค และชุมชนในท้องถิ่น พร้อมเตรียมขยายโครงการขับเคลื่อนร้านค้าออนไลน์เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการกลุ่มผู้หญิง-แม่บ้าน

นายเจมส์ ตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ลาซาด้ามุ่งมั่นในการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจสู่ระบบดิจิทัล ทั้งนี้ เพื่อความสามารถในการเข้าถึงผู้กลุ่มผู้บริโภคที่ใช้อินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้ค้าสามารถสร้างแบรนด์ของตนเองบนแพลตฟอร์มของลาซาด้าได้โดยง่าย และใช้ประโยชน์จากเครือข่ายโลจิสติกส์ (Logistics) ของลาซาด้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าและนำส่งสินค้าสู่ผู้บริโภค

“หลังจากที่ลาซาด้าได้ผ่านความท้าทายต่างๆ จนสามารถประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจช่วงยุคตั้งต้นของอีคอมเมิร์ซ ขณะนี้เราพร้อมที่จะนำระบบนิเวศทางธุรกิจอันแข็งแกร่งของลาซาด้าเข้าสู่ยุคแห่งการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ ลาซาด้ามีเป้าหมายหลักในการสร้างแพลตฟอร์มอันเป็นที่เชื่อถือได้ โดยเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงผู้ขายกับผู้บริโภคในภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน สำหรับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้เทคโนโลยีและโลจิสติกส์ของลาซาด้า เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นพร้อมธุรกิจอันยั่งยืน และช่วยผลักดันเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เติบโตในระยะยาว”

ในฐานะที่ลาซาด้านั้นเป็นแพลตฟอร์มของการช้อปปิ้งและจำหน่ายสินค้าออนไลน์ชั้นนำของภูมิภาค ลาซาด้าจึงมุ่งมั่นในการสร้างอีคอมเมิร์ซให้เป็นธุรกิจชั้นแนวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยลาซาด้าเชื่อว่าเอสเอ็มอีที่แข็งแกร่งนั้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับอีคอมเมิร์ซทั้งระบบ ทั้งนี้ เอสเอ็มอีเหล่านี้ยังช่วยเปิดศักยภาพและนำพาให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลด้วย นอกจากนี้ ลาซาด้า ยังให้การสนับสนุนให้ผู้ค้าในธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น โดยได้พัฒนาความคิดริเริ่ม รวมไปถึงเครื่องมือต่างๆ ที่เน้นการฝึกอบรวมและส่งเสริมให้ผู้ค้าสามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคและปิดการขายได้มากขึ้น

Advertisement

“ในปัจจุบันผู้ค้ายุคใหม่ไม่ได้มองอีคอมเมิร์ซเป็นเพียงแค่ส่วนเสริมของธุรกิจเท่านั้น แต่มองว่าอีคอมเมิร์ซคือสิ่งจำเป็นในการผลักดันความสำเร็จของธุรกิจ โดยผู้นำในด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างลาซาด้า สามารถเป็นคู่ค้าสำหรับผู้ประกอบการที่มุ่งมั่นในการสร้างธุรกิจให้เติบโตแบบมืออาชีพ ซึ่งการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้จะผลักดันระบบนิเวศทางธุรกิจทั้งระบบ”

นายตงกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในหลายๆ ประเทศยังคงเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เช่น การพัฒนาการรองรับการชำระเงินออนไลน์ หรืออี-เพย์เมนต์ (e-payment) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเข้าถึงบริการด้านการเงินและการสนับสนุนด้านอื่นๆ แต่สำหรับในประเทศไทย ลาซาด้าได้ก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดดังกล่าว โดยได้จับมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ นำร่องปล่อยสินเชื่อออนไลน์ (Digital Lending) ให้แก่ลูกค้าเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ขายบนลาซาด้าเป็นที่เรียบร้อย ด้วยการนำเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) ที่พัฒนาโดยบริษัท เอสซีบี อบาคัส มาใช้พิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจบน e-commerce เป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าให้สามารถขอสินเชื่อออนไลน์ได้ทันทีไม่ต้องขอเอกสารยุ่งยาก สร้างความคล่องตัวทางการเงิน และความสามารถในการขยายธุรกิจให้แก่กลุ่มผู้ค้าลาซาด้าประเทศไทย

