ยุโรป-อเมริกาอาจเผชิญ “ลิตเติล ไอซ์เอจ”!

ภาพ NASA

ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลสไวร์ ร่วมมือกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง สำรวจวิจัยรูปแบบการไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกทั้งในปัจจุบันและในอดีต พบแนวโน้มอันตรายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากพบว่ากระแสไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทรช้าลงเรื่อยๆ สืบเนื่องจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ความเค็มของน้ำทะเลลง ความหนาแน่นลดลง จนไม่สามารถนำพากระแสน้ำอุ่นไปช่วยคลายความหนาวเย็นให้กับซีกโลกตอนเหนือ ซึ่งอาจทำให้ภาคพื้นยุโรปและอเมริกาเหนือเผชิญกับปรากฏการณ์ “ลิตเติล ไอซ์เอจ” เหมือนในอดีตกาลได้

การไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรซึ่งศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า “เทอร์โมฮาไลน์ เซอร์กุเลชัน” นั้นเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพราะความแตกต่างระหว่างความหนาแน่นและอุณหภูมิของน้ำในพื้นที่เขตร้อนกับพื้นที่เขตหนาว น้ำในเขตหนาวบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก จะมีความเค็มจัดกว่าและมีอุณหภูมิต่ำกว่าทำให้มีความหนาแน่นมากกว่าและจมลงสู่ก้นมหาสมุทรและเคลื่อนที่ลงมาทางใต้ เพื่อไปทดแทนการเคลื่อนไหวของอีกกระแสน้ำในเวลาเดียวกันของน้ำที่มีความเค็มต่ำกว่าและอุณหภูมิสูงกว่าจากเขตร้อนลอยตัวขึ้นและเคลื่อนตัวขึ้นเหนือ ยิ่งขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ กระแสน้ำที่ไหลเวียนขึ้นไปนี้จะแลกเปลี่ยนอุณหภูมิกับน้ำในบริเวณใกล้เคียงทำให้อุณหภูมิบริเวณใกล้เคียงสูงขึ้นในขณะที่อุณหภูมิของตัวมันเองลดลง เมื่อเย็นลงถึงระดับหนึ่งก็จะเริ่มจมลง ไหลเวียนเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ

ผลสำคัญของการไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทร คือการนำพาความร้อนไปเฉลี่ยให้กับพื้นที่ต่างๆ ในละติจูดตอนเหนือ ทำให้ไม่เย็นจัดมากและยาวนาน

การขาดหายไปของการไหลเวียนของกระแสน้ำดังกล่าว จะส่งผลสำคัญในพื้นที่ทางตอนเหนือ อย่างเช่นตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรป จะเผชิญกับความหนาวเย็นมากกว่าปกติและยาวนานกว่าปกติอีกด้วย

Advertisement

ทีมวิจัยนานาชาติดังกล่าวระบุว่า จากการสำรวจศึกษาตะกอนและฟอสซิล ริมฝั่งทะเลแคนาดา เพื่อตรวจสอบหาสภาวะการไหลเวียนของกระแสน้ำของมหาสมุทรในอดีต เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับสภาวะในปัจจุบันนี้ พบว่าสถานการณ์ในปัจจุบันใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นและส่งผลสำคัญต่อโลกมาแล้วในอดีต ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “ไฮน์ริช อีเวนต์”

“ไฮน์ริช อีเวนต์” คือสภาวะที่เกิดการแตกหักและการละลายของกลาเซียร์ในบริเวณพื้นมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือสูงมากและเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ส่งผลให้น้ำทะเลในบริเวณนั้นเจือจางลงและไม่มีความหนาแน่นสูงเหมือนที่ผ่านมา จนทำให้การไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรสะดุดลง

ที่สำคัญก็คือ ทีมวิจัยชี้ว่า “ไฮน์ริช อีเวนต์” มีส่วนเชื่อมโยงกับยุคไอซ์เอจ 5 ครั้งจากจำนวนทั้งหมด 7 ครั้งในอดีตของโลก ย้อนกลับไปเมื่อราว 640,000 ปีที่ผ่านมา

ทีมวิจัยระบุว่า สถานการณ์ในขณะนี้แม้จะไม่หนักหน่วงจนก่อให้เกิด “ไอช์เอจ” หรือยุคน้ำแข็งใหม่ขึ้นมา แต่จากแบบจำลองเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบัน สถานการณ์คล้ายคลึงกับเเหตุการณ์เมื่อครั้งเกิด “ลิตเติล

ไอซ์เอจ” ขึ้น ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ.1300 เรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ.1850 เมื่อภาวะอากาศหนาวจัดครอบคลุมทั่วยุโรป เกิดภาวะทุพภิกขภัย, แห้งแล้ง, ผลผลิตเสียหาย และจำนวนประชากรลดลงขนานใหญ่เป็นวงกว้าง

สืบเนื่องจากเกิดการละลายของน้ำแข็งในพื้นที่ละติจูดตอนเหนือ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อการไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรชะลอช้าลง และเปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image