นอกจากนี้ “โลจิสติกส์” ยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยข้อจำกัดในด้านผู้ให้บริการซึ่งดำเนินธุรกิจขนาดเล็กและไม่สามารถตอบโจทย์ในทั้งระบบ และยังมีความแตกต่างทางโครงสร้างด้านการคมนาคมขนส่งภายในภูมิภาคอีกด้วย ทั้งนี้ จากการวิจัยของอิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนท์ ยูนิต ประจำภูมิภาคเอเชีย หรืออีไอยู (Economist Intelligence Unit : EIU) พบว่าโลจิสติกส์นั้นถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นแบบหมู่เกาะ ดังเช่นอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยผลการวิจัยระบุว่าเครือข่ายถนน ไปจนถึงเครือข่ายค้าปลีกและการกระจายสินค้า เป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับบริษัทผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

Advertisement

“สำหรับภูมิภาคที่มีความแตกต่างและหลากหลายเช่นนี้ ข้อมูลและเทคโนโลยี นับเป็นสองปัจจัยหลักที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประสบการณ์ของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ โดยผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการใช้ข้อมูลเพื่อเข้าถึงรสนิยมของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่และสามารถสร้างความต้องการของผู้บริโภคขึ้นได้นั้น จะเป็นผู้ที่ผู้ที่อยู่บนเส้นทางแห่งความสำเร็จ ทั้งนี้ การใช้เครือข่ายโลจิสติกส์ของลาซาด้าจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจในด้านการเคลื่อนย้ายสินค้าในแต่ละประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถเข้าถึงและส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้ในทุกที่ โดยเทคโนโลยีของลาซาด้าที่ใช้ระบบสถิติและข้อมูลเชิงลึก สามารถจะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กเชื่อมต่อกับผู้ซื้อสินค้าผ่านเครือข่ายซึ่งไว้ใจได้ นับเป็นการสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของตลาดผู้บริโภคในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

มร.ตงกล่าวยังต่อไปว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซนั้นสามารถเปิดโอกาสให้กับชุมชนและผู้ที่มีความสามารถพิเศษในด้านต่างๆ มากมาย ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพราะสามารถเข้าถึงสื่อประเภทโซเชียลเน็ตเวิร์กและนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างกว้างขวาง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ดึงดูดให้กลุ่มผู้หญิงหันมาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยสามารถดูแลธุรกิจไปพร้อมๆ กับการดูแลครอบครัวที่บ้านได้ในเวลาเดียวกัน

“เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของผู้บริโภคกลุ่มที่เป็นผู้หญิง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันธุรกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน เราจึงมองเห็นถึงเหตุผลที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ๆ ให้การสนับสนุนบรรดาผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นสุภาพสตรี โดยเฉพาะในธุรกิจสินค้าอีคอมเมิร์ซประเภทเครื่องสำอางและสินค้าสำหรับเด็ก

ทั้งนี้ ผู้หญิงนั้นมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นอย่างมาก โดยระบบนิเวศทางอีคอมเมิร์ซที่สมบูรณ์แบบจะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจอันแข็งแกร่งสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง และเพื่อเป็นการสนับสนุนกลุ่มสตรีในภูมิภาค ลาซาด้าได้พัฒนาความคิดริเริ่ม อาทิ โครงการ “Mompreneurs” ซึ่งเป็นโปรแกรมฝึกอบรมที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ช่วยให้สุภาพสตรีที่เป็นแม่บ้านสามารถทำธุรกิจร้านค้าออนไลน์ได้ในขณะที่ยังคงดูแลครอบครัวไปด้วย โดยโปรแกรมนี้ได้ดำเนินการแล้วในประเทศฟิลิปปินส์ และคาดว่าจะขยายสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image